พิธีเชิญธงอาเซียนเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 53 ปีวันก่อตั้งอาเซียน |
ในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบสูงและมีความกระตือรือร้น เวียดนามได้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อร่วมมือกับสมาชิกอื่นๆเสริมสร้างและยกระดับสถานะของอาเซียนให้สูงเด่นบนเวทีโลกและมีความมั่นใจในการฟันฝ่าความท้าทายต่างๆในยุคใหม่
จากจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งก่อตั้งองค์การอาเซียนที่มีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ ปัจจุบันอาเซียนได้พัฒนาเป็นประชาคมที่มีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศในภูมิภาค รวมประชากร 650 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกและจีดีพีคิดเป็นกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียนในปี 2019 อาเซียนได้ขยายความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนต่างๆ รวมทั้งประเทศมหาอำนาจของโลก กลไกความร่วมมือในภูมิภาคที่นำโดยอาเซียนได้รับการสนับสนุนจากหุ้นส่วนต่างๆเป็นอย่างมาก ในความเป็นจริง บทบาทการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้รับการยืนยันผ่านการที่อาเซียนผลักดันการจัดตั้งฟอรั่มภูมิภาคอาเซียนหรือเออาร์เอฟ การประชุมสุดยอดเอเชียหรืออีเอเอส การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอดีเอ็มเอ็มและการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขยายวงหรือเอดีเอ็มเอ็ม + และนับวันอาเซียนได้มีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ไขปัญหาของภูมิภาคมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ควบคู่กับผลสำเร็จที่ได้บรรลุ อาเซียนก็ต้องรับมือความท้าทายต่างๆ นาย กิมเฟีย ผู้อำนวยการสถาบันวิเทศสัมพันธ์กัมพูชาได้เผยว่า มี 4 ความท้าทายที่อาเซียนต้องเผชิญในปัจจุบันและอนาคต “หนึ่งคือปัญหาทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันและใน 10 ปีข้างหน้าเนื่องจากเกี่ยวข้องถึงหลายประเทศในภูมิภาคและประเทศจีน อาเซียนกำลังมุ่งสู่การจัดทำหลักปฏิบัติต่อกันของทุกฝ่ายในทะเลตะวันออกหรือซีโอซีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ สองคือปัญหาพรมแดน เช่นการปักปันและปักหลักพรมแดนระหว่างเวียดนามกับลาว ระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาและระหว่างกัมพูชากับลาว เป็นต้น ซึ่งยังไม่เสร็จเรียบร้อย ดังนั้นเราต้องพยายามทำให้เขตชายแดนในภูมิภาคของเรากลายเป็นเขตที่มีสันติภาพ ร่วมมือและมิตรภาพ สามคือต้องลดช่องว่างภายในอาเซียน ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเก่ากับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ระหว่างประเทศอาเซียนที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน สี่คือปัญหาทางทหาร เรายังไม่มีกองกำลังรักษาความมั่นคงร่วมกัน ดังนั้นถ้าหากเกิดปัญหาอะไรก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้”
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพการเมืองและเศรษฐกิจ ยุคดิจิทัล ลัทธิประชานิยม การคุ้มครอง โรคระบาด ภัยพิบัติ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างบรรดาประเทศมหาอำนาจได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาของอาเซียนเป็นอย่างมาก ในการกล่าวปราศรัยในพิธีรำลึกครบรอบ 53 ปีวันก่อตั้งอาเซียน นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหงียนซวนฟุ๊ก ได้ย้ำว่า ขอแค่มีความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจและความตั้งใจอย่างสูงของทุกประเทศอาเซียนก็จะช่วยให้อาเซียนสามารถธำรง ส่งเสริมคุณค่าและพลังความอยู่รอดที่ยั่งยืนดั่งที่คงอยู่ในตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้ “เราต้องให้ความสำคัญต่อหลักการขั้นพื้นฐานของอาเซียน กฎระเบียบของภูมิภาค โดยเฉพาะกฎหมายสากลบนเจตนารมณ์แห่งความร่วมมือพหุภาคีและการเชื่อมโยงในภูมิภาค ตลอดจนบทบาทการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เราควรเผยแพร่และขยายคุณค่าของอาเซียนในฐานะตลาดร่วม มีโรงงานผลิตร่วม สามารถโยกย้ายและหางานทำในกลุ่มได้อย่างสะดวก เป็นประชาคมที่ดูแลเอาใจใส่กัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้การช่วยเหลือกันเพื่อให้ประชาชนทุกคนและสถานประกอบการได้รับประโยชน์และเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาของอาเซียนอย่างเข้มแข็ง”
สำหรับประเทศเวียดนาม ปี 2020 ถือว่ามีความหมายพิเศษเนื่องจากได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และประจวบครบรอบ 25 ปีที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน หลังจากที่เข้าเป็นสมาชิก เวียดนามได้ผลักดันให้ลาว เมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่เหลือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม เวียดนามมีความกระตือรือร้น เป็นฝ่ายรุกและมีความรับผิดชอบในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของอาเซียน เช่น การจัดทำกฎบัตรอาเซียน ประชาคมอาเซียนและวิสัยทัศน์อาเซียน เป็นต้น เวียดนามเป็นสมาชิกที่เสนอความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการจัดตั้งฟอรั่มภูมิภาคหรือเออาร์เอฟ เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขยายวงหรือเอดีเอ็มเอ็ม + ครั้งแรกเมื่อปี 2010 และสนับสนุนสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียหรืออีเอเอสเพื่อยกระดับสถานะของฟอรั่มนี้บนเวทีโลก
ในฐานะประธานอาเซียน 2020 บนเจตนารมณ์ “ความเป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว” เวียดนามให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการผลักดันความสามัคคี ความเป็นเอกฉันท์และประสานงานในการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพภายในอาเซียน ขยายความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถในการพึ่งพาตนเองและความสามารถในการรับมือความท้าทายต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ การที่อาเซียนสามารถผ่านพ้นวิกฤตที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนเช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า อาเซียนเป็นกลุ่มที่มีความเป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว ไม่ย่อท้อต่อความท้าทายต่างๆ ดร. เจียง วันนาริต สมาชิกของคณะกรรมการบริหารสถาบันวิสัยทัศน์เอเชียของกัมพูชาประเมินว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 คือเป็นการทดสอบบทบาทการเป็นผู้นำของอาเซียนในการรับมือวิกฤตของภูมิภาค บรรดาประเทศหุ้นส่วนของอาเซียนคือ จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีมีทรัพยากรและประสบการณ์สูงในการรับมือวิกฤตต่างๆ ดังนั้น ต้องหาทางระดมการสนับสนุนจากประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้แก่กองทุนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ของอาเซียน อาจกล่าวได้ว่า ในฐานะประธานอาเซียน เวียดนามทำเรื่องนี้ได้ดีแล้ว โดยสามารถเชื่อมโยงอาเซียนกับสามประเทศหุ้นส่วนดังกล่าว”
ในประวัติศาสตร์แห่งการคงอยู่และพัฒนาในตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องเผชิญความลำบากแต่ละครั้ง อาเซียนได้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นนี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้อาเซียนส่งเสริมเกียรติประวัติดังกล่าวเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมที่มุ่งสู่ประชาชนและถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จได้ถ้าหากทุกประเทศอาเซียนต่างธำรงความคิดและปฏิบัติเพื่อประชาคม ซึ่งเวียดนามได้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่นๆปฏิบัติเป้าหมายอันสูงส่งนี้ให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว.