ความพยายามในการอนุรักษ์อาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายดิ่งกงในกรุงฮานอย

Kim Thanh
Chia sẻ
(VOVWORLD) - อาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายในหมู่บ้านดิ่งกง เขตหว่างมาย กรุงฮานอยมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนเครื่องเงินของที่อื่น ผ่านความผันผวนของกาลเวลา ความขยันหมั่นเพียรและความมุ่งมั่นตั้งใจของช่างศิลป์ฝีมือดี อาชีพดั้งเดิมของหมู่บ้านดิ่งกงก็ได้รับการฟื้นฟู สืบทอดและกลายเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินทังลองฮานอยที่มีอายุนับพันปี
ความพยายามในการอนุรักษ์อาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายดิ่งกงในกรุงฮานอย - ảnh 1อาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายในหมู่บ้านดิ่งกง เขตหว่างมาย กรุงฮานอยมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 

โรงงานทำเครื่องเงินแบบยัดลายของนาย แกว๊กฟานต๊วนแอง ลูกชายของช่างศิลป์ แกว๊กวันเจื่อง ซึ่งถือเป็นผู้วางรากฐานให้แก่การฟื้นฟูอาชีพทำเครื่องเงินแบบดั้งเดิมของหมู่บ้านดิ่งกงในกรุงฮานอยมีแรงงานหลายสิบคนกำลังทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องเงินที่มีลวดลายซับซ้อน ด้วยฝีมือดีและความคิดสร้างสรรค์ช่างเงินที่นี่สามารถนำเม็ดเงินธรรมดาไปหลอมและรีดให้เป็นเส้นเงินเล็กๆ เพื่อนำไปรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราณีตสวยงามในหลากหลายแบบ ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก นาย แกว๊กฟานต๊วนแอง เผยว่า

“ผลิตภัณฑ์นี้คือกำไลข้อมือ ซึ่งการทำกำไลอันนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ถึง 10 วัน จากเส้นเงินขนาดใหญ่เรานำมารีดให้เป็นเส้นเล็กๆ แล้วทำเป็นลวดลายรูปทรงตามความต้องการของลูกค้า”

เมื่อกล่าวถึงขั้นตอนการทำเครื่องเงินแบบยัดลาย นาย เลดิ่งเซิน แรงงานของโรงงานทำเครื่องเงินดิ่งกงเผยว่า เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องเงินแบบยัดลายที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า ช่างเงินต้องใช้เวลาหลายวันเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อย่างประณีตและพิถีพิถัน

“ผมกำลังทำโลโก้ สำหรับขั้นตอนการเตรียมทำผลิตภัณฑ์ ผมจะใช้เส้นเงินใหญ่เพื่อทำกรอบนอกให้แข็งแรง ภายในใช้เส้นเงินเล็กกว่า เพื่อยึดกรอบ หลังจากนั้นผมก็จะใช้เส้นเงินเล็กสุดมาถักเป็นลายด้านในของโลโก้ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป”

ช่างเงินที่นี่เผยว่า เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ถ้าไม่มีความหลงใหลและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ก็ยากที่จะประกอบอาชีพนี้และอนุรักษ์อาชีพเอาไว้ได้

ผู้ที่ประกอบอาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายต้องยึดใน 4 เทคนิคพื้นฐานนั่นคือ การทำแบบเรียบเนียนไม่มีลาย การประกอบลายให้เข้ากัน การตอกลายและการยัดลาย โดยเทคนิคการยัดลายถือเป็นเทคนิคที่ซับซ้อนที่สุด โดยช่างเงินต้องมีฝีมือดีและมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมากในการรีดเส้นเงินให้เหมือนเส้นด้ายแล้วถักให้เป็นลายดอกลายนกต่างๆเพื่อประกอบเป็นเครื่องประดับที่สวยงาม

เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดอาชีพนี้ให้แก่คนรุ่นหลัง ชาวบ้านของหมู่บ้านดิ่งกงกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถและแสวงหาทุกวิถีทางเพื่อให้หมู่บ้านทำเครื่องเงินดิ่งกงพัฒนาสมกับการเป็น 1 ในหมู่บ้านศิลปาชีพ 4 แห่งที่มีชื่อเสียงของทังลองฮานอย นาง มายห่งแห่ง ช่างศิลป์ของหมู่บ้านฯเผยว่า

“ดิฉันเป็นชาวบ้านดิ่งกง ตัดสินใจลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการเพื่อประกอบอาชีพนี้ เหตุผลไม่ใช่เพื่อหารายได้ หากดิฉันมีความประสงค์ว่า จะร่วมกับช่างศิลป์คนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เช่น นาย ต๊วนแอง เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านและสืบทอดอาชีพนี้ให้แก่คนรุ่นหลัง”

ความพยายามในการอนุรักษ์อาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายดิ่งกงในกรุงฮานอย - ảnh 2กิจกรรมแนะนำอาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายดิ่งกงในกรุงฮานอย

ในแนวโน้มแห่งยุคสมัย นอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องเงินแบบยัดลายดั้งเดิมแล้ว ช่างเงินในหมู่บ้านยังปรับปรุงและสร้างผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย ที่น่าสนใจคือภาพยัดลายเครื่องเงินดิ่งกงเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มีความผูกพันกับสัญลักษณ์ของฮานอย เช่น หอชมดาวเคววันก๊าก เจดีย์เต่าและย่านโบราณ 36 สาย เป็นต้น

เพื่อเดินพร้อมและสนับสนุนช่างศิลป์ของหมู่บ้านศิลปาชีพดิ่งกง ทางการกรุงฮานอย รวมทั้งเขตหว่างมายได้เปิดชั้นเรียนฝึกสอนอาชีพฟรีให้แก่คนหนุ่มสาวในพื้นที่เพื่ออนุรักษ์อาชีพทำเครื่องเงินของหมู่บ้านโดยผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม 35 คนหลังจากผ่านการฝึกอบรมจะเป็นแรงงานหลักของหมู่บ้านเครื่องเงินดิ่งกงที่มีอายุ 1,500 ปี นาง เหงียนถิเฝือง ประธานคณะกรรมการประชาชนแขวงดิ่งกง เขตหว่างมาย ได้เผยว่า

“ทางการปกครองท้องถิ่นให้ความสนใจและอำนวยความสะดวกเพื่อธำรง ฟื้นฟู อนุรักษ์และสืบทอดอาชีพที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้ นี่ไม่ใช่แค่อาชีพพื้นเมืองเท่านั้น หากยังช่วยให้ลูกหลานของหมู่บ้านฯสามารถหาเลี้ยงชีพจากอาชีพนี้ได้อีกด้วย การประกอบอาชีพนี้ ต้องมีเงินทุนและแหล่งจำหน่าย เมื่อมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก แรงงานจะมีรายได้ที่มั่นคงเพื่ออนุรักษ์อาชีพนี้ เราหวังว่าจะมีเครื่องหมายการค้าเครื่องเงินแบบยัดลายดิ่งกงในอนาคตเพื่อวางแผนพัฒนาหมู่บ้านศิลปาชีพด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมอาชีพพื้นเมือง”

ด้วยความพยายามของช่างศิลป์ในหมู่บ้านฯและทางการปกครองท้องถิ่น อาชีพทำเครื่องเงินแบบยัดลายดิ่งกงกำลังได้รับการอนุรักษ์ ประชาสัมพันธ์และพัฒนา ไม่เพียงแต่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเงินที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากอาชีพทำเครื่องเงินยังเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมของผืนแผ่นดินทังลองอีกด้วย.

คำติชม