(VOVworld)- โรบัม หรือที่เรียกว่า รอมโรบัม เป็นศิลปะการแสดงละครรำเวทีโบราณของชนเผ่าเขมรในอดีต โดยในคลังศิลปะการแสดงต่างๆของชนเผ่านี้ โรบัม ถือเป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับการพัฒนาไปสู่จุดสุดยอดและรุ่งเรืองที่สุด จากคุณค่าแห่งศิลปะวัฒนธรรมพิเศษของโรบัม ชนเผ่าเขมรกำลังพยายามอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะการแสดงนี้ให้คงอยู่ต่อไป
การแสดงโรบัมได้เล่าเรื่องราวแห่งตำนานประวัติศาสตร์ในอดีตผ่านท่ารำต่างๆ ทั้งหัวข้อเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ตลอดจนมหากาพย์รามายณะของชาวอินเดีย ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สะท้อนทฤษฏีการศึกษาและปรัชญาชีวิตของชนเผ่าเขมร ศ.ดร. เลหงอกแกง รองนายกสมาคมนาฏศิลป์การฟ้อนรำเวียดนามเผยว่า“เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าเขมรต้องเอ่ยถึงการแสดงละครรำโรบัม เพราะนี่คือผลงานแห่งภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชนเผ่านี้ เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่มีการผสมผสานอย่างกลมกลืนระหว่างการรำ การร้องและชุดของศิลปิน”
เนื่องจากเป็นศิลปะที่มีต้นกำเนิดในพระราชวังดังนั้นตั้งแต่ชุดของศิลปิน คำพูดและกิริยาท่าทางต่างสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพที่สูงส่งแบบคนชั้นสูงในวัง ในละครรำเวทีโรบัม ตัวละครจะมีสองฝ่ายคือฝ่ายที่เป็นตัวแทนให้แก่ความดีคือกษัตริย์ ราชินี พระโอรส หรือพระธิดา เป็นต้น ซึ่งจะไม่ใส่หน้ากากในการแสดง ส่วนอีกฝ่ายที่เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายจะใส่หน้ากาก เช่น จั่นหรือตัวละครยักษ์
|
ในการแสดงโรบัมตัวละครจะมีท่าร่ายรำของมือและเท้าตามแบบเฉพาะของตัวละครแต่ละประเภท โดยตามข้อมูลการรวบรวมจากชุมชน ในการแสดงโรบัมมีท่ารำ33ท่า โดยเป็นท่ารำมือพื้นฐาน8ท่า ส่วนการรำจั่นหรือยักษ์นั้นมี12ท่าซึ่งแต่ละท่ารำจะบ่งบอกความหมายที่แตกต่างกัน สำหรับหน้ากากในการแสดงโรบัมก็มีการผสมผสานของวัฒนธรรมอินเดียอย่างลงตัวด้วยจึงมีความสวยงามอย่างเป็นเอกลักษณ์โดยมีหลายแบบซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของตัวละครแต่ละประเภทได้อย่างเด่นชัดเช่น หน้ากากของยักษ์ซึ่งเป็นตัวร้ายต้องทำอย่างไรให้คนดูเห็นว่านี่คือตัวร้ายจริงๆ หรือหน้ากากของม้า มาโนมี ของนกศักดิ์สิทธิ์เกอริค เป็นต้น ซึ่งล้วนสร้างอารมณ์ที่หลากหลายสมจริงให้แก่ตัวละครและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชม
ควบคู่กับตัวละครสองประเภทคือคนดีและคนร้าย ในการแสดงโรบัมยังมีตัวละครตลกเพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงมักจะเป็นกลอง แคน ขลุ่ยหรือฆ้อง
ในอดีตละครรำโรบัมได้ปรากฎอย่างกว้างขวางในแทบทุกจ.ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะที่จังหวัดซอกจังและจ่างวิงและได้รับการอุปถัมภ์จากวัดเขมรในท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันศิลปะแขนงนี้ก็ประสบปัญหาอุปสรรคและมีขอบเขตที่ลดน้อยลง นายเซินเดล สมาชิกในคณะโรบัม บาซัก บึงจง ซึ่งเป็นคณะโรบัมเพียงแห่งเดียวในจ.ซอกจังได้เผยว่า“โรบัมมีมานานแล้วดังนั้นเราก็พยายามอนุรักษ์และพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะจะไปแสดงตามงานต่างๆเพื่อให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะชนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ซึ่งก็เป็นการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปะนี้”
ศิลปะการแสดงละครรำโรบัมไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นและเป็นความภาคภูมิใจของชนเผ่าเขมรเท่านั้นหากเป็นทั้งมรดกที่ล้ำค่าในคลังวัฒนธรรมอันหลากหลายของเวียดนามอีกด้วย โดยชุมชนชาวเขมรกำลังพยายามอนุรักษ์และพัฒนาเผยแพร่เพื่อให้ศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะนี้ได้พัฒนาคงอยู่ต่อไป.