ลูกค้าส่วนใหญ่จองที่พักและซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านแอพฯบนโทรศัพท์มือถือ |
เพื่อส่งเสริมความได้เปรียบและทักษะความสามารถในการแข่งขันของหน่วยงานการท่องเที่ยวเวียดนามในระยะปัจจุบัน หนึ่งใน 4 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การพัฒนาการท่องเที่ยวอัจฉริยะและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ นาย เลหุ่งแอง ผู้ก่อตั้ง Travelner ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่จัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอัจฉริยะได้เผยว่า ในช่วงนี้ นักท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนแนวโน้มและวิธีการค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความท้าทายและโอกาสเพื่อให้สถานประกอบการเป็นฝ่ายรุกในการเปลี่ยนแปลงใหม่และปรับตัวอย่างมั่นคงในเวลาที่จะถึง นาย เลหุ่งแอง ได้เผยว่า
“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงนี้มีความหมายมาก ปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่จองที่พักและซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านแอพฯบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นโอกาสที่หายาก”
จากการเป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในยุคชีวิตวิถีใหม่เป็นการนำร่อง จังหวัดกว๋างนาม ได้ถือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ทางการเมืองเก่าฮอยอัน จังหวัดกว๋างนาม ได้ผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ติดตั้งระบบ Wi-Fi ฟรี ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนปี 2022 เมืองเก่าฮอยอันได้เริ่มทำการขายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์สำหรับนักท่องเที่ยว นาง เจืองถิเกิ่มญุงและนักท่องเที่ยวต่างๆจากนครโฮจิมินห์ที่มาเยือนเมืองเก่าฮอยอันในครั้งนี้ รู้สึกพอใจต่อการใช้แอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวต่างๆ
“แอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวต่างๆของเมืองเก่าฮอยอันใช้งานง่ายและรวดเร็ว คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วและสามารถแนะนำให้แก่เพื่อนๆอย่างถูกต้องมากขึ้น”
นับตั้งแต่ที่เมืองเก่าฮอยอันและโบราณสถานทางวัฒนธรรมหมีเซินได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมของโลกจากองค์การวิทยาศาสตร์ การศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก ทางการและประชาชนจังหวัดกว๋างนามได้พยายามพัฒนาหน่วยงานการท่องเที่ยวทั้งในด้านขอบเขตและคุณภาพ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ในระยะแห่งการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ความท้าทายต่อทางการและชมรมสถานประกอบการคือการเกาะติดแนวโน้มเทคโนโลยี 4.0 และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว
|
จังหวัดกว๋างนามได้วางแผนการปฏิบัติโครงการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในด้านการท่องเที่ยวจนถึงปี 2025 โดยได้รับการปฏิบัติใน 2 ระยะ คือในช่วงปี 2021 -2023 ต้องแปลงข้อมูลเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ การบริการการท่องเที่ยว ที่พัก บริษัทนำเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดให้เป็นดิจิทัล ส่วนในช่วงปี 2023-2025 ต้องยกระดับระบบแอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวอัจฉริยะของหน่วยงานการท่องเที่ยวจังหวัดกว๋ามนามให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ อัพเดทและเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใหม่ จัดทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวเสมือนจริงบนแผนที่ดิจิทัลและเทคโนโลยี VR360 สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวและโบราณสถานที่ภาครัฐดูแล เป็นต้น
ภายหลังกว่า 2 ปีที่ชะงักงัน หน่วยงานการท่องเที่ยวเวียดนามกำลังย่างเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟู ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ มีส่วนช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม จากการเป็นฝ่ายรุกและมีความคิดสร้างสรรค์ หน่วยงานการท่องเที่ยวกำลังพยายามต้อนรับนักท่องเที่ยวในปี 2022 และปีต่อๆไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเป็นกุญแจเพื่อให้หน่วยงานการท่องเที่ยวฟื้นฟู ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฝามมิงชิ้งได้ยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าวในพิธีเปิดปีการท่องเที่ยวแห่งชาติ 2022 ซึ่งหน่วยงานการท่องเที่ยวเวียดนามต้องส่งเสริมคุณค่าที่ยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์เกี่ยวกับ “เวียดนาม-จุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย เป็นมิตรและน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
“ ต้องมีแนวคิดและวิธีการปฏิบัติใหม่เพื่อแปรความเสี่ยงให้เป็นโอกาส ในสภาวการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 กิจกรรมการท่องเที่ยวต้องถูกจัดขึ้นอย่างปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นแนวโน้มหลักในปัจจุบัน ในเวลาที่จะถึง keyword ของหน่วยงานการท่องเที่ยวเวียดนามคือความร่วมมือ การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมโยงที่เป็นมิตร”
คาดว่า ปัจจุบัน จังหวัดกว๋างนามมีสถานประกอบการการท่องเที่ยวเกือบร้อยละ 90ที่กลับมาให้บริการนักท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่คือในด้านที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จากการที่มีกิจกรรมการกระตุ้นการท่องเที่ยว หน่วยงานการท่องเที่ยวจังหวัดกว๋างนามมีสัญญาณที่น่ายินดีเกี่ยวกับการฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนและพักที่จังหวัดกว๋างนามอยู่ที่กว่า 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.8 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากความได้เปรียบด้านการท่องเที่ยวและการตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล จังหวัดกว๋างนามได้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ถือการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเป็นกุญแจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม กลายเป็นท้องถิ่นที่เดินหน้าในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในปี 2030 .