นาย โจไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐและนาย ฝ่ามมิงชิ้ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม |
ในการประชุมสุดยอดด้านการลงทุนและนวัตกรรมระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง ได้เผยว่า หนึ่งในประเด็นหลักของการเยือนเวียดนามครั้งนี้ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน คือการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะกำหนดเทคโนโลยี นวัตกรรมและการลงทุนเป็นเสาหลักใหม่ที่สำคัญในความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในทุกด้านระหว่างสองประเทศ
เสาหลักใหม่ในความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในทุกด้าน
นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง เผยว่า จากการตั้งเป้าจนถึงปี 2030 เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีรายได้ปานกลางในระดับสูงและจนถึงปี 2045 จะกลายเป็นประเทศพัฒนาและมีรายได้สูง เวียดนามได้ถือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาประเทศ
ปัจจุบัน เวียดนามกำลังเน้นพัฒนาแหล่งบุคลากร กำหนดนโยบายให้สิทธิพิเศษในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การสร้างสรรค์เขตนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ศูนย์นวัตกรรมและศูนย์การเงินเพื่อเข้าร่วมห่วงโซ่คุณค่าโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดนักลงทุนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ รวมทั้ง สหรัฐ
นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง แสดงความประสงค์วว่า ทางการและชมรมสถานประกอบการสหรัฐจะผลักดันการสนับสนุนทางการเมือง คำมั่นเกี่ยวกับเงินทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการฝึกอบรมแหล่งบุคลากรที่มีคุณภาพสูง ช่วยเหลือเวียดนามในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขยายตัว การปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจตามแนวทางการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวดเร็ว ยั่งยืนและครอบคลุม
“แหล่งพลังเริ่มจากแนวคิดและวิสัยทัศน์ พลังขับเคลื่อนมาจากการพัฒนานวัตกรรม พลังมาจากประชาชนและสถานประกอบการ ความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในทุกด้านระหว่างเวียดนามกับสหรัฐแสดงให้เห็นถึงแนวคิดใหม่ วิสัยทัศน์ใหม่ พลังขับเคลื่อนใหม่และสร้างพลังใหม่และคุณค่าใหม่ พวกเราจะร่วมมือ แบ่งปัน เรียนรู้และช่วยเหลือกันบนเจตนารมณ์แห่งผลประโยชน์ที่กลมกลืนและแบ่งเบาความเสี่ยง ความสำเร็จของคุณก็คือความสำเร็จของพวกเรา”
ส่วนนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เห็นพ้องกับความเห็นของนายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง โดยเห็นว่า ขณะนี้เป็นโอกาสเพื่อให้ทั้งสองประเทศส่งเสริมความสัมพันธ์ ไม่เพียงแต่ในด้านการลงทุนและนวัตกรรมเท่านั้น หากยังในทุกด้านเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทั้งสองฝ่าย นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นและทั้งสองประเทศควรเสริมสร้างและผลักดันความร่วมมือเพื่อก้าวรุดหน้าไปในอนาคต พร้อมทั้งให้คำมั่นว่า สหรัฐจะร่วมมือและช่วยเหลือเวียดนามในด้านเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ นวัตกรรม การปรับเปลี่ยนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมแหล่งบุคลากร เข้าร่วมห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคและโลก
นาย ฝ่ามมิงชิ้ง นายกรัฐมนตรีเวียดนามและนาย โจไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านการลงทุนและนวัตกรรมระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ |
ผลักดันการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีขั้นสูง
สำหรับความเป็นไปได้ในการใช้โอกาสความร่วมมือใหม่ระหว่างสถานประกอบการทั้งสองประเทศ นาย เหงวียนชี้หยุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนามเผยว่า แนวทางของเวียดนามคือดึงดูดการลงทุนที่มีการคัดเลือกเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจแห่งสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเวียดนามให้ความสนใจต่อโครงการต่างๆ เช่น เทคโนโลยีขั้นสูง อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ นวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน พลังงานใหม่ ศูนย์กลางการเงิน การค้าและการบริการที่ทันสมัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและการพัฒนา พร้อมทั้ง ให้ข้อสังเกตว่า นี่เป็นจุดแข็งของสถานประกอบการสหรัฐและทั้งสองประเทศมีศักยภาพความร่วมมืออีกมาก
รัฐมนตรี เหงวียนชี้หยุง ยังเสนอให้บรรดาสถานประกอบการสหรัฐขยายการลงทุนในเวียดนาม ให้ความช่วยเหลือเวียดนามเข้าร่วมห่วงโซ่คุณค่า พร้อมทั้งส่งเสริมให้เครือบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เช่น Intel, Amkor, Marvell, Global Foundries สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์พัฒนาระบบนิเวศชีปและเซมิคอนดักเตอร์ ร่วมกันสร้างสรรค์ศูนย์ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ชิพและเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม
ก่อนหน้านั้น ในการแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในทุกด้าน สหรัฐได้ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่การฝึกอบรมแหล่งบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม ส่วนในด้านการบิน เวียดนามให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเครือบริษัทโบอิ้งพัฒนาระบบนิเวศการผลิตชิ้นส่วนและ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระดับภูมิภาคในเวียดนาม
ในการประชุมนี้ สถานประกอบการเวียดนามและสหรัฐ 14 แห่งได้ทำการหารืออย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาและจริงจังเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือลงทุน โดยเน้นใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การลงทุนการผลิต การบริการการเงิน ฟินเทค การค้า การบริการ บรรดาสถานประกอบการเวียดนามให้ความสนใจต่อความร่วมมือกับสถานประกอบการสหรัฐในด้านการเงิน เทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานหมุนเวียน การเงิน การปรับเปลี่ยนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผลิตเชื้อเพลิงสะอาด ไฮโดรเจน เทคโนโลยีอวกาศ ความมั่นคงทางอินเตอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ ส่วนบรรดาสถานประกอบการสหรัฐมีความประสงค์และพร้อมร่วมมือกับสถานประกอบการเวียดนามในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ชิพ การพัฒนาระบบ 5G การฝึกอบรมแหล่งบุคลากร การทำธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรม
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจให้ข้อสังเกตว่า หนึ่งในลักษณะของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับสหรัฐคือการสนับสนุนกันของสองเศรษฐกิจ ดังนั้น จากการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี บรรดาสถานประกอบการเวียดนามจะมีโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่คุณค่าโลกผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการสหรัฐและการขยายกิจกรรมในตลาดของสหรัฐ.