จิตรกรหวูท้ายบิ่งกับการวาดภาพบนกระดาษสา

Ngọc Ngà
Chia sẻ
(VOVWORLD) -  ในวิชาศิลปะ กระดาษสาเป็นวัสดุสำหรับทำภาพพิมพ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของเวียดนามคือภาพห่างจ๊งและภาพดงโห่ ส่วนการวาดภาพบนกระดาษสานั้นต้องใช้เทคนิคชั้นสูง มิใช่ศิลปินคนไหนก็สามารถวาดได้ จิตรกรหวูท้ายบิ่งได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่การวาดภาพบนกระดาษสาจนประสบผลสำเร็จในการวาดภาพชนิดนี้
จิตรกรหวูท้ายบิ่งกับการวาดภาพบนกระดาษสา - ảnh 1ผลงานของจิตรกรหวูท้ายบิ่งในนิทรรศการ “สีสันกระดาษสา 2”เมื่อปี 2018 (dangcongsan.vn)

จิตรกรหวูท้ายบิ่ง เกิดเมื่อปี 1976 ที่จังหวัดฮึงเอียน เป็นที่รู้จักในวงการวิจิตรศิลป์จากการวาดภาพบนกระดาษสา  โดยปรกติจิตรกรหวูท้ายบิ่งก็วาดภาพบนวัสดุต่างๆ แต่เมื่อได้ลองวาดภาพบนกระดาษสาเมื่อปี 2013 ก็รู้สึกชอบมาก และได้จัดนิทรรศการ “สีสันกระดาษสา 1”เมื่อปี 2016  นิทรรศการ “สีสันกระดาษสา 2”เมื่อปี 2018 ณ กรุงฮานอย และมีแผนจัดนิทรรศการ “สีสันกระดาษสา 3”ในปี 2021 โดยได้รับการชื่นชมจากผู้ที่รักศิลปะ โดยเฉพาะภาพของจิตรกรหวูท้ายบิ่งได้เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐ แคนาดา ไทยและญี่ปุ่น เป็นต้น

กระดาษสาเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ มีลักษณะที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับกระดาษชนิดอื่นๆคือ มีความเหนียวนุ่ม ไม่เลอะเทอะเวลาเขียน และสามารถเก็บได้นานจึงถูกใช้สำหรับเขียนอักษร คำกลอน ทำภาพพิมพ์พื้นบ้าน ตลอดจนใช้เป็นเอกสารบันทึกพระธรรมคำสอนและเขียนพระบรมราชโองการของกษัตริย์ในสมัยศักดินา ส่วนอาชีพทำกระดาษสานั้นมีอายุยาวนานหลายพันปี จิตรกรหวูท้ายบิ่งได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่การวาดภาพบนกระดาษสา โดยแม้ในตอนแรกจะวาดไม่สวย แต่เขาก็ไม่ท้อใจ ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือวิธีการใช้พู่กันวาดบนกระดาษอย่างถูกต้อง โดยต้องมีสมาธิ ใช้ความอดทนและความรอบคอบในการวาดรูป จิตรกรหวูท้ายบิ่งได้เผยว่า“การวาดภาพบนกระดาษสาเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะก่อนหน้านี้กระดาษสาถูกใช้บันทึกเอกสาร แต่ต่อมา ได้ถูกใช้พิมพ์ภาพพื้นเมือง เช่น ภาพห่างจ๊งและภาพดงโห่ ผมอยากให้กระดาษสาถูกใช้ในขอบเขตที่กว้างขึ้นอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และมีความประสงค์ว่า จะอนุรักษ์กระดาษสา กระดาษสามีความเรียบง่าย ผมชอบวาดภาพบนกระดาษสามากเพราะรู้สึกมีความสุข นอกจากนี้ ผมอยากอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองและวัสดุพื้นเมืองนั่นคือกระดาษสา”

จิตรกรหวูท้ายบิ่งกับการวาดภาพบนกระดาษสา - ảnh 2 จิตรกรหวูท้ายบิ่ง

จิตรกรหวูท้ายบิ่งได้ศึกษาเทคนิคและลักษณะที่โดดเด่นของกระดาษสา โดยการวาดภาพบนกระดาษสานั้น ไม่ต้องใช้แรงเยอะ แต่ต้องใช้ความนุ่มนวลและความรอบคอบ จิตรกรหวูท้ายบิ่งมักจะวาดรูปขนาดใหญ่เกี่ยวกับทิวทัศน์ธรรมชาติ วัตถุสิ่งของ บุคคล สัตว์ หมู่บ้านชนบท เป็นต้น มีผลงานต่างๆทั้งในแนวอิมเพรสชันนิสม์  สัจจนิยมและลัทธิศิลปะเหนือจริง เช่น ผลงาน “ตอนเที่ยง” “บ้านเกิดของฉัน” “รอเธอ” “กาลเวลา” “คุณป้าเถิ่น” “สาวยาวด๋อ” สถาปนิกดว่านวันต๊วนได้เผยว่า“ผลงานของจิตรกรหวูท้ายบิ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้เทคนิคและศิลปะชั้นสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่วิชาสถาปัตยกรรมไม่สามารถสอนได้  การใช้วัสดุที่เรียบง่ายและฝีมือของจิตรกรทำให้ภาพวาดบนกระดาษสามีความสวยงามมากขึ้น”

จิตรกรหวูท้ายบิ่งได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่การวิจัยและทดลองการวาดภาพบนกระดาษสาด้วยวิธีต่างๆแล้วเห็นว่า การวาดรูปบนกระดาษสาที่เปียกน้ำหมาดๆจะง่ายกว่ากระดาษสาที่เพิ่งทำเสร็จเพราะมีความเหนียวนุ่มมากกว่า ส่วนจิตรกรมิงเฟืองได้ประเมินว่า“กระดาษสามีความบางมาก ถ้าขาดความชำนาญก็จะไม่สามารถวาดรูปได้ ต้องใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังสูง การวาดภาพบนกระดาษสาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้อย่างเต็มที่ มีความสวยงามและคงทน โดยสามารถเก็บได้นานถึง 50ปี”

เมื่อชมภาพวาดของจิตรกรหวูท้ายบิ่ง ผู้ชมก็สามารถเห็นได้ถึงการทำงานศิลปะที่ไม่มีข้อจำกัด โดยการชมภาพวาดของจิตรกรหวูท้ายบิ่งเปรียบเสมือนการได้ฟังบทเพลงเบาๆและไพเราะ ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกมีพลังชีวิต ซึ่งไม่ใช่ศิลปินคนไหนจะทำได้ ทั้งนี้ จิตรกรหวูท้ายบิ่งได้พัฒนาภาพวาดบนกระดาษสา โดยไม่เพียงแต่เป็นภาพวาดที่มีสีสันสวยสดงดงามเท่านั้น หากยังบรรยายถึงการดำเนินชีวิตและจิตใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้งอีกด้วย.

คำติชม