ประเพณีการบูชาเทพแห่งเตาของชนเผ่าไต

Hoàng Hiền; Vĩnh Phong
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ชนเผ่าไตในเวียดนามก็เหมือนกับหลายๆชนเผ่าที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของเตาไฟในชีวิตโดยถือเป็นที่หุงหาอาหาร เก็บสำรองข้าวปลาอาหารและเป็นที่บูชาเทพแห่งเตาเพื่อปกป้องครอบครัวจากสัตว์ร้าย ขับไล่ภูติผีปีศาจและขอพรให้ครอบครัวอิ่มหนำผาสุก        ทั้งนี้ ทำให้เตาไฟมีความหมายอันศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมากสำหรับทุกครอบครัวของชนเผ่าไต.
ประเพณีการบูชาเทพแห่งเตาของชนเผ่าไต - ảnh 1

สำหรับพี่น้องชนเผ่าไตนั้นเตาไฟในครัวบ้านถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของเทพแห่งไฟ นาง หว่าง ถิ ญวน นักวิจัยด้านวัฒนธรรมในจังหวัดกาวบั่ง เผยว่า ชาวเผ่าไตเรียกเทพเจ้าแห่งไฟว่า "ป๋อเฝ่ย" (Pỏ Fầy หรือแปลว่าพ่อไฟ) ซึ่งจะนำความโชคดีและความสุขสวัสดีมาสู่ทุกคนในครอบครัว โดยตามประเพณีเตาไฟนั้นนิยมจัดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมในบ้านยกพื้นสูง ไฟคือหยิน ป๋อเฝ่ยคือหยาง ซึ่งจะสร้างความกลมกลืนและการเกิดใหม่ ในวันส่งท้ายปีเก่า บ้านทุกหลังจะมีท่อนไม้ขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นฟืนไม่ให้ไฟในเตาดับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปีเก่าและปีใหม่ "ในวันส่งท้ายปีเก่า เมื่อเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษกลับมาร่วมฉลองเทศกาล เต๊ต ในบ้านจะต้องมีแสงสว่างและความอบอุ่นเพราะช่วงวันตรุษเต๊ตมักจะอากาศหนาว ชาวไตจึงมีคำกล่าวว่า "อุ่นเหมือนไฟ ดีเหมือนเก่า" ที่หมายถึงความมั่งคั่งของปีเก่าจะต่อเนื่องไปถึงปีใหม่ ดำรงไว้ตลอดไป และการพัฒนาต้องมีไฟถึงจะมีชีวิต เมื่อถึงเวลาขึ้นปีใหม่ผู้สูงอายุในครอบครัวจะเป่าไฟต้มน้ำเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อนจุดธูปบนแท่นบูชาขอพรปีใหม่โดยมีคำอธิฐานคือเดือนมกราคมปีใหม่มาถึงแล้ว เทพเจ้าในครัวอยู่ที่ใดโปรดจุดไฟให้สว่างเพื่อไล่สิ่งอัปมงคลให้ห่างไกลและต้อนรับความโชคดีกลับบ้าน"

ประเพณีการบูชาเทพแห่งเตาของชนเผ่าไต - ảnh 2

ตามประเพณีดั้งเดิมของชุมชนเผ่าไต เมื่อสร้างบ้านเสร็จจะต้องทำครัวเป็นอันดับแรก โดยส่วนที่จัดเป็นเตาไฟจะต้องอยู่ต่ำกว่าพื้นประมาณ 5-7 ซม. และฉาบด้วยดินเหนียวที่สะอาดที่สุด รอบครัวต้องใช้ไม้เนื้อดี เจ้าของบ้านจะใช้หิน 3 ก้อนที่เก็บมาจากภูเขา หรือจะใช้ขาตั้ง 3 ขาเพื่อวางเป็นที่ประกอบอาหาร แม้ว่าสถาปัตยกรรมและการจัดวางสิ่งของในแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามาตรงกลางห้องครัว หลังจากทำครัวเสร็จ ชาวไตจะทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าแห่งไฟเข้าบ้าน ในห้องครัวมักจะมีแท่นบูชาของเทพแห่งไฟ ซึ่งจัดแบบเรียบง่ายด้วยโครงไม้ไผ่ยาว 50 ซม. กว้าง 20 ซม. แขวนไว้ที่ผนังห้องครัว กระถางธูปก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่เช่นกัน โดยผู้ใหญ่ในบ้านได้สั่งสอนให้ลูกหลานต้องจำประเพณีต่างๆให้ดีสำหรับการใช้ครัวและเตาไฟ เช่น ห้ามตัดฟืนในครัว รอบเตาไฟจะต้องมีที่สำหรับเดินไฟมาและเพื่อให้ทุกคนนั่งล้อมรอบเตา คุณ เลืองเทีมฟู้ ศิลปินยอดเยี่ยมของหมู่บ้าน จางหน่า ตำบลติ่งฮุก อำเภอบิ่งเลียว จังหวัดกว๋างนิงห์ เผยว่า "ตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ก็ได้สอนให้เราต้องจดจำเสมอว่า เวลานั่งข้างเตาไฟ ไม่ควรเอาเท้าเหยียบเข้าครัว หรือย้ายกระบอกไม้ไผ่ที่ปักธูป เพราะเป็นที่อยู่สิงสถิตของเทพแห่งไฟ เมื่อนำฟืนเข้าไปในครัว ต้องวางฟืนบนพื้นเบาๆและห้ามตัดฟืนในครัว ห้ามถ่มน้ำลายใส่บริเวณรอบๆเตาหรือนั่งหันหลังให้กองไฟ เพราะจะเป็นการดูหมิ่นเทพเจ้าแห่งครัว วางที่จับหม้อบนเตาในแนวตั้งส่วนถ้าวางแนวนอนจะใช้ในครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตเท่านั้น"

ทุกวันนี้ แม้ว่าชีวิตสังคมได้มีการเปลี่ยนเเปลงตามยุคสมัย แต่หมู่บ้านบนเขตเขาสูงหลายแห่งก็ยังคงรักษาครัวแบบเก่าและประเพณีบูชาเทพเจ้าแห่งไฟไว้อย่างสมบูรณ์โดยสำหรับชุมชนเผ่าไตไฟยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างพ่อกับลูก พี่กับน้อง สามีกับภรรยา ซึ่งความเชื่อและเรื่องราวเกี่ยวกับเตาไฟได้สร้างวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าศึกษาค้นคว้า และสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวเมื่อมีโอกาสเยี่ยมชนชุมชนเผ่าไตในท้องถิ่นต่างๆของเวียดนาม.

Feedback