การคาดการณ์ในเชิงลบของสถานการณ์โลกในปีนี้

Quang Dung
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ในช่วงต้นปีนี้  ได้มีการคาดการณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับบรรยากาศความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความผันผวนทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อไป
การคาดการณ์ในเชิงลบของสถานการณ์โลกในปีนี้ - ảnh 1ปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ( CCO)

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ฟอรั่มเศรษฐกิจโลกหรือ WEF ได้ประกาศ “รายงานความเสี่ยงทั่วโลกปี 2024” โดยกล่าวถึงภัยคุกคามต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งภัยคุกคามรูปแบบใหม่อันดับหนึ่ง

ปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ

เพื่อจัดทำรายงานความเสี่ยงทั่วโลกประจำปีนี้ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว WEF ได้ประสานกับกลุ่มบริษัทประกันภัย Zurich เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยความเสี่ยง  ผู้จัดทำนโยบายและผู้นำทั่วโลกกว่า 1,400 คน ในด้านที่น่ากังวลที่สุดในโลก ซึ่งปรากฎว่า “ข่าวปลอมและข่าวเท็จที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์” ติดอันดับ 1 ใน 10 ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดที่โลกต้องเผชิญในปีนี้ นาง Saadia Zahidi ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ WEF เผยว่า

“ดิฉันคิดว่า เราเข้าสู่ปีนี้ด้วยการมองโลกในแง่ร้าย ในภาพรวม 2-10 ปีข้างหน้า สถานการณ์จะค่อยๆ แย่ลง โดยเฉพาะเมื่อมองในอีก 2 ปีข้างหน้า ข่าวปลอมและข่าวเท็จจากปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุด”

ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญของ WEF  การที่ “ข่าวปลอม และข่าวเท็จที่เกิดจาก AI” ซึ่งถูกระบุเป็นความเสี่ยงอันดับแรกๆนั้นมาจากการที่เทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีบทบาทในทุกด้านของชีวิตการเมืองและสังคมของโลก นอกจากนี้ ในปีนี้ ประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 3 พันล้านคนหรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 50ของประชากรหลายประเทศทั่วโลกเช่น สหรัฐ รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโกและสหภาพยุโรป จะต้องออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งสำคัญ ดังนั้น ความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและบิดเบือนผลการเลือกตั้งจึงอยู่ในระดับสูงมาก นาง Carolina Klint หัวหน้าฝ่ายการค้ายุโรปของบริษัทที่ปรึกษา Marsh McLennan และผู้ร่วมเขียนรายงานเผยว่า AI สามารถจัดทำรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากในลักษณะที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจส่งผลต่อกลไกการบริหารจากการเลือกตั้งจนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความไร้เสถียรภาพการจลาจล ตลอดจนสงครามกลางเมือง

ปัญหาที่เป็นความเสี่ยงต้องสนใจรองจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI เช่น สภาพอากาศสุดขั้ว การแบ่งขั้วในสังคม การปะทะระหว่างประเทศต่างๆ ความไม่ปลอดภัยของโลกไซเบอร์ การขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การอพยพ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและมลภาวะเป็นความเสี่ยงที่ WEF ประเมินว่า จะสร้างภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อบรรยากาศสันติภาพ เสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากสถานการณ์ดังกล่าว นาย บอร์จ เบรนเด ประธาน WEF แสดงความเห็นว่า ยิ่งกว่าเวลาใดทั้งหมด โลกต้องเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยก่อนอื่นคือฟอรั่มเศรษฐกิจโลกประจำปีของ WEF ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“เราสามารถเห็นได้ว่า ความร่วมมือในโลกได้ลดลงตั้งแต่ปี 2016 และจนถึงปี 2020 ก็ลดลงเป็นอย่างมาก จำนวนผู้ที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนทุกปีเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านคนเป็น 110 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว เรายังเห็นถึงการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าด้วย ดังนั้น เราจึงเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญมา ณ เมืองดาวอส เพื่อแสวงหาโอกาสร่วมมือในสภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในปัจจุบัน"

การคาดการณ์ในเชิงลบของสถานการณ์โลกในปีนี้ - ảnh 2 นาย บอร์จ เบรนเด ประธาน WEF (AFP)

การคาดการณ์ในแง่ร้าย

“รายงานความเสี่ยงทั่วโลก” ที่ WEF เพิ่งเผยแพร่ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของความระมัดระวังและการมองโลกในแง่ร้ายในการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกที่องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งได้เผยแพร่ในช่วงต้นปีนี้ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 4 มกราคม สหประชาชาติได้ประกาศรายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2024” โดยระบุว่า การค้าโลกถดถอย ต้นทุนการกู้ยืมและปัญหาหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลกในปีนี้

ตามรายงานของสหประชาชาติ คาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.4 เท่านั้น ลดลงร้อยละ 2.7  เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เศรษฐกิจสำคัญๆ เช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรปหรือ EU และญี่ปุ่นต่างได้รับการคาดการณ์ว่า จะบรรลุเป้าหมายได้ไม่มากนัก โดยการขยายตัวของสหรัฐ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4  เท่านั้น ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5 โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ก็ได้รับการคาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตที่ยากลำบาก เนื่องจากการเงินที่หดตัวและอุปสงค์ภายนอกที่ซบเซา ในภาพรวม สหประชาชาติประเมินว่า โลกจะต้องพยายามเป็นอย่างมากเพื่อกลับไปสู่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 3 เหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

เช่นเดียวกับความเห็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม ธนาคารโลกหรือ WB คาดการณ์ว่า การเติบโตทั่วโลกในปีนี้จะชะลอตัวลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน นาย Ayhan Kose รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ WB เผยว่า

“เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวถึงแม้จะต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่การชะลอตัวของการเติบโตทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป ปีนี้เป็นปีที่ 3 ของการชะลอตัว เราคาดการณ์ว่า การเติบโตทั่วโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 โดยเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 2.6 นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมาย”

ตามรายงานของธนาคารโลก ถ้าหากไม่นับรวมการลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการเติบโตของปีนี้ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009 ด้วยอัตราการเติบโตนี้ โลกจะไม่สามารถนำพาประชากรที่นับวันเพิ่มขึ้นหลุดพ้นจากความยากจน เพราะตามการคาดการณ์นั้นในปลายปีนี้ ผู้คนประมาณ 1 ใน 4 ในประเทศกำลังพัฒนาและคิดเป็นร้อยละ 40 ในประเทศที่มีรายได้ต่ำจะมีสภาพยากจนกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19.

คำติชม