(VOVworld) - เมคคาทรอนิกส์ เป็นสหวิทยาการเชิงประยุกต์ที่นำเทคโนโลยีในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบและการควบคุม และเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม สาขาเมคคาทรอนิกส์ได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นเวลาแค่ 10 ปีเท่านั้น แต่แนวโน้มการฝึกอบรมอาชีพแขนงนี้นับวันเพิ่มมากขึ้น โดยนอกเหนือจากเยาวชนไทยแล้ว วิศวกรและช่างเทคนิคจากสาขาอื่นๆ เช่น เครื่องจักรกล ไฟฟ้า และรถยนต์ก็หันมาเรียนสาขานี้มากขึ้น เพราะเมคคาทรอนิกส์เป็นสาขาที่ขาดไม่ได้ในโรงงานอุตสาหกรรมในขณะที่ไทยกำลังมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1 แสน 4 หมื่นแห่ง
คุณ ศักพงศ์ หมื่นแสน และเพื่อนของเขาในการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน สาขาเมคคาทรอนิกส์ ที่จัดขึ้น ณ ประเทศเวียดนามเมื่อเดือนตุลาคมปี 2014
|
คุณ ศักพงศ์ หมื่นแสน นักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาภาคพายัพ เชียงใหม่ กำลังเรียนสาขาเมคคาทรอนิกส์นานกว่า 1 ปี โดยฝึกงานในภาคคํ่าหลังเลิกเรียนตั้งแต่เวลา 21.00น. ถึงช่วงเที่ยงคืนทุกวัน ทีมของเขามี 2 คน โดยศักพงศ์จะรับผิดชอบการประกอบอุปกรณ์ที่นำเข้าจากบริษัทเฟสโต ประเทศเยอรมนี ส่วนเพื่อนของเขาจะเขียนโปรแกรมเพื่อให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้ คุณ ศักพงศ์ หมื่นแสน เป็นหนึ่งในนักศึกษาหลายร้อยคนที่กำลังเรียนสาขาเมคคาทรอนิกส์เป็นเวลา 3- 4 ปีใน 16 มหาวิทยาลัยของไทย คุณ ศักาพงศ์ หมื่นแสน คุยกับพวกเราว่า “อาจารย์จะเป็นคนแนะนำก่อนว่า ทำยังไง เราก็อ่านคู่มือดูว่า มันจะทำยังไง ใช้ยังไง คู่มือเป็นภาษาอังกฤษเพราะว่าเป็นเทคโนโลยีจากเยอรมนี แล้วก็ศึกษาเพิ่มเติมจากวีดีโอในยูทูป สำหรับการฝึกอบรมสาขานี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีพนักงานจากบริษัทต่างๆ เช่น เอสซีจี ปูนซีเมนต์ ก็มาอบรมด้วยและฝึกอบรมทุกปีครับ”
ทีมไทยได้รับเหรียญทองสาขาเมคคาทรอนิกส์ในการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนครั้งที่ 10 ณ ประเทศเวียดนาม
|
ในเวลาที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสังกัดกระทรวงแรงงานไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในไทยได้เน้นส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศเปิดการเรียนการสอนสาขาเมคคาทรอนิกส์และฝึกอบรมให้แก่วิศวกรและช่างเทคนิคจากโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งทำการทดสอบฝีมือแรงงานในสาขานี้ตามมาตรฐานสากล นาย โกเมศ ปิยะพันธุ์ นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค12 จังหวัดสงขลา สังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่สอนสาขา เมคคาทรอนิกส์มาเป็นเวลา 15 ปี เล่าให้ฟังว่า “เราฝึกของจริงที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นี่คือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทักษะของเยาวชน ดังนั้นเราใช้อุปกรณ์จริงในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดมาฝึกอบรมให้แก่เยาวชน”
ปัจจุบัน การฝึกสอนอาชีพสาขาเมคคาทรอนิกส์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและมีการประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้กล่าวว่า “เราก็ได้รับการสนับสนุนดีค่ะ ทั้งงบประมาณในการฝึก อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน สำหรับสาขาเมคคาทรอนิกส์นั้น เป็นสาขาที่ต้องใช้ความสามารถและการทำงานเป็นทีมเนื่องจากทั้งทีม 2 คนต้องมีความสามารถที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การวางแผนและการประสานเป็นทีมนั้น เราคิดว่า สำคัญมาก”
นาย โกเมศ ปิยะพันธุ์ (ขวาสุด)กำลังแนะนำเกี่ยวกับศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูง ให้แก่นายกรีฑา สพโชค รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
|
เพื่อเพิ่มคุณภาพในการสอนอาชีพสาขาเมคคาทรอนิกส์ นอกเหนือจากการนำเข้าอุปกรณ์จากเยอรมนีแล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไทยยังให้ความสนใจต่อการฝึกอบรมของคณะครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยครูอาจารย์จะได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญเยอรมัน นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังส่งอาจารย์ไปเรียนเกี่ยวกับสาขาเมคคาทรอนิกส์ในญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 ปี เกี่ยวกับความต้องการแรงงานสาขาเมคคาทรอนิกส์ในไทย นาย โกเมศ ปิยะพันธุ์ ได้ประเมินว่า “ อีกไม่กี่เดือน เราจะเข้าสู่อาเซียน เพราะฉะนั้น การเคลื่อนย้ายในงานทักษะฝีมือ การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตก็จะมีความต้องการมาก โดยเฉพาะแรงงานทักษะฝีมือของไทยใน 10 ประเทศสมาชิกกก็ต้องการสูงมาก ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็เพิ่มฐานผลิตในประเทศไทยมากขึ้น เพาระฉะนั้น เราก็ต้องเร่งพัฒนาเยาวชนให้หันเข้ามาเรียนสาขาเมคคาทรอนิกส์ให้มากขึ้น”
นาย โกเมศ ปิยะพันธุ์ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้ระบบเมคคาทรอนิกส์ในกลุ่มอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกือบทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์และกัมพูชา จะใช้ระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ตามแนวโน้มการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของโลก./.