ระบบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปของกองทัพสหรัฐ (GETTY IMAGES) |
New START คือสนธิสัญญาควบคุมนิวเคลียร์เพียงฉบับเดียวระหว่างมอสโคว์กับวอชิงตัน นับถึงขณะนี้ ซึ่งได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดีรัสเซีย ดมีตรี เมดเวเดฟ และประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามาเมื่อปี 2010 โดยจำกัดให้แต่ละประเทศครอบครองหัวรบนิวเคลีย์ได้ไม่เกิน 1,550 หัว ขีปนาวุธและเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 700 ลำ และระบุให้มีการตรวจสอบระหว่างกันเพื่อเป็นการยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา แต่ตั้งแต่ปี 2020 ทั้งสองฝ่ายได้ระงับกิจกรรมการตรวจสอบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สัญญาณที่ส่งถึงสหรัฐและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
มอสโคว์ระบุว่า เหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้คือสหรัฐกำลังใช้สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการทำให้รัสเซียอ่อนแอลง ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน กล่าวหาว่า ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐและพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ได้ถูกตั้งเป้ามายังรัสเซีย อีกทั้ง แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธชนิดใหม่ๆของสหรัฐและพันธมิตร ประธานาธิบดีรัสเซียยังกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องที่ “ไร้สาระ” มากเมื่อสหรัฐเรียกร้องสิทธิ์ในการตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ในรัสเซีย ในขณะที่นาโต้กำลังช่วยเหลือยูเครนโจมตีสถานที่เหล่านี้ของรัสเซีย โดยผู้นำรัสเซียได้กล่าวถึงการที่สนามบิน Engels ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโคว์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 730 กิโลเมตร ซึ่งเป็นฐานประจำการของเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียถูกโจมตีเมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 ที่เขาถือว่าฝ่ายยูเครนเป็นผู้ลงมือ
เพื่ออธิบายให้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ในการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการลดอาวุธ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย Sergei Ryabkov ได้ระบุว่า สหรัฐให้การสนับสนุนยูเครนโจมตีสถานที่เชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย และสถานการณ์ได้เลวร้ายมากขึ้นหลังจากที่สหรัฐพยายามตรวจสอบสถานที่เชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซียตามที่ระบุในสนธิสัญญา New START ผ่านการสนับสนุนยูเครนโจมตีสถานที่เหล่านี้ ดังนั้นรัสเซียไม่มีทางเลือกนอกจากการระงับสนธิสัญญานี้ นาย Ryabkov ยังออกคำเตือนว่า การที่สหรัฐและพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการเผชิญหน้าทางอาวุธอาจนำไปสู่การปะทะทางทหารโดยตรงระหว่างประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์และสิ่งนี้จะสร้างผลเสียหายที่ร้ายแรง
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มหรือ SIPRI รัสเซียและสหรัฐกำลังครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ร้อยละ 90 ของโลก โดยนับจนถึงต้นปี2022 รัสเซียมีหัวรบ 5,977 หัวโดยมีหัวรบกว่า 1,600 หัวที่พร้อมใช้งาน ส่วนสหรัฐมีหัวรบ 5,428 หัว โดยมีหัวรบ 1,750 หัวพร้อมใช้งาน
บรรดานักวิเคราะห์ของรัสเซียแสดงความเห็นว่า การประกาศระงับการเข้าร่วม New STARTของมอสโคว์ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนเพื่อชี้ให้นาโต้ โดยเฉพาะสหรัฐเข้าใจว่า รัสเซียพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ ก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ประกาศว่า จะไม่หารือเกี่ยวกับสนธิสัญญา New START กับสหรัฐจนกว่าทางวอชิงตันจะยุติการสนับสนุนอาวุธให้แก่ทางการเคียฟ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย Sergei Ryabkov (Tass) |
โลกแสดงความวิตกกังวล
บรรดาผู้สังเกตการณ์แสดงความวิตกกังวลว่า การระงับ New START จะทำให้รัสเซียและสหรัฐ ไม่มีกรอบทางนิตินัยที่มั่นคงเพื่อควบคุมการพัฒนานิวเคลียร์ระหว่างกันต่อไป ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธครั้งใหม่ควบคู่กับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งทำลายผลงานของสนธิสัญญานิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐในตลอดกว่า 5 ทศวรรษที่มีผลบังคับใช้ ก่อนหน้านั้น สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางหรือ INF ได้ถูกปฏิเสธโดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำให้ New START กลายเป็นกลไกเดียวที่ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างกัน
ตามความเห็นของนาย William Alberque ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ เทคโนโลยีและการควบคุมอาวุธของสถาบันเพื่อการวิจัยยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศการยุติสนธิสัญญา New START ยังหมายความว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า โดยทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์จาก 1,550 หัวในปัจจุบันเป็น 4,000 หัวภายในเวลาชั่วข้ามคืน
ส่วนนาย James Cameron นักวิจัยของโครงการนิวเคลียร์ออสโลกล่าวว่า การระงับ New START จะเป็นการกลับไปสู่ยุคสงครามเย็น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้หัวรบนิวเคลียร์
ถึงแม้จะประกาศระงับการเข้าร่วมสนธิสัญญา New START แต่รัสเซียยังยืนยันว่า ยังคงยึดมั่นปฏิบัติตามขีดจำกัดด้านจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ รวมทั้งยังระบุชัดเจนว่า จะไม่ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า ยังมีโอกาสเพื่อทำการเจรจา กับทั้งสหรัฐและฝ่ายตะวันตก แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ระหว่างประเทศ การฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างรัสเซียกับสหรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย.