นาย นิเวศ แววสมณะกับการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทย

Minh Ly
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ในตลอด 20ปีที่ผ่านมา นาย นิเวศ แววสมณะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะเป็นผู้ทำหุ่น แสดงการเชิดหุ่นและเป็นผู้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์และโรงหุ่นกระบอก บ้านตุ๊กกะตุ่น ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงหุ่นกระบอก แห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับหุ่นกระบอก ทุกปี นาย นิเวศ แววสมณะยังจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำหุ่นและเชิดหุ่นให้แก่ประชาชนทุกคน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และทำให้หุ่นกระบอกเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งภายในและนอกประเทศ ในรายการสารคดีของเราวันนี้ ขอเชิญคุณผู้ฟังพบปะกับช่างทำหุ่นคนนี้ในโอกาสมาแสดงหุ่นกระบอกในกรุงฮานอยนะคะ
นาย นิเวศ แววสมณะกับการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทย - ảnh 1นายนิเวศ แววสมณะกำลังแนะนำเกี่ยวกับหุ่นกระบอกให้แก่เด็กๆ 

“ผมเริ่มทำหุ่นตอนอายุเกือบๆ 30ปี ทำไมเรียกว่า หุ่นกระบอกเพราะว่า ลำตัวมันทำจากกระบอกไม่ใผ่ เกิดในรัชกาลที่๕ มาซัก เกือบ๑๔๐ปีแล้ว การประดิษฐ์หุ่น มันต้องใช้ศิลปะหลักๆหลายแขนง การปั้น การแกะ การปักผ้า การเขียนกิตติกรรม เยอะแยะเลย เราเอาวัตถุดิบจากเมืองไทย เช่น ทองคำ ผ้าไหมไทย มีแค่บางอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ดิ้นทองจากญี่ปุ่นและอินเดีย คริสตัล swarovski จากสวิสเซอร์แลนด์”

นายนิเวศ แววสมณะมีรูปร่างสันทัด ใส่กางเกงขายาวสีกากีและเสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินเข้มที่มีลายแนวนอนสีขาว ผมสั้นสีเทาควันบุหรี่ และมีลักยิ้มที่แก้มทั้งสองข้าง ซึ่งทำให้ดูหนุ่มขึ้น นายนิเวศ แววสมณะกล่าวว่า เขาชอบและมีความผูกพันกับงานศิลปะไทยตั้งแต่เด็กเพราะคุณยายพาไปดูโขน ลิเกและหนังตะลุง โดยเฉพาะเขาชอบวาดรูปที่มีลายไทย เช่น ภาพตัวละครหนุมานและทศกัณฐ์ ในรามเกียรติ์ แต่หลังจากจบจากคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรและทำงานในแวดวงโฆษณา นายนิเวศ แววสมณะ ถึงเริ่มทำหุ่นกระบอก

“ผมเรียนจากหนังสือ พยายามเปิดหนังสือหัดทำด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่สอนกัน พอทำได้แล้ว วันแรก ไม่คิดที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำเพื่อการขาย พอทำไปสักระยะก็รู้สึกชื่นชอบแต่ว่าเรารู้สึกว่า มันก็ไม่มีความสุข เพราะเรากลัวว่า ใครจะมาแย่งอาชีพกับเรา จนวันหนึ่งเราได้เจอศิลปินแห่งชาติด้านหุ่นกระบอกไทย คือท่าน ชูศรีหรือชื้น สกุลแก้ว คุณยายชื้น ก็สอนเราการหัดเชิด ซึ่งผมเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของคุณยายที่สอนเรา แล้วก็เริ่มหัดเชิด พอเชิดเป็นแล้ว เราก็อยากส่งต่อองค์ความรู้ให้กับประชาชน”

นาย นิเวศ แววสมณะกับการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทย - ảnh 2การอบรมเกี่ยวกับหุ่นกระบอกที่โรงหุ่นกระบอกบ้านตุ๊กกะตุ่น 

ในตลอด 10ปีที่ผ่านมา แต่ละปี นาย นิเวศ แววสมณะ ได้จัดการอมรมเกี่ยวกับการทำหุ่นและเชิดหุ่นกระบอกให้แก่ประชาชนทุกคน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ารับการอบรม 100คน นอกจากนี้ เขาพร้อมลูกศิษย์ยังไปแสดงตามโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งในเขตชนบท คุณ จิราวรรณ แววสมณและคุณ ณัฐชา มะโนรัตน์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของนาย นิเวศ แววสมณะและเป็นสมาชิกคณะเชิดหุ่นของโรงหุ่นกระบอก บ้านตุ๊กกะตุ่นได้เผยว่า

“ตอนแรกก็คือมาช่วยทางด้านของอาจารย์นิเวศ ก็คือเป็นน้องก็เลยมาช่วยกัน อาจารย์นิเวศก็เลยมาฝึกให้ ไม่ว่าจะเป็นปักผ้า เชิดหุ่น หล่อหัวในการทำหุ่นขึ้นมา อาจารย์นิเวศจะสอนให้ทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย แล้วก็ไม่ใช่การทำหุ่นอย่างเดียว อาจารย์จะสอนเรื่อง creative ในการตลาด การขาย การโฆษณา ทุกอย่าง แล้วก็เชิดไปเชิดมาประมาณ ๑๐ปี ปกติ ดิฉันทำธุรกิจของตัวเองเป็นแบบพวกเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ ดิฉันไม่ชอบแบบพวกเย็บปักถักร้อยหรืองานศิลปะ ทำเป็นแล้วก็คือชอบ แล้วก็รู้สึกว่า มองหุ่นแบบว่า มันทำยาก มันใช้เวลานาน เราก็รู้สึกว่าเราห่วง เรารัก เราไม่อยากให้ใครมาทำให้หุ่นของเราเสียหาย”

“หนูเรียนมาประมาณ ๘ปี เรียนตั้งแต่อยู่มัธยม ๒ หนูกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชั้นปีที่๔คณะมนุษยศาสตร์ ปกติหนูจะเข้าไปเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ เพราะวันธรรมดาจะไปเรียน ก็จะมี ๕  ๖คนที่เรียนพร้อมๆกัน พอเรียนมาซัก ๒ปี หุ่นก็แสดงมาได้ดีขึ้นและได้ไปแสดงในประเทศไทย หนูเคยไปแสดงที่ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศเกาหลีแล้วก็มาที่นี่”

นาย นิเวศ แววสมณะกับการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทย - ảnh 3การเผยแพร่ผลงาน ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ SACICT

ปัจจุบัน คณะเชิดหุ่นของโรงหุ่นกระบอก บ้านตุ๊กกะตุ่นมีสมาชิก 10คนที่ไปแสดงหุ่นกระบอกในแทบทุกจังหวัดและในเกือบ 40ประเทศ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น สมาชิกของคณะฯต่างมีงานทำของตนเอง สำหรับเงินสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวมาจากรายได้จากการทำโฆษณาของนาย นิเวศ แววสมณะ และการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล

“ช่วง ๓ถึง๔ปีหลัง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ พยายามหาพื้นที่ให้เรามีงานแสดงมากขึ้น ก็ดีขึ้นเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชาติ งานเทศกาลไทยในต่างแดน แถบยุโรปมีฝรั่งเศส สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ อเมริกา เวียดนาม นี่เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกมาเมื่อสองปีที่แล้ว ที่ โฮจิมินห์ เป็นความสัมพันธ์ ๔๐ปีไทย เวียดนามก็ไปแสดงที่ โฮจิมินห์ สำหรับการมาที่นี่ครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นผู้ซื้อตั๋วเครื่องบินให้”

สำหรับนาย นิเวศ แววสมณะและสมาชิกคณะเชิดหุ่นของโรงหุ่นกระบอก บ้านตุ๊กกะตุ่น รอยยิ้ม และเสียงปรบมือของผู้ชมเป็นการให้กำลังใจที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ นาย นิเวศ แววสมณะยังได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลศิลปินวัฒนคุณาธรของกระทรวงวัฒนธรรม รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรมส่งเสริม วัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ รางวัลครูช่างศิลปหัตถกรรม ของกรมส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ นาย นิเวศ แววสมณะได้เผยว่า ในอนาคต เขาจะยังคงผลักดันการอบรมเกี่ยวกับหุ่นกระบอก นอกเหนือจากการแสดงเรื่องวรรณคดีแล้ว เขาจะพยายามทำการแสดงเรื่องใหม่ๆ เช่น การแสดงในรูปแบบThe musical และเรื่องพันท้ายนรสิงห์เพื่อเผยแพร่ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทยให้แก่ชาวไทยและชาวโลกเพื่อทำให้หุ่นกระบอกไทยสามารถคงอยู่และพัฒนาต่อไปได้.

นาย นิเวศ แววสมณะกับการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทย - ảnh 4เด็กๆเรียนการทำหุ่นที่บ้านตุ๊กกะตุ่น 
นาย นิเวศ แววสมณะกับการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทย - ảnh 5 การสอนเชิดหุ่นกระบอกและสร้างคณะหุ่นกระบอกให้กับชุมชนหมู่บ้านสี่แยกท่าทองจังหวัดสุโขทัย 

คำติชม