ปัญหาพลังงานของโลก

Quang Dung
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านพลังงานถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆของประเทศต่างๆในสภาวการณ์ที่โลกผลักดันความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย
ปัญหาพลังงานของโลก - ảnh 1การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP ครั้งที่ 28 (THX)

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE ประเทศต่างๆได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนปฏิบัติตามคำมั่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

อนาคตของก๊าซธรรมชาติ

ปัญหาใหญ่ที่ยังสร้างความแตกในบรรดาประเทศทั่วโลกรวมทั้งประชาคมพลังงานระหว่างประเทศในปัจจุบันคือ เชื้อเพลิงฟอสซิลจะอยู่ได้นานแค่ไหน และปัจจุบัน ก็มีสัญญาณมากมายที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของประเทศต่างๆ อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับกำลังการผลิตการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมนอกชายฝั่งและพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิในฤดูหนาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติกำลังลดลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยที่ยุโรป ราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 23 ยูโร/MWh คิดเป็น 24.8 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2021 และน้อยกว่า 1/10 ของราคาสูงสุดซึ่งเคยอยู่ที่ 319 ยูโร/MWh คิดเป็น 345 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022 ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความเห็นว่า ยุคของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีการใช้งานมากที่สุดได้สิ้นสุดลงแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกประเทศจะมีความคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้ โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กาตาร์ได้ประกาศเปิดใช้งานโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ถึงแม้ว่า ราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐและยุโรปจะแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม เพราะตามความเห็นของนาย Saad Al-Kaabi ประธานเครือบริษัท QatarEnergy ถึงแม้ว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติในสหรัฐและยุโรปจะลดลง แต่ตลาดหลักอื่นๆ ในเอเชียยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว และก๊าซธรรมชาติยังคงมีอนาคตในระยะยาว

“เราพูดอยู่เสมอว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเปลี่ยนผ่านพลังงาน  และผมคิดว่า ผู้คนจำนวนมากได้เข้าร่วมกระบวนการนี้แล้ว ส่วนเราก็เข้าร่วมตั้งแต่เนิ่นๆ แต่เราจะไม่เปลี่ยนจุดยืนที่ “ก๊าซธรรมชาติยังคงมีอนาคตในอีกอย่างน้อย 50 ปีข้างหน้า”

นอกจากก๊าซธรรมชาติแล้ว พลังงานอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันคือพลังงานนิวเคลียร์ ปัจจุบัน ประเทศและองค์กรส่วนใหญ่ได้ระบุพลังงานนิวเคลียร์ในกลุ่ม “พลังงานสะอาด” โดยในระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA จะจัดการประชุมสุดยอดพลังงานนิวเคลียร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ตามรายงานของ IAEA นี่จะเป็นการประชุมระดับสูงสุดที่เน้นถึงหัวข้อพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น โดยมีเกือบ 30 ประเทศเข้าร่วม ก่อนหน้านั้น ในการประชุม COP28 ประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่นและบางประเทศในยุโรปได้เรียกร้องให้เพิ่มการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2050 เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ตามความเห็นของนาย Rafael Grossi ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA นับวันมีหลายประเทศวางแผนที่จะระบุพลังงานนิวเคลียร์เข้าโครงการพลังงานแห่งชาติของตน หรือขยายโครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังมีอยู่  โดยล่าสุดคือแคนาดา ที่เพิ่งระบุเรื่องนี้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแสดงความเห็นว่า การถกเถียงเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์จะดำเนินไปอีกหลายปีเนื่องจากระดับความปลอดภัยและการจัดการกากนิวเคลียร์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือของหลายประเทศ

ปัญหาพลังงานของโลก - ảnh 2นาย Rafael Grossi ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA (THX)

ความท้าทายในการลงทุนพลังงานทดแทน

สำหรับพลังงานทดแทนซึ่งถือเป็นพลังงานของอนาคต รายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA ได้แสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยเมื่อปีที่แล้ว โลกได้เพิ่มพลังงานหมุนเวียนอีก 510 กิกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับ 51 ล้านครัวเรือนภายในหนึ่งปี ซึ่งในนั้น พลังงานแสงอาทิตย์คิดเป็นร้อยละ 75 ตามรายงานของ IEA ด้วยอัตราปัจจุบัน กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของโลกอาจเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าภายในปี 2030 แต่อย่างไรก็ตาม นาย Fatih Birol ผู้อำนวยการ IEA ได้แสดงความเห็นว่า นี่ยังไม่เพียงพอเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในการประชุม COP28 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หนึ่งในสาเหตุหลักของความล่าช้านี้คือการลงทุนในด้านพลังงานทดแทนยังไม่ได้รับความสำคัญมากพอ โดยเฉพาะจากเครือบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ที่กำลังได้รับกำไรมหาศาลจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังไม่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

 “เราเห็นว่า เครือบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมาชาติใช้งบประมาณแค่ร้อยละ 2.5 เพื่อลงทุนพัฒนาพลังงานสะอาด ส่วนอีกร้อยละ 97.5 ลงทุนในกิจกรรมสำรวจและขุดเจาะพลังงานแบบดั้งเดิม ดังนั้น จึงมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างสิ่งที่เครือบริษัทเหล่านี้ให้คำมั่นจะปฏิบัติกับยุทธศาสตร์การลงทุนจริงที่กำลังดำเนินการอยู่”

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การ Global Witness ได้ประกาศรายงานที่แสดงให้เห็นว่า เครือบริษัทพลังงานรายใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ BP ประเทศอังกฤษ Shell ประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ Chevron ประเทศสหรัฐ ExxonMobil ประเทศสหรัฐ และ Total Energy ประเทศฝรั่งเศส มีกำไร 2 แสน 8 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดการปะทะในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 แต่คาดว่า เครือบริษัทเหล่านี้จะใช้งบกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แทนที่จะให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน สถานการณ์ที่เป็นจริงดังกล่าวทำให้ความพยายามในการสร้างก้าวกระโดดด้านพลังงานทดแทนทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะตามความเห็นของนาย ไซมอน สตีลล์ เลขานุการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC เพื่อดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ประสบความสำเร็จ โลก ต้องใช้งบประมาณ 2 ล้าน 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยากที่จะบรรลุในช่วงนี้ได้.

คำติชม