( VOVworld )-พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผากิมลานตั้งอยู่ที่อำเภอยาเลิม กรุงฮานอยมีสิ่งของจัดแสดงแค่ ๓๐๐ ชิ้นเท่านั้นแต่สะท้อนประวัติการพัฒนาของอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบดินเผาของเวียดนามและใจรักของชาวบ้านในละแวกนี้ต่อนายนิซิมูระ มานาซากิ นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
|
ผู้มาชมและศึกษาค้นคว้า
|
ผู้คนต่างรู้จักหมู่บ้านผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโบราณบ๊าตจ่างที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำห่งหรือแม่น้ำแดงในกรุงฮานอยแต่มีน้อยคนนักที่รู้จักหมู่บ้านทำเครื่องเคลือบดินเผากีมลานที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านบ๊าตจ่างไม่มากนัก หมู่บ้านทำเครื่องเคลือบดินเผากิมลานเพิ่งได้รับการรู้จักแพร่หลายเมื่อชาวบ้านค้นพบเศษเครื่องเซรามิกโบราณหรือเครื่องเซรามิกโบราณที่ยังคงสภาพเดิมแม้กระทั่งกระปุกออมสินที่มีเหรียญกษาปณ์เต็มและเก็บไว้เพื่อศึกษากรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาของคนโบราณ อีกทั้งนักวิจัยวัฒนธรรมก็ให้ความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของหมู่บ้านทำเครื่องเคลือบดินเผาโบราณกิมลาน ต่อมาจากความร่วมมือศึกษาวิจัยของนักวิชาการชาวต่างประเทศในการวิจัยสิ่งของที่ขุดพบเป็นการยืนยันได้ว่า หมู่บ้านกิมลานเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องเคลือบดินเผาโบราณและจำหน่ายเครื่องเคลือบดินเผาที่ใช้ในครัวเรือนให้แก่ราชธานีทังลองหรือกรุงฮานอยในปัจจุบัน ท่านเหงวียนวันญูงช่างศิลป์อาวุโสของหมู่บ้านเล่าว่า “ บ้านผมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ สมัยก่อนไม่มีบ่อน้ำบาดาล ชาวบ้านต้องใช้น้ำในแม่น้ำเพื่อบริโภค เมื่อถึงฤดูน้ำขึ้นทุกๆปี น้ำจากแม่น้ำจะเอ่อล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้าน มีครั้งหนึ่ง เมื่อน้ำลดได้เกิดดินถล่มที่ฝั่งแม่น้ำและเราก็พบเห็นเศษเครื่องเซรามิกโบราณและเครื่องเซรามิกที่คงสภาพสมบูรณ์ผมได้เก็บพวกมันแล้วทำการศึกษาวิจัยจึงเข้าใจได้ว่า นี่คือเครื่องเซรามิกโบราณที่มีค่าหายาก ”
|
เหรียญกษาปณ์โบราณ
|
นักโบราณคดีได้ทำการขุดค้นมาหลายปีจนสามารถขุดพบสิ่งของวัตถุของศตวรรษที่ ๗ – ๑๗ ซึ่งน่าสนใจคือ เครื่องเคลือบดินเผาสมัยราชวงศ์เจิ่น โดยค้นพบเครื่องเคลือบดินเผาต้นฉบับที่ยังคงสภาพสมบูรณ์หรือบางอย่างสามารถบูรณะให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ทั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความคิดเกี่ยวกับการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาโบราณของหมู่บ้านกิมลาน และแล้วในที่สุดพิพิธภัณฑ์ฯโดยการดำเนินของกลุ่มผู้สูงอายุของหมู่บ้านที่มีชื่อว่า “ การค้นหาเพื่อกลับสู่รากเหง้า ”และดร.นิซิมูระ มานาซากิ นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นได้เปิดรับผู้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้
พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาโบราณกิมลานเปิดให้ผู้เข้าชมทุกๆวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยได้ก่อสร้างบนพื้นที่ ๒๐๐ ตารางเมตร หลังคาถูกดีไซน์ตามทรงเตาเผาน้ำเต้าและเตาเผาทรงแนวยืนซึ่งเป็นทรงเตาเผาของคนกิมลานสมัยโบราณ สิ่งของวัตถุ ๓๐๐ ชิ้นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ล้วนเป็นเครื่องเคลือบดินเผาและอุปกรณ์เครื่องมือที่สะท้อนประวัติความเป็นมาและการพัฒนาอาชีพทำเครื่องเคลือบดินเผาของเวียดนามที่เคยรุ่งเรืองระยะหนึ่ง โดยมีหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องเคลือบดินเผา แต่โดดเด่นคือเครื่องเคลือบดินเผาตั้งแต่ราชวงศ์หลีไปจนถึงราชวงศ์เลด้วยเคลือบสีต่างๆเช่น สีเขียวมรกต สีมุข สีน้ำตาลและลวดลายสีหม้อห้อม รวมทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับคนชั้นสูง สิ่งของวัตถุแต่ละชิ้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพทำเครื่องเคลือบดินเผาของหมู่บ้านกิมลานที่เคยพัฒนารุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาและอาชีพทำเครื่องเคลือบดินเผาราวศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔
|
เตาเผาเครื่องเคลือบดินเผาโบราณ
|
จากฝีมือของดร.นิซิมูระ มานาซากิ นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นที่เนรมิตให้วัตถุที่จัดแสดงมีชีวิตชีวาและสามารถถ่ายทอดเป็นเรื่องเป็นราวตลอดจนการบรรยายของชาวบ้านที่ได้ผ่านการฝึกอบรมนั้น ทำให้พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาโบราณกิมลานได้รับรางวัลบุ่ยซวนฟ้ายเพื่อใจรักฮานอยเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๐๑๓ที่ผ่านมาประเภทงานและแนวคิดที่มีลักษณะทางวิชาการและศิลปะ อีกทั้งสะท้อนความผูกพันกับชีวิตชาวบ้านและความรักฮานอย ทั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านกิมลานและเป็นโอกาสพัฒนาการท่องเที่ยวของหมู่บ้านด้วย นายเจิ่นดึ๊กจิ๊ รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลกิมลานเปิดเผยว่า “ พวกเราจะพัฒนาการท่องเที่ยวและหมู่บ้านศิลปาชีพ ซึ่งเป็นโอกาสให้ทุกคนได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ทางตำบลจะก่อสร้างสถานที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านในปัจจุบันและสถานที่สอนอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ ชาวบ้านรู้สึกภาคภูมิใจต่อพิพิธภัณฑ์ที่เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าในการพัฒนาวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสังคม ”
|
พิธีมอบรับรางวัลบุ่ยซวนฟ้ายเพื่อใจรักฮานอยให้แก่พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาโบราณกิมลาน
|
เวียดนามมีพิพิธภัณฑ์ระดับจังหวัดและทางวิชาการประมาณ ๑๒๐ แห่งแต่พิพิธภัณฑ์ระดับตำบลนั้นมีแห่งเดียวคือพิพิธภัณฑ์โบราณคดีเครื่องเคลือบดินเผากิมลาน ที่เก็บรักษาอาชีพพื้นเมืองโบราณและสิ่งของวัตถุที่มีค่าของบรรพบุรุษให้ลูกหลานสืบสานต่อไป ./.