กองกำลังตำรวจร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลาดตระเวนแนวชายแดนเพื่อป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมการค้ามนุษย์ (cand.com) |
ด้วยการมีพรมแดนยาวและภูมิประเทศที่ซับซ้อน เวียดนามต้องรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง กระทรวงรักษาความมั่นคงทั่วไปรายงานว่า เหยื่อการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับเวียดนาม และร้อยละ 20 ไปยังประเทศอื่นผ่านทางบก ทางอากาศและทางทะเล ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ตำรวจสามารถทำการสืบสวนและช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ได้หลายพันคน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 กระทรวงรักษาความมั่นคงทั่วไปเวียดนามได้ตรวจพบและสืบสวน 33 คดี จับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 75 คน และช่วยเหลือเหยื่อ 66 คน กระทรวงกลาโหมได้เพิ่มการลาดตระเวนและควบคุมชายแดน จุดผ่านแดนและเขตน่านน้ำอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันและตรวจหาการกระทำผิดกฎหมายทั้งการลักลอบค้าของเถื่อนและการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือ ตรวจสอบ ปกป้องและพาผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์กลับประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2022 กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับกระทรวงกลาโหมเพื่อช่วยเหลือพลเมือง 7 คนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในกัมพูชาอย่างปลอดภัย ข้อเท็จจริงนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า เวียดนามไม่ได้เพิกเฉยปล่อยให้มีการค้ามนุษย์ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวหาในรายงานการค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับเรื่องนี้ นาย ดั่งซวนห่ง ปลัดสำนักงานคณะกรรมการชี้นำงานด้านมนุษยชนของรัฐบาลกล่าวว่า
“รัฐเวียดนามลงโทษอาชญากรรมการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด ตามกฎหมาย รายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐในเวียดนามได้มีการประเมินที่ขาดภาวะวิสัย มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความพยายามของเวียดนามในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์”
ทหารชายแดนพาผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์กลับประเทศ (VNA) |
พร้อมกับการเน้นผลักดันหน้าที่และมาตรการในการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์จากสถานการณ์ที่เป็นจริง เวียดนามได้ปรับปรุงระบบกฎหมายให้มีความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน ช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์และปกป้องเด็กจากความเสี่ยงบนอินเตอร์เน็ต เมื่อวันที่ 9 เดือนกุมภาพันธ์ปี 2021นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้มติที่ 193 โดยอนุมัติโครงการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในช่วงปี 2021-2025 และกำหนดแนวทางจนถึงปี 2030 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2022 กฎหมายคุ้มครองแรงงานเวียดนามที่ทำงานในต่างประเทศตามสัญญาว่าจ้างปี 2020 ยังมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของแรงงานในต่างประเทศและป้องกันการค้ามนุษย์
พร้อมกับการจัดทำระบบกฎหมายและการดำเนินกิจกรรมต่อต้านการค้ามนุษย์แล้ว เวียดนามยังได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เวียดนามเป็นสมาชิกของอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับการต่อต้านกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ อีกทั้งเป็นภาคีอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็กหรือ ACTIP พิธีสารว่าด้วยการป้องกัน การปราบปรามและการลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นการเสริมเนื้อหาให้แก่อนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติหรือพิธีสารปาแลร์โม โดยเฉพาะ เวียดนามกำลังพยายามปฏิบัติแผนดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบและปกติหรือ GCM เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการย้ายถิ่นฐานที่โปร่งใสและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจกรรมการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ
เป็นที่น่าเสียดายที่ความพยายามในการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ของเวียดนามไม่ได้รับการยอมรับอย่างสมบูรณ์และถูกต้อง เมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในโลกปี 2022 ซึ่งมีการระบุชื่อของเวียดนามและประเทศอื่นๆ นาย ดั่งซวนห่ง ปลัดสำนักงานของคณะกรรมการชี้นำเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลได้ย้ำว่า รายงานปี 2022 เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในโลกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมีข้อมูลที่ "ไม่เป็นความจริง ไม่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์และความพยายามในการป้องกันและ ต่อต้านการค้ามนุษย์ในเวียดนามอย่างถูกต้องสมบูรณ์”
“ข้อมูลที่ฝ่ายสหรัฐใช้เพื่อจัดทำรายงานยังคงรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นทางการขององค์กรและบุคคลที่ไม่มีความปรารถนาดีต่อเวียดนาม เช่น องค์กร "เฝ้าติดตามสิทธิมนุษยชน - HRW" องค์กร "คณะกรรมการช่วยคนข้ามทะเลหรือ BPSOS" และองค์กรก่อการร้ายเวียดเติน การประเมินของฝ่ายสหรัฐนั้นไม่มีแหล่งข้อมูลที่สมบูรณ์ เป็นการปฏิเสธความพยายามของรัฐบาลและประชาชนเวียดนามในต่อต้านการค้ามนุษย์ มุ่งสู่การขจัดการค้ามนุษย์ในเวียดนาม การที่สหรัฐและกลุ่มอิทธิพลใช้ปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อตำหนิและบิดเบือนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเวียดนามเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเวียดนามและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”
สหประชาชาติได้ระบุว่าการค้ามนุษย์ เป็น 1 ใน 4 อาชญากรรมที่อันตรายที่สุด และถูกระบุในโครงการป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมระดับโลก ในเวียดนาม วันที่ 30 กรกฎาคมของทุกปีคือวันปวงชนป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ ในโอกาสนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมปี 2022 กระทรวงแรงงาน ทหารทุพพลภาพและสังคม กระทรวงรักษาความมั่นคงทั่วไป กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามเอกสารในการประสานงานเกี่ยวกับการรับ การปกป้องและช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ นี่ถือเป็นนิมิตหมายที่สำคัญ เป็นการยืนยันถึงความพยายามและความมุ่งมั่นในการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ ปกป้องสิทธิผลประโยชน์ที่ชอบธรรมและช่วยเหลือเหยื่อ การประกาศใช้กฎระเบียบนี้ได้เผยแพร่สารที่ชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของเวียดนามในการยกระดับประสิทธิภาพของการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์มากขึ้น.