ชาวม้งกับเทคนิกการทำนาบนเขาหิน |
หลายคนเมื่อขึ้นไปที่ราบสูงแห่งนี้เป็นครั้งแรก จะตั้งคำถามว่า ทำไมบนยอดเขาสูงแหลมเหล่านี้ยังมีพื้นที่สีเขียวครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งใดช่วยให้ชนเผ่าสามารถอาศัยอยู่บน “ทะเลทรายหิน” แห่งนี้ได้หลายต่อหลายรุ่น ซึ่งเราสามารถหาคำตอบได้ไม่ยากจากการพูดคุยกับชนเผ่าม้งระหว่างทาง พวกเขากำลังแบกดินมาถมร่องหิน แม้ว่าหินในพื้นที่นี้มีความคมแหลมบาดเท้าคนได้ แต่ยอดอ่อนของพืชพรรณก็สามารถงอกขึ้นจากร่องหินเหล่านี้ แม้ฟังแล้วเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อแต่นี่คือเรื่องจริง ชนเผ่าม้งได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่น่าชื่นชมยิ่งและทำให้เราตื้นตันใจ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เจิ่น หึว เซิน นักวิจัยชาติพันธุ์วิทยา อธิบายว่า
“เผ่าม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มท้ายๆ ที่มาอยู่อาศัยในเวียดนาม เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี เพาะปลูกง่ายจึง ถูกกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจับจองและใช้งานไปหมดแล้ว คนเผ่าม้งต้องไปอยู่บนพื้นที่เขาสูงที่เหลือที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ดินแห้งแล้ง มีแต่หิน ภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย หลังระยะแรกเมื่อการล่าสัตว์และเก็บของป่าลดน้อยลง พวกเขาต้องอาศัยการเพาะปลูกบนหิน จากสภาพลำบากนั้นพวกเขาได้สร้างสรรค์เป็นเทคนิคการเพาะปลูกบนหิน”
เมื่อศึกษาเทคนิคดังกล่าว เราได้ทราบว่านี่เป็นเทคนิคการเพาะปลูกดั้งเดิมและเหมาะที่จะใช้ในภูมิประเทศที่มีหินมากกว่าดิน นางหญ่าง ถิ ลี้ ชาวเผ่าม้งที่ตำบลแหม่ว หวาก อำเภอแหม่ว หวาก จังหวัดห่า ญาง เผยว่า
“ด้วยสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศในเขตเขาสูงที่เป็นหิน ทำให้ผู้คนที่นี่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตร ด้วยสภาพธรรมชาติยากลำบาก เราจึงต้องปลูกข้าวโพดในร่องหินเพื่อพยายามพัฒนาความเป็นอยู่ของตน”
จากกรรมวิธีได้กลายเป็นศิลปะ “การเพาะปลูกบนเขาหิน” สะท้อนถึงพลังชีวิตที่แข็งแกร่งชองชาวบ้าน ซึ่งมุ่งมั่นในการปรับตัวเข้ากับสภาพธรรมชาติ ยกระดับสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหายากจน |
ชาวบ้านมักจะเลือกร่องหินธรรมชาติ ซึ่งเป็นร่องเล็กๆ มีความกว้างประมาณ 10-20 ตารางเซ็นติเมตร ไม่เกิน 0.5 ตารางเมตร ทำการจัดวางหินและกระเบื้องรอบๆ ให้เป็นร่องลึก แล้วชาวบ้านจะแบกดินจากที่ลุ่มขึ้นมาถมร่องหิน ปล่อยไว้ให้จุลินทรีย์ในดินเติบโต และหย่อนเมล็ดข้าวโพดลง สภาพอากาศที่ร้อนในช่วงกลางวัน หนาวในช่วงกลางคืนทำให้เกิดไอน้ำและน้ำค้าง สร้างความชื้นให้ต้นข้าวโพดงอกและเติบโตได้ ข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ในเขตเขาสูง ความจริงในร่องหินเดียวกันสามารถปลูกพืชได้หลายชนิด เพียงหย่อนเมล็ดข้าวโพด ฟักทอง หรือถั่วแขกลงไป รอไม่กี่ฝน เมล็ดจะงอกเป็นต้นอ่อนและเติบโต ไม่กี่เดือนก็จะได้แปลงพืชสีเขียวสวยงาม
ในเขตที่สูงและเขาหินด่งวันในช่วงอากาศอบอุ่นในฤดูใบไม้ผลิ ชาวม้งจะจัดวางหินเป็นกำแพง สำหรับแปลงดินเล็กในที่ราบจะใช้ไถให้ดินอยู่ในสภาพเหมาะสมสำหรับปลูกพืช ส่วนร่องหินบนเขาสูงจะต้องแบกดินขึ้นไปถม วันแล้ววันเล่า ให้ต้นไม้งอกเงยสูงขึ้นไปอีก นายสุ่ง กิ๊ง ยือ เผ่าม้งที่ ดง วัน เล่าว่า
“เวลาปลูก เราต้องใส่ดินลงไปในร่องหิน ลงปุ๋ยหมักไว้ ถมดินอีกชั้นหนึ่ง ในดินอาจมีใบไม้ และขยะธรรมชาติเพื่อเพิ่มสารอาหารให้พืช เราต้องปีนเขาหินทั้งชีวิต ไม่เว้นสักวัน การปีนเขาหินก็ไม่ได้ยากอะไร”
ด้วยความหมายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมดังกล่าว พิพิธภัณฑ์จังหวัดห่า ยางกำลังจัดทำเอกสารเพื่อยื่นต่อกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยว ให้จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมนามธรรมระดับประเทศ นี่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นทั้งกรรมวิธีการจัดวางหินรอบแปลงพืช การใช้ประโยชน์จากร่องหิน การแบกหินถมร่อง ตลอดจนการปลูกพืชเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่อาศัยในเขตเขาสูงหินแห่งนี้.