เส้นทางเจื่องเซิน-เส้นทางโฮจิมินห์แห่งตำนานในสงครามกู้ชาติ |
ในสงครามกู้ชาติ เส้นทางเจื่องเซิน-โฮจิมินห์ เป็นเส้นทางสายหลักสำหรับการลำเลียงเสบียงกรังให้แก่สมรภูมิภาคใต้ โดยเป็นระบบทางคมนาคมที่สมบูรณ์ทั้งเพื่อการขนส่ง การติดต่อและการส่งเชื้อเพลิงยาวหลายพันกิโลเมตรจากจังหวัดเหงะอานถึงจังหวัดบิ่งเฟือก 60ปีได้ผ่านพ้นไปเส้นทางที่ใช้ชื่อวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ของชาติโฮจิมินห์นั้นก็ยังคงรักษาบทบาทเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญเพื่อสนับสนุนภารกิจการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศในปัจจุบัน
เมื่อเดือนมกราคมปี1959 การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่15สมัยที่2โดยประธานโฮจิมินห์เป็นประธานการประชุมที่จัดขึ้น ณ กรุงฮานอย ได้กำหนดว่าควบคู่กับการผลักดันการพัฒนากองทัพในภาคเหนือ การตัดสินใจเปิดเส้นทางขนส่งทางทหารยุทธศาสตร์จากภาคเหนือข้ามเทือกเขาเจื่องเซินเพื่อเอื้อให้แก่ภารกิจส่งเสบียงกรังให้แก่สมรภูมิภาคใต้ ซึ่งเป็นวันที่5พฤษภาคมปี1959 คณะปฏิบัติงานพิเศษของกองทัพ ได้รับหน้าที่เป็นหน่วยบุกเบิกเปิดทาง ขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ รับส่งเจ้าหน้าที่ ทหาร พร้อมทำหน้าที่ติตต่อสื่อสารจากแนวหลังภาคเหนือสู่แนวหน้าภาคใต้
ชื่อของหน่วยทหารพิเศษนี้คือ 559 ซึ่งได้ตั้งตามตัวเลขเดือนปีของการจัดตั้งคือเดือนพฤษภาคมปี1959 ส่วนวันแห่งการก่อตั้งนั้นคือวันที่19พฤษภาคมปี1959 วันคล้ายวันเกิดของประธานโฮจิมินห์และเป็นวันที่กรมการเมืองพรรคกับกองบัญชาการทหารส่วนกลางได้มีคำสั่งมอบหน้าที่ให้แก่หน่วยทหารพิเศษนี้ พลตรีเหงวียนบ๊าต่อง อดีตรองผู้บัญชาการทางการเมืองหน่วยทหาร12ซึ่งเดิมคือหน่วยทหาร559กล่าวว่า
"ถ้าหากบอกว่าเส้นทางเจื่องเซินคือเส้นทางแห่งตำนานก็ถือว่าเป็นความจริงเพราะเป็นเส้นทางที่สร้างด้วยแรงกายแรงใจ ด้วยหยาดเหงื่อ หยดเลือดและชีวิตของทหารกว่า2หมื่นนายที่สละชีพบนเส้นทางแห่งนี้ บวกกับการชี้นำของพรรคและกองทัพส่วนกลางซึ่งได้สร้างขวัญกำลังใจให้ทหารเจื่องเซินส่งเสริมจิตใจและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อขนส่งยุทโธปกรณ์และกองกำลังให้แก่แนวหน้า"
ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่0 ในอำเภอเมืองลาต อำเภอเตินกี่ จังหวัดเหงะอาน เส้นทางยุทธศาสตร์ขนส่งทางบกถูกเปิดเชื่อมไปถึงภาคใต้รวม1หมื่น7พันกิโลเมตรและมีการแบ่งเป็นเส้นหลักกับเส้นรองเพื่อเชื่อมท้องถิ่นต่างๆ ปี1960 เส้นทางเจื่องเซินและเส้นทางโฮจิมินห์ได้มาบรรจบกันที่อำเภอยาเหงีย จังหวัดดั๊กนง อันเป็นการเชื่อมต่อระบบคมนาคมยุทธศาสตร์ เจื่องเซิน-โฮจิมินห์ช่วงระหว่างเขตเตยเงวียนตอนใต้ถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของภาคใต้ นายดว่านวันกี่ รองหัวหน้าคณะกรรมการประชาสัมพันธ์และการศึกษาจังหวัดดั๊กนงกล่าวว่า
"เส้นทางเจื่องเซินแห่งตำนานนั้นมีความหมายทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งและมีสถานะที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ผลงานต่างๆที่ทหารและประชาชนได้สร้างไว้บนเส้นทางแห่งนี้ได้ช่วยหล่อหลอมความมุ่งมั่น ความกล้าหาญพร้อมภูมิปัญญาความสามารถของประชาชนทุกภาคส่วนรวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่ได้สละชีวิต สละวัยเยาว์เพื่อชัยชนะของสงครามกู้ชาติปลดปล่อยภาคใต้รวมประเทศเป็นเอกภาพ"
ในตลอด16ปีแห่งการก่อสร้างและพัฒนา เส้นทางเจื่องเซินได้ขนส่งสิ่งของกว่า1ล้านตัน รักษาความปลอดภัยให้แก่การเดินทัพของเจ้าหน้าที่ทหารกว่า2ล้านคนจากเหนือสู่ใต้ จากใต้ไปเหนือ มีส่วนร่วมสนับสนุนกองกำลังสำคัญให้แก่แนวหน้า นับตั้งแต่ปี1973 หลังการลงนามข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการยุติสงครามฟื้นฟูสันติภาพในเวียดนาม ทหารเจื่องเซินก็เริ่มกระบวนการก่อสร้างยกระดับถนนทางทิศตะวันออกของเทือกเขาเจื่องเซินจากเตินกี่จังหวัดเหงะอานถึงเจินแถ่งจังหวัดบิ่งเฟือก ให้เป็นทางหลวงเชื่อมเหนือใต้เพื่อรองรับความต้องการทั้งด้านทหารและเศรษฐกิจ พลตรีเหงวียนบ๊าต่อง กล่าวอีกว่า
"บทบาททางเศรษฐกิจของเส้นทางเจื่องเซิน-โฮจิมินห์ปัจจุบันคือช่วยพี่น้องประชาชนที่ตั้งหลักอาศัยในเทือกเขาเจื่องเซินมีความสะดวกในการสัญจร พัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เส้นทางนี้ยังมีความหมายทางเศรษฐกิจภาคกลาโหมในภารกิจการพัฒนาประเทศยุคปัจจุบัน"
ในประวัติศาสตร์ของประชาชาติเวียดนาม เส้นทางเจื่องเซิน-โฮจิมินห์ เสมือนเป็นเส้นทางแห่งการรวมประเทศเป็นเอกภาพ โดยการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งศิลปะด้านการทหารในช่วงสงครามเวียดนาม ปัจจุบันนี่คือเส้นทางคมนาคมที่มีบทบาททั้งด้านกลาโหมและเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยว การขนส่งและการพัฒนาเวียดนามให้เจริญเข้มแข็งในทุกด้าน.