(VOVWorld)-สำหรับหมู่บ้านของชาวเวียดนาม สัญลักษณ์แห่งการปกครองด้วยตนเองคือซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านและทิวใผ่ที่ล้อมรอบหมู่บ้าน โดยชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านต่างมีขึ้นภายในขอบเขตนั้น ดังนั้น หมู่บ้านจึงถือเป็นหน่วยหนึ่งในสังคมที่สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวและบรรยากาศชุมชนที่ใกล้ชิดและมีเสถียรภาพ
โครงสร้างชุมชนได้รับการพัฒนาในขอบเขตของหมู่บ้าน องค์ประกอบของหมู่บ้านแบ่งเป็นหมู่เป็นกลุ่มหรือซอยต่างๆและมีการตั้งหมู่บ้านตามแบบความสัมพันธ์ทางสายเลือด ตระกูล อาชีพพื้นเมือง ความสมัครใจในการจัดตั้งสมาคมและเขตที่ประกอบอาชีพหัตถกรรม เป็นต้น เมื่อเวลาผ่านพ้นไป วิถีชีวิตและความเชื่อมโยงในการดำเนินชีวิตและการผลิตได้สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการจัดตั้งชุมชนสังคมในหมู่บ้านต่างๆ นาย เหงวียนหว่างเวียด สถาปนิกคนหนึ่งที่เกิดในหมู่บ้านเอื๊อกเหลในเขตชานเมืองของกรุงฮานอยได้เผยว่า “หมู่บ้านเวียดนามมีบรรยากาศการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับอาชีพ โดยหมู่บ้านทำการเกษตรจะมีถนนหลักและตรอกซอกซอยที่มุ่งหน้าสู่ทุ่งนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การผลิตเกษตร”
จากเอกลักษณ์ดังกล่าว วิถีชีวิตของหมู่บ้านเวียดนามให้ความเคารพหลักการต่างๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้าน มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง ถือความสัมพันธ์ทางสายเลือดและเพื่อนบ้านเป็นความสัมพันธ์หลักและการดำเนินชีวิตตามประสบการณ์เป็นหลักและถึงแม้ชาวบ้านไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแต่ก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด โดยสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนบ้าน ซึ่งชาวเวียดนามมีคำว่า “เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ดีกว่าพี่น้องที่อยู่ไกล” ชาวเวียดนามกลัวการถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านและการต้องทิ้งบ้านเรือน หมู่บ้านเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านมีความผูกพันกันผ่านความสัมพันธ์ทางสายเลือด ความสัมพันธ์แบบชุมชนและความสัมพันธ์ด้านการผลิต
ท่าน้ำ
|
หลักการสำคัญในการจัดตั้งหมู่บ้านที่มีลักษณะแบบชุมชนคือสัญลักษณ์ของหมู่บ้านคือ ต้นไทร ท่าน้ำและลานศาลาประจำหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านส่วนใหญ่ต่างมี๓สิ่งดังกล่าว แม้ต้องอยู่ไกลบ้านเกิดแค่ไหน แต่ทุกคนต่างคิดถึงภาพของซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านและต้นไทร ซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงาม วิถีชีวิตและความภาคภูมิใจของหมู่บ้าน นาย โตซวนทั้ง หมู่บ้านแค้งเวิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ในชานกรุงฮานอยกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านตนว่า “หมู่บ้านของผมมีชื่อว่า แค้งเวิน ซึ่งหมายความว่า เมฆหมอกที่สวยงาม โดยพระมหากษัตริย์เลทรงเสด็จผ่านหมู่บ้านแห่งนี้และเห็นเมฆหมอกที่สวยงาม จึงตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าแค้งเวิน หมู่บ้านแค้งเวินที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโตหลิกมีความสวยงามและเงียบสงบ ชาวบ้านหลายรุ่นมีความผูกพันกับธรรมชาติและชีวิตที่เรียบง่าย”
นอกเหนือจากต้นไทรและซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านแล้ว ท่าน้ำก็เป็นสถานที่ที่สตรีในหมู่บ้านใช้พบปะสังสรรค์ อาบน้ำให้เด็กและล้างผัก เป็นต้น ส่วนศาลาประจำหมู่บ้านเป็นสถานที่ที่ผู้ชายในหมู่บ้านใช้ชุมนุมกัน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่สำคัญและเทศกาลต่างๆของหมู่บ้านและเป็นสถานที่จัดการประชุมของผู้สูงอายุและผู้ที่ได้รับความเคารพในหมู่บ้านเพื่อมีการตัดสินใจที่สำคัญของหมู่บ้านเพื่อรักษาขนมธรรมเนียมประเพณีของหมู่บ้าน
ในสังคมปัจจุบัน โครงสร้างแผนผังของหมู่บ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามของหมู่บ้านเวียดนามยังคงได้รับการสืบทอดและส่งเสริมต่อไป โดยชาวเวียดนามทุกคนต่างมุ่งใจสู่หมู่บ้านที่เป็นถิ่นเกิด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแต่ชาวเวียดนามต่างก็ส่งเสริมความสามัคคี การช่วยเหลือจุนเจือกันและการพึ่งพาตนเองและนี่คือเกียรติประวัติอันดีงามของประชาชาติเวียดนาม.