เทศกาล เต้นไฟ (Nhảy lửa) ของเผ่าเย้าแดงที่จังหวัดเดียนเบียน

Vũ Lợi-Vĩnh Phong/VOV
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ชุมชนเผ่าเย้าที่จังหวัดเดียนเบียนทางภาคเหนือเวียดนามมีประชากรกว่า6พันคน อาศัยมากที่สุดที่อ.เหมื่องเเย้ เนิมโป และตั๋วจั่ว โดยแบ่งเป็นกลุ่มเย้าแดง เย้าก่วนเจต เย้าเคา เป็นต้น ซึ่งในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเย้านั้นจะมีการจัดงานเทศกาลต่างๆและหนึ่งในงานที่น่าสนใจที่สะท้อนเอกลักษณ์ชนเผ่าได้เด่นชัดที่สุดคืองานเทศกาล เต้นไฟ (Nhảy lửa-Nhìang Chằng Đao) โดยชาวเย้าแดงที่หมู่บ้านฮวยโซ ต.ปาเติ่น อ.เนิมโป จังหวัดเดียนเบียนคือชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์และจัดงานเทศกาลนี้อย่างสมบูรณ์

เทศกาล เต้นไฟ (Nhảy lửa) ของเผ่าเย้าแดงที่จังหวัดเดียนเบียน - ảnh 1นักเต้นเท้าไฟเผ่าเย้าแดงขอพรจากเทพแห่งไฟก่อนลงไปเต้นบนกองถ่าน 

หมู่บ้านฮวยโซมี95ครอบครัวรวมประชากรกว่า430คนซึ่งเป็นเผ่าเย้าแดงที่ใช้นามสกุลเดียวกันคือจ๋าว(Chao) โดยเทศกาลเต้นไฟถือเป็นอัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณของชนเผ่าเย้าที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ดังนั้น ชาวบ้านมักจะเลือกวันที่ถือว่ามีฤกษ์ดีที่สุดของปีเพื่อจัดงาน 

ตั้งแต่เช้าตรู่เมื่อเสียงไก่ป่าเริ่มขันเรียกพระอาทิตย์ขึ้น ทุกบ้านในชุมชนจะเปิดไฟสว่างเตรียมกิจกรรมต่างๆ สตรีช่วยกันแต่งชุดพื้นเมือง ส่วนผู้ชายเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ในอดีตนั้นงานเต้นไฟมีความหมายในวงแคบจึงมักจะจัดขึ้นที่บ้านของผู้ที่เป็นหัวหน้าของตระกูล ต่อมาได้รับการขยายให้จัดขึ้นในที่สาธารณะเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งชุมชนเพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านได้ร่วมกิจกรรม นายจ๋าวเซียงต๊า ผู้ใหญ่บ้านฮวยโซเผยว่า"การจัดงานนี้ขึ้นเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้เฝ้าดูและคอยปกป้องชาวบ้านให้คลาดแคล้วจากโรคภัยไข้เจ็บและปลอดภัย การผลิตได้ผลดี เด็กๆว่านอนสอนง่ายและเรียนเก่ง " 

ในการเตรียมให้แก่พิธีเซ่นไหว้สักการะบรรพชน ก่อนเริ่มเทศกาลสิ่งของที่จำเป็นต้องมีคือ หัวสุกรตัวใหญ่หรือลูกสุกร กระถางธูป น้ำเปล่า เหล้า แก้ว5ใบ กระดาษสาที่ใช้แทนกระดาษเงินกระดาษทอง ไม้ปวยหรือไม้เสี่ยงท้ายที่ทำจากไผ่ เหรียญเงิน2เหรียญ ข้าวสารใส่ในถุงผ้า และสิ่งของอื่นๆตามที่ต้องการ โดยเฉพาะต้องมีการตั้งกองฟืนใหญ่ที่ลานกว้างที่กลางหมู่บ้าน หลังจากเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้วเมื่อถึงฤกษ์ดี หมอผีก็จะเป็นผู้เริ่มทำพิธีเซ่นไหว้หน้าหิ้งบูชาและมีการจุดไฟเผากองฟืน โดยมีดนตรีประกอบคือกลองและฆ้อง เพราะตามความเชื่อของชาวบ้านเสียงดนตรีคือสัญญาณเชื่อมเพื่อเชิญเทพเจ้ามาร่วมงานกับชาวบ้านทุกคน โดยพิธีเซ่นไหว้ขอพรนั้นจะเสร็จสิ้นลงเมื่อกองฟืนใหญ่ที่ตั้งไว้ตรงกลางลานกว้างนั้นไหม้เป็นถ่าน ผู้ที่เป็นนักเต้นเท้าไฟจะนั่งด้านหลังหมอผีเพื่อรอขอพรจากไม้เสี่ยงทาย ถ้าเทพเเห่งไฟอนุญาต หนุ่มๆเย้าแดงจะกระโดดลงไปเต้นบนกองถ่านที่ยังมีไฟร้อนด้วยเท้าเปล่าจนถ่านดับแต่ก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและเท้าไม่เป็นอะไรเลย โดยทุกคนเชื่อว่านี่คือวิธีการเปิดประตูสู่โลกของดวงวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย นายจ๋าวซานฟิน หนึ่งในนักเต้นเท้าไฟเผยว่า"เรารู้สึกเมือนเทพเจ้ามาประทับทรงในตัวเรา ไม่รู้สึกอะไร รู้แต่ว่ากระโดดลงในกองถ่านเต้นตามจังหวะแต่ไม่เป็นอะไรแถมยังรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงและจิตใจสบายมาก" 

เทศกาล เต้นไฟ (Nhảy lửa) ของเผ่าเย้าแดงที่จังหวัดเดียนเบียน - ảnh 2แม้จะเต้นด้วยเท้าเปล่าแต่ก็ไม่มีใครบาดเจ็บโดยเฉพาะเท้าของนักเต้นยังเป็นปกติมีแต่รอยเปื้อนดำ

หลังพิธีเต้นไฟจะเป็นการแสดงท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ของเผ่าเย้าแดงซึ่งก็เป็นหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญ โดยมีผู้นำการเต้น2คนคือSliêu họและKhoi tàn ส่วนท่ารำต่างๆเช่น “Tam nguyên an ham” "Nhìang Chầm đao" หรือรำจับไก่ทำนา ล้วนเป็นท่ารำที่สะท้อนพลังอำนาจและวิถีชีวิตของชุมชนเผ่าเย้า พิธีจะสิ้นสุดลงด้วยการเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อขอให้ดวงวิญญาณของบรรพชนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายรับทราบเพื่อประทานพรให้ชาวบ้านทุกคนได้มีชีวิตที่อิ่มหนำผาสุก ปิดท้ายงานเต้นไฟจะเป็นการร้องรำทำเพลงของชาวบ้านทุกคนเพื่อแสดงความยินดี นายจ๋าวเกี่ยมฟิน ซึ่งมีบทบาทเป็นKhoi tànผู้นำการเต้นเผยว่า "หนุ่มที่เข้ากลุ่มเต้นเท้าไฟนั้นมีกำหนดจำนวนไว้8คนและต้องผ่านพิธีกรรมเซ่นไหว้ขออนุญาตจากเทพไฟก่อน ต้องเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ห้ามกินเนื้อหมาและงดมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงในช่วงก่อนร่วมงาน" 

เทศกาลเต้นไฟของเผ่าเย้าแดงมักจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีหรือต้นปีใหม่เพื่อขอพรจากเทพแห่งไฟให้นำความอบอุ่นและอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเมือง ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายปกป้องชาวบ้าน ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บให้ออกจากชุมชน และกิจกรรมวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์นี้ยังได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้.

คำติชม