เพื่อให้ภาษาเวียดนามได้รับการเผยแพร่ในประเทศไทย

Nguyen Yen
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ตามการประเมินของคณะกรรมการแห่งชาติเกี่ยวกับชาวเวียดนามโพ้นทะเลของกระทรวงการต่างประเทศ ในหลายปีมานี้ ความต้องการเรียนภาษาเวียดนามและการพัฒนาภาษาเวียดนามในชุมชนชาวเวียดนามโพ้นทะเลอยู่ในระดับที่สูงมาก ด้วยแนวคิดว่า "ภาษาเวียดนามยังคงอยู่ คนเวียดนามยังคงอยู่" ขบวนการเรียนการสอนภาษาเวียดนามในชุมชนชาวเวียดนามในประเทศไทยได้รับการขานรับอย่างเข้มแข็ง นอกจากนั้น ปัจจุบัน ภาษาเวียดนามถือเป็นภาษาต่างประเทศที่มีการสอนในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทย ในรายการชายคาอาเซียนวันนี้ ขอเชิญท่านผู้ฟังร่วมกับผู้สื่อข่าวของสถานีวิทยุเวียดนามศึกษาค้นคว้าการเรียนการสอนภาษาเวียดนามในจังหวัดนครพนม ประเทศไทย
 
 
เพื่อให้ภาษาเวียดนามได้รับการเผยแพร่ในประเทศไทย - ảnh 1ชั้นเรียนภาษาเวียดนามที่บ้านคุณ หั่ง

ทุกสัปดาห์ ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่บ้านคุณ หั่ง  ในจังหวัดนครพนมแสงไฟเปิดสว่างตลอดทั้งวัน เพราะว่ามีลูกหลานชาวเวียดนามกว่าสิบคน โดยเฉพาะมีหลายคนอยู่ในครอบครัวเดียวกันเช่นนาย เลิมวันดึ๊กและลูกๆที่มาเรียนภาษาเวียดนาม ซึ่งทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเวียดนามและช่วยให้ลูกหลานมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับรากเหง้าของตน

“ผมมีลูกชาย 3 คนที่กำลังเรียนอยู่ที่นี่ พ่อกับลูกเรียนชั้นเดียวกัน เรียนสัปดาห์ละสองวันคือวันเสาร์และวันอาทิตย์ เรียนตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึงเวลา 20.00 น. ตอนเด็กๆ ผมเรียนภาษาเวียดนามจนถึง ป.2 แต่พอนานเข้าก็ลืม ลูกๆ 3 คนของผมเรียนที่นี่เป็นเวลา 4 เดือนแล้ว ที่บ้านพูดทั้งภาษาไทยและภาษาเวียดนาม คุณปู่อายุ 75 ปีและคุณย่าอายุ 67 ปี คุณปู่คุณย่ทำสวน ผมกำลังทำการค้า ผมคิดว่า ผมเป็นชาวเวียดนามโพ้นทะเล ถ้าผมไม่ได้เรียนภาษาเวียดนาม ไม่ช่วยให้ลูกๆได้เรียนภาษาเวียดนาม ก็กลัวว่า ในอนาคต พวกเขาก็จะลืมภาษาเวียดนามซึ่งเป็นภาษาของปู่ย่าตายายไปหมด เลยอยากให้ลูกๆ มาเรียนที่นี่ ตั้งใจเรียน ไม่ปล่อยให้ภาษาเวียดนามหายไป”

“ผมชื่อ เหงียนแถ่งจุง ชื่อไทยคือ สุรัส ผมอยู่ในหมู่บ้านป่า คนไทยก็เรียนภาษาเวียดนามและรู้ภาษาเวียดนาม เด็กในหมู่บ้านพูดภาษาเวียดนามไม่เก่ง ผมเข้าร่วมสมาคมและก่อสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านป่าเพื่อให้ลูกหลานเรียนภาษาเวียดนาม เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีมาที่นี่ ท่านยังบอกด้วยว่า ภาษาเวียดนามยังอยู่ ประเทศเวียดนามเรายังคงอยู่ ผมเรียนภาษาเวียดนามตั้งแต่ตอนอายุ 5-6 ขวบโดยคุณยายสอนให้ ปีนี้ ผมอายุ 46 ปี ไม่ได้ใช้ภาษาเวียดนามมากว่า 20 ปี การเรียนภาษาเวียดนามช่วยให้ผมคุยกับชาวบ้านและคนแก่ในหมู่บ้านได้”

เพื่อให้ภาษาเวียดนามได้รับการเผยแพร่ในประเทศไทย - ảnh 2นาย เลิมวันดึ๊กกับลูกชาย 3 คนไปเรียนภาษาเวียดนาม

นี่เป็นชั้นเรียนภาษาเวียดนามฟรีที่สอนโดยอดีตครูชาวเวียดนามโพ้นทะเลซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมชาวเวียดนามในจังหวัดนครพนม อาจารย์ ฝ่ามวันเสา หนึ่งในครูที่สอนในชั้นเรียนเผยว่า

“ตั้งแต่ปี 1975 ผมเป็นครูมากว่า 10 ปี ภายหลังปี 1976 พบว่าลูกหลานชาวเวียดนามไม่รู้จักภาษาเวียดนาม รุ่นที่สามไม่รู้จักภาษาเวียดนามเลย เราจึงหารือกับสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสมาคมชาวเวียดนามในจังหวัดนครพนมเพื่อช่วยให้เด็กๆ รู้จักภาษาเวียดนามและเข้าใจภาษาเวียดนาม โดยก่อนอื่นคือการขอสถานที่เรียน ชั้นประถมศึกษาตั้งอยู่ที่บ้านของคุณ หั่ง คุณ หั่ง ให้ยืมสถานที่ฟรี โต๊ะและเก้าอี้ได้รับการสนับสนุนจากคุณ ตุ่ง เราสนับสนุนหนังสือและปากกา ชั้นเรียนมีขนมให้เด็กๆ  ตอนนี้ไม่เพียงแต่มีเด็กเวียดนามมาเรียนเท่านั้น หากเด็กไทยก็มาเรียนด้วย ถึงแม้จะเหนื่อย แต่เมื่อเห็นรอยยิ้มของเด็กๆก็ลืมความเหนื่อยไปหมด”

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชาวเวียดนามอยู่อาศัยและศึกษาเป็นจำนวนมาก มีหลายครอบครัวชาวเวียดนามที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นรุ่นที่ 3 - 4 ดังนั้น การสอนภาษาเวียดนามให้แก่ชาวเวียดนามในประเทศไทยจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ชั้นเรียนภาษาเวียดนามเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นชั้นเรียนจิตอาสาโดยสมาชิกของสมาคมไทย - เวียดนามที่สอนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ โรงเรียนสอนภาษาเวียดนามยังได้รับการสนับสนุนโต๊ะ เก้าอี้และสถานที่เรียน โดยจากสมาคมนักธุรกิจและสมาคมชาวเวียดนามในประเทศไทย จึงทำให้ชั้นเรียนดึงดูดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้มาเรียน นอกจากนั้น การเรียนภาษาเวียดนามยังถือเป็นวิชาภาษาต่างประเทศภาคบังคับในโครงการการศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย นาย จารุน พิทักษ์พงษ์ เจ้าหน้าที่ดูแลการศึกษาของจ.นครพนม กล่าวว่า

“นี่คือนโยบายร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับเวียดนาม รวมทั้งการก่อตั้งศูนย์มิตรภาพนครพนม-ฮานอยเพื่อให้เด็กๆและประชาชนที่สนใจภาษาเวียดนามสามารถมาเรียนที่นี่ เราเป็นสมาชิกอาเซียน โครงการร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งภาษาช่วยส่งเสริมการพบปะสังสรรค์และการแลกเปลี่ยนผ่านชายแดน”

เพื่อให้ภาษาเวียดนามได้รับการเผยแพร่ในประเทศไทย - ảnh 3ชั้นเรียนภาษาเวียดนามสำหรับผู้ใหญ่

โรงเรียนประถมศึกษานครพนมสอนภาษาเวียดนามเป็นเวลากว่า 10 ปี เมื่อประชาคมอาเซียนพัฒนา การเรียนภาษาเวียดนามกลายเป็นวิชาบังคับที่โรงเรียน ที่โรงเรียนประถมศึกษานครพนม นอกจากการสอนภาษาเวียดนามตามปกติแล้ว ครูยังสอนเพลงและการระบำรำฟ้อนเวียดนามอีกด้วย จัดให้มีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนามจึงปลุกเร้าความหลงใหลในภาษาเวียดนามและการเรียนรู้เกี่ยวกับเวียดนาม ครู จิ่งถิแทง ในโรงเรียนประถมศึกษานครพนมได้กล่าวว่า

“ดิฉันมีความประสงค์ว่า ลูกหลานชาวเวียดนามและชาวไทยรู้จักเวียดนามมากขึ้น จึงจะมีความรักประเทศชาติ วัฒนธรรมและภาษาเวียดนามมากขึ้น การสอนภาษาเวียดนามให้แก่เด็กยากมากเพราะเวลาการสอนสั้นเกินไป เนื่องจากมีเวลาเรียนที่จำกัด พวกเขาจึงพูดไม่เก่ง ที่บ้านพวกเขาไม่ได้ใช้ภาษาเวียดนาม ดังนั้น การใช้ภาษาเวียดนามของเด็กๆจึงมีจำกัด หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คนไทยจะสนใจและเรียนภาษาเวียดนามมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน การค้าและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

นาย เหงียนเจื่องที อุปนายกสมาคมไทย-เวียดนาม จังหวัดนครพนมที่ดูแลการศึกษาได้กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมมาเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ประชาคมอาเซียนพัฒนาและความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศได้พัฒนามากขึ้น ดังนั้น สมาคมจึงกลับมาสอนเด็กๆ และความต้องการเรียนภาษาเวียดนามในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"ไม่เพียงแต่ในชมรมชาวเวียดนามที่มีการส่งเสริมการเรียนาภาษาเวียดนามเท่านั้น หากชาวไทยก็สนใจเรียนภาษาเวียดนามเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเข้าสู่อาเซียน การแลกเปลี่ยนการเดินทางและการท่องเที่ยวก็เพิ่มมากขึ้น คนไทยหลายคนไปเรียนภาษาเวียดนาม เรายังถามพวกเขาว่าจะเรียนภาษาเวียดนามเพื่ออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่า เรียนเพื่อเดินทางไปเที่ยว เพราะตอนนี้การเดินทางสะดวก จากจังหวัดนครพนมไปยังจังหวัดกว๋างบิ่งห์มีระยะทาง 145 กม. สามารถกินอาหาร 3 มื้อในสามประเทศภายในหนึ่งวันได้ โดยมื้อ เช้าที่ไทย มื้อเที่ยงที่ลาว และมื้อเย็นที่เวียดนาม คนไทย หรือแม้แต่ข้าราชการก็ไปเรียน คนไทยกลับจากโรงเรียนที่เวียดนามก็มีงานทำทันที โรงเรียนในนครพนมเกือบ 23 แห่งสอนภาษาเวียดนาม” 

ปัจจุบัน นอกจากโรงเรียนที่สอนภาษาเวียดนามเป็นวิชาหลักแล้ว ในจังหวัดนครพนม ยังมีศูนย์มิตรภาพฮานอย - นครพนม จัดชั้นเรียนสอนภาษาเวียดนามให้แก่ชุมชนชาวเวียดนามและชาวไทยที่สนใจเรียนภาษาเวียดนามอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาษาเวียดนามนับวันได้รับความสนใจและพัฒนาในประเทศไทยมากขึ้น.

คำติชม