ชาวบ้านปลูก จันทน์ชะมดสีม่วง |
ครอบครัวนาย เฉี่ยว ต่าย กาว หมู่บ้านบั่งแอ็ง ตำบลเตินเยิน อำเภอหวั่งโบ่ เป็นหนึ่งในจำนวนครอบครัวที่ยังรักษาพื้นที่ป่าธรรมชาติได้มากถึงกว่า 9 เฮกตาร์ ตั้งแต่ปี 2017 ผืนป่าอยู่ในความดูแลของเขาได้รับการคัดเลือกของตำบลเติน เยินให้เป็นสถานที่นำร่องในการพัฒนาสมุนไพรในป่าธรรมชาติเช่น จันทน์ชะมดสีม่วง (รักษาโรคกระเพาะ) เคมีเลียดอกสีเหลือง ปาจีเทียน และสมุนไพรอื่นๆ ในสูตรยาโบราณของเผ่าเย้า นายเฉี่ยว เตี๊ยน หลก ลูกชายนาย เฉี่ยว ต่าย กาว เผยว่า
“สูตรยาน้ำของคนเผ่าเย้าใช้สำหรับผู้หญิงช่วงเพิ่งคลอดลูกที่ร่างกายยังอ่อนแอมากเอาไปอาบน้ำ จะช่วยเสริมกำลังร่างกายให้ฟื้นได้เร็วขึ้น ใบไม้สมุนไพรที่ใช้นั้นขึ้นตามป่าธรรมชาติแต่ปัจจุบันป่าธรรมชาติถูกทำลายไปมาก เราจึงอยากนำกลับมาปลูกเพื่อรักษาสูตรยาพื้นบ้านของชนเผ่าเย้า และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน”
ชนเผ่าเย้าที่นี่ไม่เพียงแต่ปลูกและอนุรักษ์สมุนไพรที่มีอยู่ แต่ยังเรียนรู้เทคนิควิธีปลูกที่ทันสมัยและนำสมุนไพรพันธุ์ใหม่มาปลูกในท้องถิ่น สหกรณ์การบริการเภสัชภัณฑ์ทางเกษตร คาง ถิ่งห์ ในหมู่บ้านเติน เหลิบ ตำบลเติน เยิน อำเภอหวั่น โบ่ โดยมีนายบ่าน วัน หมาว เป็นผู้อำนวยการ ตอนนี้มี 1 เฮกตาร์นำร่องปลูกต้นดาวอินคา ซึ่งเป็นพืชที่ให้เมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยรักษาโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง แม้เพิ่งปลูกได้เพียง 2 เดือน แต่ต้นดาวอินคาที่ปลูกไว้มีการเติบโตที่ดี คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปลายปีนี้ นายบ่าน วัน หมาวเผยว่า ต้นดาวอินคาสามารถให้ผลผลิตใน 20 ปีติดต่อกัน และตอนนี้ได้มีบางหน่วยงานยืนยันว่าจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด
“ตอนแรกพวกเราก็ไม่รู้จักต้นดาวอินคา แต่หลังจากที่ได้ไปศึกษาดูงานมา ครอบครัวเราเห็นว่าต้นดาวอินคามีศักยภาพหลายด้าน เมื่อปลูกแล้วสามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีอายุยืน จึงตัดสินใจจัดตั้งสหกรณ์ ต่อไปชาวบ้านสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความอดอยากยากจนให้เขตภูเขาที่นี่”
การปลูกสมุนไพร เป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจจากศักยภาพทางธรรมชาติ |
ถึงแม้ว่ายังสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ไม่มากเพราะเพิ่งเริ่มโครงการ แต่สวนสมุนไพรเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของชนเผ่าเย้าและทางการท้องถิ่นในการรักษาพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นเมือง ช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้ และที่สำคัญคือพัฒนาแหล่งยาเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน นายดั่ง วัน เจือง หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขอำเภอหวั่น โบ่ เผยว่า
“เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาพืชสมุนไพร อำเภอหวั่น โบ่ ได้มีนโยบายส่งเสริมบริษัท สถานประกอบการ สหกรณ์ และประชาชนลงทุนปลูกสมุนไพร กล่าวคือ สนับสนุนค่าซื้อพันธุ์พืชร้อยละ 50-70 สนับสนุนค่าก่อสร้างโรงแปรรูปและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ร้อยละ 50 สนับสนุนการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค100% นอกจากนี้ยังสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิต สร้างแบรนด์และตราสินค้าให้ผลิตภัณฑ์ตัวแทนของจังหวัด
การปลูกและแปรรูปสมุนไพรในเขตภูเขาอำเภอหวั่นโบ่ จังหวัดก๋วาง นิงห์ เป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจจากศักยภาพทางธรรมชาติ ตามแนวทางเปลี่ยนดินสีน้ำตาลเป็นต้นไม้สีเขียว อันจะช่วยพัฒนาก๋วาง นิงห์ เป็นศูนย์สมุนไพรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม อำเภอยังประสบปัญหาอุปสรรคด้านเงินทุน ระบบสาธารณูปโภค เทคนิคกระบวนการในการปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูปสินค้า และการผลิตแบบครัวเรือนที่ยังไม่มีการจับมือกันเป็นกลุ่ม อีกทั้งตลาดอุปโภคก็ไม่แน่นอน ดังนั้นต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ของทางการในทุกระดับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางนิเวศและพัฒนาสมุนไพรอย่างยั่งยืนที่อำเภอหวั่น โบ่ เพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน.