การท่องเที่ยวที่ราบสูงเตยเงวียน – การปลุกตื่นอัตลักษณ์ชุมชน

H Xíu
Chia sẻ

(VOVWORLD) - การท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่างๆของเขตเตยเงวียนที่ราบสูงตอนกลางกำลังได้รับการกระตุ้นอย่างคึกคักด้วยการจัดกิจกรรมวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวที่หลากหลายตั้งแต่ระดับชุมชน โดยการท่องเที่ยวไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงผลักดันเพื่อ "ปลุกตื่น" ความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่น

การท่องเที่ยวที่ราบสูงเตยเงวียน – การปลุกตื่นอัตลักษณ์ชุมชน - ảnh 1ศิลปินยอดเยี่ยม A Biu แนะนำการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมือง. VOV

ทุกวันนี้ในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน การพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่หลายหมู่บ้านให้ความสนใจและทางการท้องถิ่นได้มีการนำแนวทางต่างๆ เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ฆ้องและมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆอย่างเป็นรูปธรรม คุณ เหงวียนถิแทงหลิก รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัด ยาลาย กล่าวว่า"จังหวัดยาลายมีนโยบายเฉพาะเพื่อสนับสนุนการพัฒนากระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาในเชิงลึกที่ผูกพันกับการส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในหมู่บ้านนั้น ๆ เป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ดีที่สุดและมีความเกี่ยวข้องกับการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด"

นอกจากจัดกิจกรรมสัมผัสวิถีชีวิตกับชุมชน การจัดงานวัฒธรรมต่างๆในขอบเขตจังหวัดและภูมิภาค เช่น สัปดาห์วัฒนธรรมการท่องเที่ยวยาลาย งานวันวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดกอนตุมครั้งที่1 งานเทศกาลกาแฟบวนมาถวด เป็นต้น ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสามจังหวัดดังกล่าวต่างเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ16 -22เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยควบคู่กับงานเทศกาลวัฒนธรรมต่างๆ ชาวบ้านยังลงทุนพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ศิลปินยอดเยี่ยม A Biu ที่หมู่บ้าน Klếch ตำบล Ngọc Bay จังหวัดกอนตุมเผยว่า "เพื่อประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของเตยเงวียน ครอบครัวผมได้พัฒนาบ้านให้เป็นจุดรองรับและบริการนักท่องเที่ยว เช่น ทุกคนร่วมกันแสดงศิลปะระบำรำฟ้อนและบรรเลงฆ้อง เราก็ฟื้นฟูชุดฆ้องโบราณเพราะตระหนักว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมมิใช่เป็นส่วนงานของทางการท้องถิ่นหากเป็นหน้าที่ของชาวบ้านทุกคน"

การท่องเที่ยวที่ราบสูงเตยเงวียน – การปลุกตื่นอัตลักษณ์ชุมชน - ảnh 2นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจร่วมกิจกรรมการทำเครื่องปั้นดินเผาของเผ่า Mnông
 VOV

คุณ แคทเธอรีน ซาลัวส์ นักท่องเที่ยวจากแคนาดา รู้สึกตื่นเต้นมากจากการได้สัมผัสกิจกรรมทำเครื่องปั้นดินเผาของชาว Mnông Rlăm ในตำบลยางตาว อำเภอลัก จังหวัดดั๊กลักในทัวร์ท่องเที่ยวเวียดนาม  เธอเล่าว่านี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้เห็นช่างฝีมือทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยมือที่ละเอียดพิถีพิถัน เธอยังสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทำและได้นำผลิตภัณฑ์นั้นกลับฝรั่งเศสด้วย"ฉันไม่เคยเห็นสิ่งนี้ ไม่เคยทำอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่ดีเพื่อเข้าถึงและเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนกับอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา ฉันเห็นผู้หญิงทำงานขยันมาก สำหรับเรา การทำแบบนี้มีเอกลักษณ์มาก แปลกใหม่มาก ดูเหมือนกับว่าพวกเขากำลังเต้นรำขณะที่เดินไปรอบๆเพื่อสร้างรูปทรงต่างๆ ถ้ามีดนตรีประกอบมันก็คงจะเหมือนกับการเต้นรำเลยทีเดียว"

อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานฝีมือที่เก่าแก่ของชุมชนเผ่าเมอนงและเอเด(Mnông - Êđê) ในจังหวัดดั๊กลัก แต่จนถึงปัจจุบันเหลือเพียงหมู่บ้าน Dơng Bắk ตำบล Yang Tao อำเภอ Lắk เท่านั้นที่ชาวบ้านยังประกอบอาชีพนี้ โดยจำนวนช่างฝีมือที่รู้งานเหลืออยู่กว่าสิบคน ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ก็มีไม่ถึงสิบคน แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีมานี้ จากการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเก็บประสบการณ์จากวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาก็เริ่มได้รับการฟื้นฟู ช่างฝีมืออาวุโส  H Phiết Uông ในหมู่บ้าน Dơng Bắk เผยว่า นับวันมีคนที่รู้จักอาชีพหัตถกรรมนี้มากขึ้นและในปีที่ผ่านมาหมู่บ้านของเขาได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายคณะที่มาศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมพื้นเมือง "นี่คือมรดกที่มากด้วยคุณค่าจากปู่ย่าตายายของเรา ในสมัยก่อนทำแต่ถ้วยชาม หม้อต้ม หม้อนึ่ง หรือโอ่งข้าวเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปทรงที่หลากหลายต่างๆเช่น รูปสัตว์อย่าง ช้าง หมู วัว ควาย  จากการพัฒนาการท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวมาขอซื้อเป็นที่ระลึกหรือไปใช้ เราจะผลิตสินค้าตามที่ต้องการ"

การปลุกตื่นอัตลักษณ์ชุมชนในเตยเงวียนไม่เพียงแต่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้นหากยังมีส่วนร่วมอนุรักษ์และเชิงชูคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของภูมิภาค สร้างพลังขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของท้องถิ่นในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม.  

Feedback