ชั้นเรียนเพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือให้แก่ประชาชนชนกลุ่มน้อย ที่ศูนย์วัฒนธรรมหมู่บ้านผักแจ่ ตำบลแหว่งโม อำเภอบิ่งเลียว จังหวัดกว๋างนิง |
การสอนหนังสือในเขตเขาประสบความยากลำบากมาก โดยเฉพาะการสอนหนังสือให้แก่ผู้สูงอายุถือว่ายากมาก โดยต้องคัดเลือกครูที่เป็นชาวท้องถิ่นที่มีความสามารถและทำการสอนหนังสือแบบอาศัยอยู่ร่วมกับชาวบ้าน ครู นงถิลาน ได้เผยว่า
“ดิฉันเป็นคนชนเผ่าไต จึงต้องพยายามเรียนภาษาชนเผ่าเย้าและชนเผ่าสานจี๋เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและจำบทเรียนได้ง่ายขึ้น”
ผู้เรียนที่เข้าร่วมชั้นเรียนเพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือในหมู่บ้านผักแจ่ ตำบลแหว่งโม อำเภอบิ่งเลียว จังหวัดกว๋างนิงมีอายุตั้งแต่ 28 – 60 ปี ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าเย้าและชนเผ่าสานจี๋ โดยในตอนแรกมีแค่ 10 คนเท่านั้นและค่อยๆเพิ่มขึ้นเพราะผู้เรียนต่างชื่นชอบและชวนกันมาเรียนอย่างกระตือรือร้น โดยหวังว่า จะสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว และภายหลังการเรียน 9 เดือน จะมีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่สอบผ่านตามข้อกำหนด แม้คุณ เยืองอาจิ๋วและคุณ เจิ่นถิเจ่า สองสามีภรรยาชนเผ่าสานจี๋ จะต้องดูแลลูก 3 คนและกำลังยุ่งกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตร แต่ก็พยายามไปเรียนหนังสือในตอนค่ำทุกวัน
“ก่อนเข้าร่วมชั้นเรียนหนังสือ ผม/ดิฉัน คิดเลขได้แค่หลักสิบ ร้อยและพันเท่านั้น คิดเลขหลักล้านไม่เป็น และเขียนชื่อตัวเองไม่เป็นด้วย”
“ลูก 3 คนต่างรู้หนังสือทั้งหมดแล้ว ดังนั้น พ่อแม่จึงตั้งใจเรียนหนังสือเพื่อสามารถอ่านออกเขียนได้ และช่วยให้เรารู้ว่า รถโดยสารคันไหนไปบิ่งเลียว ม้องก๋ายและเตียนเอียน”
การขจัดความไม่รู้หนังสือให้แก่ชนกลุ่มน้อยในอำเภอบิ่งเลียวถือเป็นหน้าที่สำคัญในระยะยาว |
อำเภอบิ่งเลียวมีอัตราประชาชนชนกลุ่มน้อยที่มีอายุ 15-60ปี ไม่รู้หนังสือมากที่สุดในจังหวัดกว๋างนิง โดยตั้งแต่ปี 2014 มาจนถึงปัจจุบัน ทางการท้องถิ่นได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาและการขจัดความไม่รู้หนังสือให้แก่ชาวบ้าน โดยได้เปิดชั้นเรียนเพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือให้แก่ชาวบ้าน 96 แห่ง มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่สอบผ่านกว่า 1,600 คน รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา 410 คน นาย หว่างหงอกหง่อ รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบิ่งเลียวได้เผยว่า
“ชาวบ้านที่เข้าร่วมชั้นเรียนส่วนใหญ่สามารถอ่านออกเขียนได้ บางคนอยากยกระดับความรู้และเรียนรู้เทคนิคการเพาะปลูกและปศุสัตว์ ซึ่งการเรียนภาษาเวียดนามก็ถือว่ายากแล้วแต่การเรียนวิชาอื่นๆยากยิ่งกว่า พวกเราได้ส่งเสริมบทบาทของทางการท้องถิ่นในการรณรงค์ให้ชาวบ้านไปเรียนหนังสือ แต่เพื่อสามารถประสบความสำเร็จ ชาวบ้านก็ต้องพยายามไปเรียนหนังสือในตอนค่ำด้วย”
ทั้งนี้ การขจัดความไม่รู้หนังสือให้แก่ชนกลุ่มน้อยในอำเภอบิ่งเลียวถือเป็นหน้าที่สำคัญในระยะยาวเพื่อช่วยให้ชาวบ้านปรับปรุงคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในเขตชายแดนและเขตเขาที่ยากจน.