(VOVworld)-เมื่อพูดถึงเกาลัด ทุกคนคงนึกถึงชื่อเกาลัดจู่งแค้ง จังหวัดกาวบั่ง เป็นอันดับแรกเพราะได้มีเครื่องหมายการค้ามานานแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีชาวฮานอย ไฮฟองและอีกหลายท้องถิ่นในภาคเหนือรู้จักสวนเกาลัดที่อร่อยของนาย เหงวียนจูงเฮี้ยว ชนเผ่าไตที่ต.กว๋างหลาก จังหวัดหลางเซิน ซึ่งเป็นครอบครัวแรกที่ริเริ่มปลูกเกาลัดเพื่อสร้างฐานะและยังช่วยสร้างงานทำให้แก่แรงงานท้องถิ่นได้จำนวนมากอีกด้วย
เกาลัดหลางเซินก็ได้รับความนิยมไม่แพ้เกาลัดกาวบั่ง
|
สวนเกาลัดของนายเฮี้ยวอยู่ห่างจากตัวเมืองหลางเซินประมาณ20กิโลเมตร ซึ่งในรอบสองสามปีมานี้ ไม่เพียงแต่มีลูกค้าในท้องถิ่นมาสั่งซื้อเท่านั้นหากลูกค้าในจังหวัดอื่นๆเช่น ฮานอย ห่ายาง บั๊กยาง ไฮฟอง เป็นต้นก็ได้โทรมาสั่งจองเกาลัดของสวนจนต้องเร่งทำงานเพื่อแยกประเภทและส่งสินค้าให้ทันหลังการเก็บเพื่อความสดใหม่ นายเฮี้ยวเผยว่า“ปีที่แล้วผมเก็บลูกเกาลัดได้กว่า1ตัน ซึ่งไม่พอที่จะขาย โดยหลังการเก็บจากสวนเราต้องแยกขนาดเพื่อแบ่งราคาขาย ลูกขนาดเล็กมีราคา6หมื่นด่งต่อกิโลกรัม ลูกขนาดใหญ่ขายที่8หมื่นด่งต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยแล้วสร้างรายได้ประมาณ1แสน6หมื่นด่งต่อหนึ่งฤดู”
เมื่อปี2003 ทางการจังหวัดหลางเซินได้ประกาศโครงการทดลองการพัฒนารูปแบบการปลูกเกาลัดพันธุ์ใหม่ ซึ่งตอนนั้นครอบครัวของนายเฮี้ยวยังทำนาและปลูกไม้ผลอื่นๆเช่น ลูกพลับ ลิ้นจี่และลูกพลัม แต่เนื่องจากพันธุ์ไม้เหล่านี้ไม่เหมาะสมกับสภาพที่ดินจึงให้ผลผลิตต่ำ ดังนั้นนายเฮี้ยวก็ตัดสินใจทดลองปลูกเกาลัดตามโครงการแม้จะยังไม่รู้ว่าต้นเกาลัดนี้จะเหมาะสมกับสภาพที่ดินของจังหวัดหรือไม่ โดยได้ซื้อต้นเกาลัดพันธุ์300ต้นมาปลูก จากการดูแลมาสองปี สวนเกาลัดของเขาก็เริ่มออกผลโดยเมล็ดมีขนาดใหญ่ไม่แพ้เกาลัดที่จังหวัดกาวบั่ง ซึ่งจากการเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงจากเกาลัด นายเฮี้ยวได้ตัดสินใจเลิกปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆเพื่อใช้พื้นที่สวนกว่า3เฮกตาปลูกเกาลัดรวม1500ต้น ซึ่งภายหลัง4ปี สวนเกาลัดก็เริ่มให้ผลผลิต แต่ในตอนแรกๆนายเฮี้ยวและภรรยาก็ต้องพยายามแนะนำผลิตภัณฑ์และหาลูกค้า ภรรยาของนายเฮี้ยวเล่าว่า “เพื่อแนะนำให้ลูกค้ารู้จักเกาลัดของเราก็ต้องเชิญชิมก่อนโดยเรานำเกาลัดลวกหรือคั่วไปวางที่ร้านอาหารต่างๆให้คนที่มาร้านลองชิม หากใครชอบก็สามารถสั่งซื้อได้ นานๆไปเขาก็รู้จักยี่ห้อเกาลัดของเราจนโทรมาสั่งถึงสวน ซึ่งคนที่ชิมแล้วบอกว่าแตกต่างกับเกาลัดกาวบั่งคือของเราลูกใหญ่กว่า ส่วนเนื้อก็นิ่มและหวานกว่า เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปหาลูกค้าแล้วเพราะพอเก็บเกาลัดเขาก็มาซื้อถึงที่บ้านกันหมดแล้ว”
สภาพดินฟ้าอากาศของหลางเซินเหมาะกับการปลูกเกาลัด
|
รูปแบบสวนเกาลัดที่ปฏิบัติเป็นการนำร่องที่หลางเซินไม่เพียงแต่นำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาให้แก่ครอบครัวนายเฮี้ยวเท่านั้นหากยังสร้างงานทำให้แก่แรงงานในท้องถิ่นอีกด้วย โดยที่หมู่บ้านกว๋างจูง ต.กว๋างหลาก ที่มีทั้งหมด78ครัวเรือน งานที่สวนเกาลัดของนายเฮี้ยวสามารถสร้างงานทำที่มั่นคงให้แก่4ครอบครัว นอกจากนั้นป่าต้นสนรวมพื้นที่กว่า60เฮกต้าของครอบครัวนายเฮี้ยวก็ได้สร้างงานให้แก่แรงงานในหมู่บ้านอีกกว่า 20คน นาง หว่างทิกี๋ยม ชนเผ่าไตที่หมู่บ้านกว๋างจูง ต.กว๋างหลาก ซึ่งเป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีรายได้เสริมจากการรับจ้างทำงานในสวนเกาลัดเผยว่าลูก5คนของเราก็มีครอบครัวแล้ว ส่วนสองสามีภรรยาดิฉันเองก็ทำงานที่สวนเพื่อหารายได้เสริม ซึ่งเมื่อเห็นรูปแบบใหม่นี้เราก็อยากให้ลูกๆเรียนรู้ทำตาม“ดิฉันได้บอกกับลูกๆว่าให้ทำตามตัวอย่างของนายเฮี้ยวเพื่อช่วยพัฒนาฐานะของครอบครัว ต้องศึกษาว่าเขาทำอย่างไรและขอพันธุ์จากเขามาทดลองปลูกด้วย”
สำหรับนายเฮี้ยวนั้นเมื่อเห็นชีวิตสังคมในท้องถิ่นยังลำบากเขาก็มีความประสงค์ที่จะรณรงค์ช่วยเหลือชาวบ้านขยายพื้นที่ปลูกเกาลัดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนตามความเห็นของทางการท้องถิ่น เมื่อเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของการปลูกเกาลัด ทางการก็กำลังวางแนวทางสร้างเครื่องหมายการค้าให้แก่เกาลัดกว๋างหลาก นาย จูดึ๊กโทย ประธานคณะกรรมการประชาชนต.กว๋างหลากเผยว่า“ท้องถิ่นของเรามีศักยภาพในการปลูกเกาลัดเพราะมีสภาพพื้นที่เหมาะสม แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องมีเงินทุนและความขยันอดทน พื้นที่ป่าเขาในกว๋างหลากมีเยอะดังนั้นถ้าอยากปรับปรุงเพื่อปลูกเกาลัดก็ต้องเสียค่าแรงและเงินทุนไม่น้อย ซึ่งทางต.ก็ได้หารือกับนายเฮี้ยวเรื่องการช่วยเหลือชาวบ้านเขาก็บอกว่าหากใครต้องการเขาก็ยินดีแนะนำวิธีการปลูกและดูแลต้นเกาลัด ซึ่งเราก็หวังว่าแนวทางนี้จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อให้ยี่ห้อเกาลัดกว๋างหลากพัฒนาอย่างมั่นคง”
ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชนกลุ่มน้อยกว่า4500คนในต.กว๋างหลากได้พึ่งพาการทำนาปลูกข้าวเป็นหลักมานานแล้วและชาวบ้านก็ได้ทดลองปลูกผลไม้อย่างอื่นแล้วแต่ก็ให้ผลผลิตต่ำดังนั้นหากรูปแบบการปลูกเกาลัดได้รับการขยายผลจนสำเร็จก็จะช่วยให้ชาวกว๋างหลากมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีงานทำที่มั่นคงมากขึ้น./.