สตรีเผ่าม้ง |
เวลาเดินทางมาถึงจังหวัดห่า ญาง พื้นที่ชายแดนเหนือสุดของประเทศเวียดนามแล้วได้ชื่นชมความงามของหญิงสาวเผ่าม้งในชุดประจำเผ่าสีสันสดใส เราถึงจะสามารถเข้าถึงความปราณีตสวยงามของลวดลายการปักบนผ้าพื้นเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะของเผ่าม้ง จังหวัดห่า ญาง
ชุดประจำเผ่าของผู้หญิงม้งที่จังหวัดห่า ญาง มี 4 แบบ ได้แก่ ม้งขาว ม้งเขียว ม้งแดง และม้งดำ เครื่องแต่งกายของหญิงเผ่าม้งล้วนมีสีสันสดใส ทำให้ความโดดเด่นมาอยู่ที่ชุดของผู้หญิงกลุ่มม้งขาว ซึ่งประกอบด้วยกระโปรงจับจีบสีขาวที่บานและหุบตามแต่ละจังหวะการก้าวเดินของพวกเธอ พร้อมกับเครื่องประดับอย่างสร้อยคอและต่างหู ช่วยเสริมความงามให้หญิงสาวม้งขาวยิ่งน่ามองมากขึ้น
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเผ่าม้งล้วนถูกทำขึ้นด้วยฝีมืออันพิถีพิถันของผู้หญิง ความพิเศษของเสื้อผ้าเผ่าม้งคือทำจากผ้าฝ้าย ตามวิถีดั้งเดิมการปลูกต้นลินิน ทอผ้าลินิน ตัดเสื้อผ้าลินิน ทอและปักผ้าพื้นเมือง ตลอดจนการย้อมสีทำลวดลายต่างๆ นั้นได้กลายเป็นงานอาชีพของผู้หญิงเผ่าม้ง ต้นลินินปลูกประมาณ 2 เดือนจะสามารถเก็บผลผลิตได้ นำไปตากแห้ง ฉีกเป็นเส้นๆ แล้วตำในครกก่อนที่จะสานเป็นเชือก กระบวนการนี้ เชือกจะถูกวางบนแผ่นหิน ใช้ท่อนหินกลมมากลิ้งทับไปมาด้านบนจนได้เส้นลินินที่เล็ก ละเอียด สะท้อนแสง เพื่อเป็นวัตถุดิบใช้ในกระบวนการต่อไปของการทอ ตัด และปักผ้า ตามความเชื่อตั้งแต่โบราณกาล ผ้าลินินมีความหมายทางจิตใจอย่างลึกซึ้งสำหรับชาวเผ่าม้ง โดยพวกเขาถือว่าเส้นด้ายลินินเป็นเส้นด้ายที่นำทางวิญญาณของคนตายไปหาบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นผ้าลินินจึงถูกใช้ทำชุดประจำเผ่าสำหรับใส่ในงานพิธีและเทศกาลดั้งเดิมของเผ่าม้ง นายหว่าง อา ซั้ว นักวิจัยวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเผยว่า“เผ่าม้งยังสามารถรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาล ศิลปะการเป่าแคน หรือกีฬาพื้นบ้านหลายชนิด เช่น การผลักไม้ การแข่งม้า การยิงธนู ตลอดจนงานอาชีพดั้งเดิม เช่นงานเย็บปักถักร้อย งานตีเหล็ก และโดยเฉพาะงานทอผ้าลินิ และทอผ้าพื้นเมือง”
|
ตามวิถีชนเผ่า ตั้งแต่เล็ก เด็กหญิงเผ่าม้งก็ได้เรียนการเย็บปักถักร้อยจากคุณยาย คุณแม่ และพี่สาว เพื่อให้สามารถตัดเย็บชุดของตัวเองเป็นก่อนแต่งงานออกเรือน นางสาวสุ่ง ถิ หม่าย อายุ 23 ปี สาวเผ่าม้งที่อำเภอก๋วาน บะ จังหวัดห่า ญาง เผยว่า สำหรับผู้หญิงเผ่าม้ง ชุดแต่งกายเปรียบเสมือนทรัพย์สินที่มีค่าของพวกเธอ“หนูเริ่มฝึกตั้งแต่อายุ 12 ปี และเมื่ออายุ18 ปีก็สามารถทอผ้า ต่อด้าย และทำขั้นตอนง่ายๆได้สำหรับหญิงสาวเผ่าม้ง การทำชุดพื้นเมืองของเผ่าตนเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก”
กระโปรงของผู้หญิงเผ่าม้งไม่ได้มีประโยชน์เพียงด้านวัตถุ แต่ยังมีความหมายด้านความงาม ความสวยงามของกระโปรงจึงเป็นผลงานทางวัฒนธรรม ที่ได้เชื่อมโยงประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันกับความต้องการด้านความงาม อนึ่งกระโปรงที่ได้ตกแต่งประดับอย่างสวยงามยังเป็นเกณฑ์วัดฝีมือของผู้หญิงม้ง ลวดลายบนเครื่องแต่งกายของชาวเผ่าม้งมักเน้นที่สีสัน ซึ่งเป็นการประสานกันระหว่างกลุ่มสีโทนร้อน สร้างความโดดเด่นของชุด เสื้อผ้าของเผ่าม้งไม่ให้ความสำคัญกับลวดลายแต่เน้นการผสมผสานสีต่างๆ และการสลับกันระหว่างเนื้อผ้าที่ต่างกัน หรือระหว่างผ้าพื้นกับผ้าปัก บวกกับรายละเอียดอื่นๆ ทำให้การตกแต่งเครื่องนุ่งห่มของเผ่าม้งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในด้านเทคนิคในกระบวนการทอผ้า สร้างลายผ้าและทำผลิตภัณฑ์จากผ้า
คนเผ่าม้งรู้จักผสมผสานหลายเทคนิกวิธีอย่างชำนาญ เช่น การทอ การปัก การต่อผ้า และวาดลายบนผ้า แต่ละวิธีมีเทคนิคเฉพาะตัวโดยคนม้งจะใช้จุดเด่นของแต่ละอย่างมาส่งเสริมกัน สร้างเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบของศิลปะบนผืนผ้า เครื่องแต่งกายของเผ่าม้งทุกกลุ่มมีความงามพิเศษเฉพาะตัว และสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเผ่าม้งในจังหวัดห่า ญาง ความงามอย่างลงตัวของเครื่องแต่งกายเผ่าม้งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและอดทน เป็นส่วนหนึ่งของพลังชีวิตอันเข้มแข็งของผู้คนในเขตป่าเขาอันห่างไกล.