หนังสือเรื่อง“Dến mèn phiêu lưu ký” หรือ “ จิ้งหรีดท่องโลกกว้าง”ถูกพิมพ์จำหน่ายในประเทศจีน |
ตั้งแต่ช่วงปี 1960 ผลงาน Ngục trung nhật ký หรือ “บันทึกในเรือนจำ”ของประธานโฮจิมินห์ได้ถูกแปลเป็นหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและสเปน เป็นต้น ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังมีผู้อ่านหลายคนที่ชื่นชอบหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งมีนักแปลหลายคนทำการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ ส่วนหนังสือเรื่อง“Dến mèn phiêu lưu ký” ที่มีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้วชื่อว่า “ จิ้งหรีดท่องโลกกว้าง”ของนักเขียนโตหว่ายเป็นหนังสือที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุด โดยได้ออกสู่สายตาผู้อ่านในกว่า 40 ประเทศและดินแดน ซึ่งหนังสือเรื่อง“บันทึกในเรือนจำ”และ“ จิ้งหรีดท่องโลกกว้าง”เป็น 2 ผลงานวรรณกรรมดีเด่นของเวียดนามที่สำนักพิมพ์ต่างชาติซื้อลิขสิทธิ์เพื่อแปลและพิมพ์จำหน่ายในประเทศนั้นๆ วรรณกรรมและภาษาเวียดนามยังเป็นที่รู้จักในประเทศต่างๆผ่านศิลปะการใช้ภาษาที่มีความสละสลวย โดยเฉพาะผลงานวรรณกรรมของนักเขียนในอดีต เช่น เหงวียนจ๊าย โห่ซวนเฮือง กาวบ๊าก๊วดและเหงวียนเควี้ยน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานต่างๆที่ได้รับการเผยแพร่แล้วนั้นนับว่า มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผลงานวรรณกรรมเวียดนามที่มีจำนวนมหาศาล กวีเหงวียนกวางเถี่ยว รองเลขาธิการคนที่หนึ่งสมาคมนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาและรองประธานสมาคมนักเขียนเวียดนามได้เผยว่า “วรรณกรรมเวียดนามยังพัฒนาไม่มากพอเพื่อดึงดูดความสนใจจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆในโลกให้ซื้อลิขสิทธิ์ แปลและตีพิมพ์ แต่พวกเราสามารถประชาสัมพันธ์ผลงานวรรณกรรมเวียดนามผ่านการแปลหนังสือต่างๆด้วยตนเองเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นสำหรับผู้อ่านต่างประเทศ ในหลายปีมานี้ นักเขียนเวียดนามหลายคนได้รับรางวัลวรรณกรรมต่างๆผ่านการนำผลงานของตนไปแปลเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การแปลหนังสือเวียดนามเป็นภาษาต่างประเทศให้ชาวต่างชาติได้อ่านจะช่วยให้ผลงานวรรณกรรมเวียดนามสามารถเข้าถึงสำนักพิมพ์ใหญ่ๆในโลกและผู้อ่านต่างชาติได้สะดวกมากขึ้น”
อีนที่จริง วรรณกรรมเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างวัฒนธรรม ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของหลายชาติ โดยประชาชนเวียดนามได้รู้จักกับวัฒนธรรมของประเทศต่างๆผ่านผลงานวรรณกรรมชื่อดังของรัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี จีนและสหรัฐ เป็นต้น ส่วนในทางกลับกัน วรรณกรรมเวียดนามก็เป็นที่รู้จักของประชาชนประเทศต่างๆผ่านผลงานวรรณกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะผลงานวรรณกรรมในยุคสงคราม นาย เหงวียนกวางเถี่ยวได้เผยต่อไปว่า “เวียดนามก็มีผลงานวรรณกรรมที่ดีเด่นมากมาย โดยหลังปี 1975 มีผลงานวรรณกรรมบางผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆเพราะมีความแตกต่างจากผลงานวรรณกรรมเวียดนามในช่วงสงครามและช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ แต่หลังจากสงครามยุติลงเมื่อเกือบ 50ปีที่ผ่านมา ก็มีชาวต่างชาติให้ความสนใจเวียดนามมากขึ้น โดยต้องการศึกษาผลงานเกี่ยวกับชีวิตประจำวันในเขตชนบท เยาวชนและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเวียดนาม”
วรรณกรรมเวียดนามมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่และการเผยแพร่ผลงานวรรณกรรมเวียดนามในต่างประเทศคือความปรารถนาอันแรงกล้าของวงการวรรณกรรมเวียดนาม ซึ่งเพื่อขยายการผสมผสานด้านวัฒนธรรม รวมถึงวรรณกรรมและศิลปะระหว่างเวียดนามกับประเทศต่างๆ กระทรวงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ได้จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์สิ่งพิมพ์เวียดนามในต่างประเทศระยะปี 2016-2020 โดยตั้งเป้าหมายว่า จะแนะนำเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนามให้แก่เพื่อนมิตรชาวต่างชาติผ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆและยืนยันถึงลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผลงานวรรณกรรมเวียดนาม
หนังสือเรื่อง “Mắt biếc” ของนักเขียนเหงวียนเหยิจแอ๊งถูกแปลและพิมพ์จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2003. (tuoitre.vn) |
ในหลายปีมานี้ จากความพยายามของนักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆได้ทำให้มีการแนะนำผลงานวรรณกรรมเวียดนามสู่สายตาผู้อ่านในต่างประเทศมากขึ้น โดยนอกจากนักเขียนในยุคก่อน ผู้อ่านต่างชาติก็รู้จักนักเขียนที่มีชื่อเสียงของเวียดนามในยุคปัจจุบัน เช่น บ๋าวนิง เหงวียนฮวีเถียบ เหงวียนเหญิตแอ๊ง โห่แองท้าย ฟานถิหว่างแอง เหงวียนหงอกตือและเหงวียนหงอกถ่วน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง“Cho tôi xin một vé đi tuổi thơ” ของนักเขียนเหงวียนเหญิตแอ๊งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ“ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก”เมื่อปี 2011โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์และพิมพ์จำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อปี 2013 โดยสำนักพิมพ์ Dasan Books ต่อมาเมื่อปี 2014 ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่สู่ผู้อ่านในประเทศสหรัฐผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท Amazon ส่วนกวีมายวันเฟิ้นก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเนื่องจากมีหนังสือ 5 เรื่องที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษซื้อลิขสิทธิ์เพื่อแปลและจำหน่ายในประเทศต่างๆ ซึ่งหนังสือดังกล่าวติดหนึ่งใน100หนังสือเอเชียที่ขายดีที่สุดบนเว็บไซต์ Amazon กวีเหงวียนกวางเถี่ยวได้เผยว่า “ในหลายปีมานี้ การแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆระหว่างเวียดนามกับต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยประเทศต่างๆต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ซึ่งก่อนที่จะเรียนรู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจและความร่วมมือในด้านอื่นๆ พวกเขาได้ศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมและวรรณกรรมเวียดนามเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ทัศนะ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นฐานให้แก่ความร่วมมือในอนาคต ดังนั้น พวกเราควรมียุทธศาสตร์และแนวทางรวบรวมผลงานต่างๆเพื่อคัดเลือกและเผยแพร่ผลงานวรรณกรรมที่ดีเด่นต่อเพื่อนมิตรชาวต่างชาติ”
ในหลายปีมานี้ สมาคมนักเขียนเวียดนามได้ปฏิบัติกิจกรรมเผยแพร่และแนะนำผลงานวรรณกรรมเวียดนามในต่างประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมและวรรณกรรมเวียดนามเพื่อช่วยให้นักประพันธ์และผลงานวรรณกรรมเวียดนามเป็นที่รู้จักของผู้อ่านชาวต่างชาติมากขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า การมุ่งสู่เป้าหมายส่งเสริมเผยแพร่ผลงานวรรณกรรมเวียดนามในต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักเขียน กวี สำนักพิมพ์และนักแปลเพื่อให้วรรณกรรมเวียดนามประสบความสำเร็จในการผสมผสานเข้ากับกระแสโลก.