(VOVworld)- เต๊ตเงวียนด๊านหรือตรุษเต๊ตประเพณีเป็นเทศกาลแรกของปีใหม่ตามจันทรคติ ซึ่งมีความหมายสำคัญต่อชาวเวียดนาม โดยวันแรกของปีใหม่ประเพณีนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตจิตใจของชาวเวียดนาม เป็นการสะท้อนบรรยากาศแห่งการชุมนุมของครอบครัวและเป็นโอกาสให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น ซึ่งเห็นได้จากการปฏิบัติประเพณีต่างๆในการต้อนรับปีใหม่และการสักการะบูชาบรรพบุรุษ อย่างไรก็ตามแม้จะต่างฉลองตรุษเต๊ตตามจันทรคติแต่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นก็มีวิธีการต้อนรับปีใหม่ที่ไม่เหมือนกัน
เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน ดังนั้นสำหรับประชาชนเวียดนามตรุษเต๊ตไม่เพียงแต่เป็นงานเทศกาลใหญ่ที่สุดของปีเท่านั้นหากยังเป็นโอกาสเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษและเพื่อขอบคุณฟ้าดินที่ช่วยบันดาลให้ชาวบ้านการเก็บเกี่ยวได้ผลดี ในวันขึ้นปีใหม่ สมาชิกในครอบครัวจะชุมนุมกันพร้อมหน้าเพื่อสังสรรค์อวยพรกันให้ประสบแต่สิ่งที่ดีมีความเจริญก้าวหน้าในปีใหม่และรับประทานอาหารอย่างสนุกสนาน จากความหมายดังกล่าวชาวเวียดนามจึงให้ความสำคัญกับการจัดถาดอาหารเพื่อเซ่นไหว้โดยเฉพาะการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญและอาหารอย่างหนึ่งที่ขาดมิได้คือข้าวต้มมัด
อาหารวันตรุษเต๊ตในภาคเหนือ
|
อย่างไรก็ตามการจัดถาดอาหารวันตรุษเต๊ตในแต่ละท้องถิ่นจะไม่เหมือนกันโดยขึ้นอยู่กับประเพณีของชาวบ้านที่อาศัยในท้องถิ่นนั้นๆและสภาพอากาศช่วงตรุษเต๊ตด้วย สำหรับชาวภาคเหนือเนื่องจากสภาพอากาศในช่วงเต๊ตมักจะหนาว ดังนั้นนอกจากข้าวต้มมัดใหญ่แล้ว ในถาดอาหารนั้นจะต้องมีหย่อถูหรือหมูยอแก้วหูหนูและถิดโดงหรือวุ้นเนื้อหมูหรือก็มีคนไทยเรียกว่า หมูหนาว นอกจากนั้นก็มียำไก่ แกงผักรวมมิตรลูกชิ้นหมูเห็ดหอม ปอเปี๊ยะทอด แกงหน่อไม้แห้งขาหมู เป็นต้น นาง เหงวียนถิเตวียด แม่ครัวชื่อดังของฮานอยได้กล่าวว่า “ตามความเชื่อของคนเวียดนาม ปีใหม่ต้องทำอะไรให้ดูสดใสเพื่อนำโชคมาสู่ครอบครัวดังนั้นถาดอาหารก็ต้องได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามหลายสีสัน โดยเฉพาะต้องมีข้าวเหนียวฟักข้าว เพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ”
อาหารที่ชาวภาคใต้นิยมในวันตรุษเต๊ต
|
สำหรับชาวภาคใต้เนื่องจากมีอากาศร้อนตลอดปีดังนั้นอาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบทานเย็นๆได้และก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนภาคเหนือ เช่นผักดองรวมมิตร หมูยอ หมูยอทอด หมูสามชั้นลวก แกงหน่อไม้สด ปลาทอด สลัดผักเอ็นวัว แกงมะระใส้หมู หมูไข่พะโล้ เป็นต้น นอกจากนั้นรสชาดของอาหารของแต่ละภาคก็ไม่เหมือนกันโดยภาคใต้นิยมรสหวานมันส่วนภาคเหนือชอบเค็มและจืด โดยเฉพาะในภาคกลางจะมีอย่างหนึ่งที่ขาดมิได้คือขิงแช่อิ่มแห้งนายเหงวียนหิวนาม ชาวเว้ได้เผยว่า“ขิงแช่อิ่มแห้งเป็นของหวานอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อของเว้เพราะขิงของเว้มีกลิ่นหอมกว่าที่อื่น ซึ่งในวันตรุษเต๊ตเมื่อมีแขกมาเที่ยวบ้านก็เชิญดื่มน้ำชาและทานขิงแช่อิ่มแห้งก็จะได้บรรยากาศที่ดี เหมาะสำหรับอากาศเย็นๆของเว้”
วิธีทานข้าวต้มมัดของทั้งสองภาคก็ไม่เหมือนกัน โดยในภาคเหนือข้าวต้มมัดใหญ่จะทำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสทานแกล้มกับหัวหอมดองหรือผักดองรวมมิตร ส่วนทางใต้ข้าวต้มมัดจะมัดเป็นแท่งกลมๆทานแกล้มกับหัวไชเท้าเชื่อมน้ำปลา
สำหรับถาดผลไม้5อย่างบนหิ้งบูชาในวันตรุษเต๊ตของชาวภาคเหนือมักจะมีกล้วยดิบ ส้มโอ ส้มชิด พริกสีแดง ส้มเขียวหวาน ส่วนภาคใต้นิยม มะพร้าว มะละกอ มะม่วง มะเดื่อ น้อยโหน่ง ที่มีความหมายตามภาษาเวียดนาม “เก่าซูงตุกเหวื่อดูส่าย” หรือขอให้มีชีวิตที่อิ่มหนำพอกินพอใช้ ส่วนดอกไม้ที่ใช้ตกแต่งบ้านช่วงตรุษเต๊ต คนภาคกลางกับภาคใต้นิยมดอกไม้สีเหลืองเช่น ดอกเหมยและดอกดาวเรือง ในขณะที่คนภาคเหนือชอบสีแดงหรือชมพูของดอกท้อ
ปัจจุบัน แม้ชีวิตได้มีการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางที่ทันสมัยขึ้นแต่ครอบครัวต่างๆก็ยังคงพยายามอนุรักษ์เอกลักษณ์ประเพณีที่งดงามในวันงานสำคัญนี้และวันขึ้นปีใหม่ก็ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของทุกคน เป็นโอกาสแห่งการชุมนุมเพื่อต้อนรับปีใหม่ที่อบอุ่นและผาสุก.