ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง

เรื่องโดย: ปิยะกษิดิ์เดช เปลือยศรี
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ในการตอบคำถามของminigameเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งถามเกี่ยวกับเมืองหลวงของเวียดนามและความคิดเห็นของผู้ตอบ เราก็ได้รับความเป็นจากคุณ ปิยะกษิดิ์เดช เปลือยศรี ซึ่งนอกจากตอบถูกแล้วเขายังบอกว่ามีความหลงไหลเวียดนามและชอบศึกษาเกี่ยวกับเวียดนาม พร้อมทั้งได้ส่งบทเขียนเกี่ยวกับเวียดนามมาฝากด้วย

ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง - ảnh 1

จุดเริ่มต้นความรักและความหลงใหลในประเทศเวียดนามของผมมาจากอาจารย์สอนภาษาเวียดนามท่านหนึ่งที่ชื่อ “โกซุง” ( “โก” หมายถึง อาจารย์ผู้หญิง ส่วนคำว่า “ซุง” คือชื่อภาษาเวียดนามของท่าน) ซึ่งเป็นคนแรกที่นำพาผมเข้าสู่โลกของการเรียนภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม “โกซุง” ถือเป็นผู้ปลุกความรักและความกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม กระทั่งทำให้ผมต้องหันมาสนใจศึกษาภาษาและวัฒนธรรมเวียดนามอย่างเอาจริงเอาจัง และเรียกได้นี่เป็นจุดเริ่มต้นของโชคชะตาซึ่งนำพาผมมารู้จักกับประเทศเวียดนามอย่างแท้จริงจนนำไปสู่การเดินทางเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนในเวียดนามหลายครั้งโดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งผมมีโอกาสไปเยือนเวียดนามอีกครั้ง โดยครั้งนี้ไปเยือนนครหลวงฮานอยอีกครั้ง ซึ่งถ้าจำตัวเลขไม่ผิดครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 13 ของผมดังนั้น กล่าวได้ว่าฮานอยคือหนึ่งในสถานที่ผมผูกพันและคุ้นเคยมากที่สุดแห่งหนึ่งอย่างไรก็ตามการเยือนฮานอยของผมในแต่ละครั้งผมจะไปในบทบาทที่แตกต่างกันออกไปตามวาระและโอกาสของชีวิต เพราะเมื่อเป็นนักศึกษาก็จะไปในฐานะผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาก็ไปในฐานะนักท่องเที่ยวหรือบางครั้งก็ไปในฐานะมัคคุเทศก์ให้กับเพื่อนๆแต่ครั้งล่าสุดนี้จะแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ เพราะผมไปในฐานะนักวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลด้านการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการท่องเที่ยวในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆในเมืองฮานอย

แม้บทบาทการไปเยือนเวียดนามแต่ละครั้งจะแตกต่างกันทว่าบทบาทของผู้กระหายใคร่รู้เกี่ยวกับสังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเวียดนาม โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างฮานอยยังคงพล่านในความรู้สึก เพราะในวันที่ผมและคณะว่างเว้นจากการเก็บข้อมูลวิจัย ผมและทีมวิจัยได้ไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆหลายแห่งของเมืองฮานอย เช่นวัดเสาเดียว สุสานลุงโฮ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนาม ทะเลสาบคืนดาบ และสะพานเทฮุก

การมาเวียดนามครั้งนี้ เรียกได้ว่าผมและทีมวิจัยมาพร้อมกับแรงปรารถนาให้การเก็บข้อมูลวิจัยดำเนินการไปด้วยราบรื่น ฉะนั้น สถานที่แรกที่ผมนำทีมวิจัยไปคือวัดเสาเดียว ซึ่งวัดแห่งนี้มีลักษณะแตกต่างไปจากวัดทั่วๆไป เนื่องจากเป็นเจดีย์หลังเล็กๆภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร ตั้งอยู่บนเสาเพียงต้นเดียวกลางสระบัว เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยพระเจ้าหลีถายโต่ พระองค์อยากได้โอรสมาก และรอคอยมาเป็นเวลานาน กระทั่งคืนวันหนึ่ง พระองค์ทรงสุบินเห็นพระโพธิสัตว์กวนอิมปรากฏกายที่สระบัว แล้วท่านประทานโอรสให้กับพระองค์ หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ก็ได้มีพระโอรส จากนั้นจึงทรงให้สร้างเจดีย์ขนาดเล็กบนเสาต้นเดียวไว้กลางสระบัวเพื่อถวายเจ้าแม่กวนอิม ในปี คศ. 1049 ดังนั้น เมื่อต้องการบุตร คนส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางมาที่วัดเสาเดียวแต่เนื่องจากผมและทีมวิจัยยังคงโสด     พรที่ขอจึงเกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นหลัก.

ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง - ảnh 2

หลังจากเสร็จธุระที่วัด ผมและทีมวิจัยเดินเท้าต่อไปยังสุสานลุงโฮซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเสาเดียวนัก      จากนั้นจึงตรงเข้าไปสอบถามเกี่ยวกับการเข้าไปชมด้านในของสุสาน แต่เป็นที่น่าเสียดายมากๆที่ได้รับคำตอบจากพี่ทหารที่แต่งเครื่องแบบสีขาวยืนอารักขาด้านหน้าสุสานบอกว่าช่วงบ่ายสุสานปิดนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ดังนั้นผมและทีมวิจัยจึงได้แค่ถ่ายรูปบริเวณด้านหน้าสุสานเพื่อเป็นเครื่องเตือนความจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาที่นี่

ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง - ảnh 3

หลังจากผิดหวังจากสุสานลุงโฮ ผมจึงตัดสินใจพาทีมวิจัยไปหาเครื่องดื่มเย็นๆทาน ซึ่งนึกขึ้นได้ว่าที่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนามมีร้านกาแฟและภายในพิพิธภัณฑ์ร่มรื่นน่าจะเป็นที่ดับร้อนได้ ผมจึงพาทุกคนไปที่นั่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนามถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผมไม่เคยพลาดเลยสักครั้งเมื่อไปฮานอยขณะเดียวกันก็ไม่พลาดที่จะแนะนำให้กับเพื่อนๆที่สนใจไปเที่ยวเวียดนาม เนื่องจากเป็นสถานที่ที่จัดแสดงได้สวยงามและเดินทางไปเที่ยวชมได้สะดวก เพราะถ้าเริ่มต้นจากทะเลสาบคืนดาบโดยรถเช่าหรือแท็กซี่ก็จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที แต่ถ้าโชคร้ายและพบกับสภาพปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมืองก็อาจจะใช้เวลาเดินทางถึง 30-40 นาทีการเที่ยวในเมืองฮานอย การวางแผนเดินทางจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะการสัญจรบนท้องถนนของคนที่นั่นส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลักดังนั้นบนถนนแทบทุกสายของเมือง สิ่งที่ท่านไม่อาจจะเลี่ยงได้คือการเผชิญหน้ากับรถจักรยานยนต์ที่ขับสวนกันเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็จะพบเห็นผู้ขับขี่ขับรถจักรยานยนต์พุ่งออกจากทุกสารทิศซึ่งมาพร้อมกับเสียงแตรที่ดังสนั่นไปทั่วเมืองซึ่งสำหรับคนที่นั่นเสมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่บทท้องถนนด้วยกันและคนเดินเท้าที่กำลังข้ามถนนว่า “ขอทางหน่อย รถฉันกำลังมา”

ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง - ảnh 4

ท่ามกลางความผิดหวังในวันนั้น ผมก็ได้พบกับความโชคดีอยู่บ้าง เพราะระหว่างทางไปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนามปัญหาการจราจรไม่ติดขัดมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาการทำงานของคนที่นั่น ดังนั้นผมและทีมวิจัยจึงใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น เมื่อถึงด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ผมและคณะได้ซื้อตั๋วเข้าชมราคา 40,000 ด่ง หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 60-70 บาท ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นล้วนเป็นการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งสิ้น 54 กลุ่ม ส่วนด้านนอกเป็นลานกว้างสำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและด้านหลังพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งปลูกสร้างถาวร ได้แก่เรือนโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ใน เป็นต้นซึ่งวันนั้นผมและทีมวิจัยใช้เวลาเที่ยวชมภายในพิพิธภัณฑ์นานถึง 3 ชั่วโมงเหตุผลเพราะอากาศวันนั้นจู่ๆก็มีมรสุมเข้าทำให้ฝนตกหนักและนานถึงสองชั่วโมง กระทั่งประมาณ 15.30 น. ฝนหยุดตกผมและทีมวิจัยจึงเดินเลาะไปด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ซึ่งพบกับกลุ่มเรือนโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่หลายหลังตั้งตระหง่านสวยงามมากๆ จึงถือโอกาสขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนของเรือน แล้วจึงนั่งรถต่อไปเที่ยวชมทะเลสาบคืนดาบยามเย็น

 ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง - ảnh 5

 เวลาประมาณ 16.30 น.ผมและทีมวิจัยถึงบริเวณทะเลสาบคืนดาบ ผมนำทีมเดินสำรวจบริเวณรอบๆทะเลสาบ พบว่าบรรยากาศในช่วงนั้นเต็มไปด้วยผู้คนทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวเวียดนามบ้างก็ยืนกระจุกตัวเป็นกลุ่มตามสะพานเทฮุก บ้างก็นั่งเล่นเกมส์เล่นกีฬาเป็นกลุ่มบนท้องถนนอย่างสนุกสนาน และบ้างก็นำสินค้ามาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ผมเพิ่งได้สัมผัสเป็นครั้งแรกสำหรับการเยือนฮานอย เพราะเดิมทีบริเวณรอบทะเลสาบผมจะคุ้นกับผู้คนสัญจรด้วยรถจักรยานยนต์อย่างแน่นขนัด ถึงขั้นการเดินทางข้ามถนนบริเวณนั้นเป็นเรื่องยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่มาคราวนี้ กลับพบว่าพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นถนนแห่งวิถีชีวิตผู้คนในฮานอยได้อย่างน่าประหลาดใจ

ฮานอยที่ (ยัง) คิดถึง - ảnh 6

ฮานอยในวันนี้แม้จะมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างก้าวกระโดด แต่ทว่าวิถีชีวิต สถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือน รวมทั้งอาหารการกินของผู้คนที่นั่นยังคงดำรงอยู่ให้เห็นเป็นปกติ เพราะทุกซอกทุกซอยในตัวเมืองยังคงซ่อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ให้ได้เรียนรู้อยู่อย่างไม่มีวันหมดสิ้น ดังนั้นเสน่ห์ของเมืองฮานอยสำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องราวของความสามารถในการปรับตัวและขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและเจริญก้าวหน้า แต่เป็นเพราะว่าความสามารถในการดำรงความเป็นดั้งเดิมของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในสังคมเมืองต่างหาก ดังนั้น ไม่ว่าจะผ่านไปนานเพียงใด ฮานอยยังเป็นเมืองที่ผมคิดถึงอยู่เสมอครับ.

http://aseanwatch.org/2018/10/08/asean-touch-%E0%B8%AE%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87/

Feedback

Lethuy
เป็นบทความที่น่าสนใจมากคะ