ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในจังหวัดหว่าบิ่งห์อนุรักษ์ภาษาแม่

Thu Hoa - VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในประเทศเวียดนาม ชนกลุ่มน้อยแต่ละเผ่าต่างมีภาษาและอักษรเป็นของตนเอง โดยในโลกแห่งการผสมผสานนี้ การอนุรักษ์ภาษาแม่ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ จากการตระหนักได้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องที่จังหวัดหว่าบิ่งห์ได้พยายามอนุรักษ์ภาษาเหมื่องให้แก่คนรุ่นหลังผ่านการสอนวัฒนธรรมพื้นเมืองในชุมชน
 
 
ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในจังหวัดหว่าบิ่งห์อนุรักษ์ภาษาแม่ - ảnh 1“มอเหมื่อง” คือมรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง (Photo baodantoc.vn)

ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่หลากหลาย และใช้วิธีการสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลังด้วยการบอกเล่า ในอดีต ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องมีอักษรเขีนเป็นของตนเองและยังมีการพบเอกสารเก่าบางฉบับที่ใช้ตัวอักษรฮั่นในการเขียนคำภาษาเหมื่อง หลังปี 1945 เวียดนามได้ใช้อักษรก๊วกหงือเป็นภาษากลางอย่างเป็นทางการ ซึ่ง ปัญญาชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องก็ได้ใช้อักษรก๊วกหงือในการเขียนภาษาเหมื่อง ทำให้มีการแต่งบทกลอนมอในภาษาเหมื่องมากมายและมีการใช้อย่างแพร่หลายในชุมชน ซึ่งช่วยอนุรักษ์ภาษาเหมื่อง

“มอเหมื่อง” หรือบทกลอนเพื่อบูชา คือมรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง สะท้อนมุมมองต่างๆในการมองโลกของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและมีคุณค่าในด้านภาษาและตัวอักษรของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง ตามข้อมูล มีการใช้กลอน “มอ”ใน 23 เทศกาลของชาวเหมื่อง โดยผู้ขับกลอนคือ “ไถ่มอ” หรือหมอผีมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตของทุกคน เช่น ตั้งแต่เกิด “ไถ่มอ”จะทำพิธีขอพรให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงและโตเร็วหรือเมื่อล้มป่วย “ไถ่มอ” ก็จะทำพิธีจับผีเพื่อให้ผู้ป่วยหายเร็ว เมื่อผู้สูงอายุสุขภาพอ่อนแอ “ไถ่มอ” ก็จะทำพิธีเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว เมื่อเสียชีวิต “ไถ่มอ” ก็จะทำหน้าที่สวดส่งวิญญาณให้ไปสู่สุคติ ตลอดจนในงานเทศกาลสำคัญต่างๆ อย่างงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบูชาบรรพบุรุษ “ไถ่มอ” ก็เปนคนที่มีบทบาทสำคัญ ปัจจุบัน ในชุมชนชนกลุ่มน้อยเหมื่อง มีหลายคนกำลังพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาเหมื่อง นาย ดิงกงเตี๊ยน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมอเหมื่องในอำเภอเตินหลาก จังหวัดหว่าบิ่งห์เผยว่า            “ผมเรียนเกี่ยวกับกลอน “มอเหมื่อง” ตอนเป็นหัวหน้าสหกรณ์ โดยผมได้รวบรวมเนื้อหา “มอเหมื่อง” ช่วงปี 1971 -1972 เป็นหนังสือเพราะปกติบท “มอ” จะถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษด้วยการเล่าต่อกันเท่านั้น ไม่มีการทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อมีตัวอักษรใช้แล้ว ทำให้การเรียนง่ายขึ้น ผมได้ตั้งใจเรียน โดยฟัง เขียนและไปศึกษาจาก “ไถ่มอ” ซึ่งทำให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว “มอเหมื่อง” คือมรดกวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง”

ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในจังหวัดหว่าบิ่งห์อนุรักษ์ภาษาแม่ - ảnh 2ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่หลากหลาย (Photo baohoabinh.com.vn)

ภาษาเหมื่องไม่เพียงแต่ปรากฎอยู่ในบทกลอน “มอเหมื่อง” เท่านั้น หากยังปรากฎในเพลงพื้นเมืองทำนอง “วี้” ของชาวเหมื่องด้วย ในหลายปีมานี้ ชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องตระหนักได้ดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของตน โดยเมื่อปี 2017 ได้มีการเปิดสโมสรอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องเป็นครั้งแรกในหมู่บ้านหง่อย ตำบลซ้วยฮวา อำเภอเตินหลาก จังหวัดหว่างบิ่งห์ ถึงปี 2019 ก็มีการเปิดสโมสรอีกแห่งที่หมู่บ้านดิ๋ง ตำบล หมานดึ๊ก โดยเน้นสอนการตีฆ้อง การร้องเพลงพื้นเมืองต่างๆ การสวมใส่ชุดพื้นเมือง รวมทั้งวัฒนธรรมในการพูดคุยประจำวันที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าเหมื่อง ศิลปิน บุ่ยวันเอี๋ยว อำเภอเตินหลาก จังหวัดหว่าบิ่งห์เผยว่า “การร้องเพลงทำนองพื้นเมือง “ดุ๊ม” และ “วี๊” เป็นส่วนหนึ่งของชาวเหมื่องทุกรุ่น โดยในงานเทศกาลหรือในวันสำคัญๆ เช่น วันแต่งงาน พิธีทำบุญครบรอบวันตาย ชาวเหมื่องก็จะร้องเพลงทำนองเหล่านี้ แต่ผมกังวลว่า คนรุ่นใหม่จะหลงลืมเพลงพื้นเมืองเหล่านี้ ดังนั้น ถ้าหากใครอยากเรียน ผมก็พร้อมสอนให้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเหมื่อง”

ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรในจังหวัดหว่าบิ่งห์ ซึ่งควบคู่กับการผลักดันให้ศิลปินและชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องสืบสานภาษาถิ่นและเอกลักษณ์วัฒนธรรม ทางการจังหวัดฯ ได้ปฏิบัติโครงการ “สอนและเรียนภาษาเหมื่อง” เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องให้คงอยู่อย่างมีชีวิตชีวาอย่างยั่งยืนต่อไป.

คำติชม