เพลงและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าเซอดัง

Vinh Phong/VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ชนเผ่าเซอดังมีคลังวัฒนธรรมศิลปะที่หลากหลายทั้งเพลงพื้นเมือง เครื่องดนตรี การระบำรำฟ้อนและการแสดงฆ้อง ซึ่งที่น่าสนใจที่สุดคือเครื่องดนตรีที่เปรียบเสมือนเป็นเสียงแห่งป่าเขาลำเนาไพรแห่งเตยเงวียน
 
เพลงและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าเซอดัง - ảnh 1เครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวเซอดัง 

การร้องเพลงพื้นเมืองคือกิจกรรมวัฒนธรรมประจำในชีวิตสังคมของชนกลุ่มน้อยต่างๆในเขตเตยเงวียนรวมทั้งชาวเผ่าเซอดัง โดยสามารถฟังเพลงพื้นเมืองได้ทั้งในระหว่างการทำไร่ ในงานเทศกาล ในขณะกล่อมลูกยามค่ำคืนหรือเมื่อหนุ่มสาวได้พบปะสังสรรค์กัน นางอีมอน ชาวเซอดังที่จังหวัดกอนตุมเผยว่า “เราร้องเพลงได้ทุกที่ทุกเวลาแล้วแต่อารมณ์ ซึ่งพี่น้องในหมู่บ้านเมื่อทำงานหรือมาพบปะสังสรรรค์กันก็ชอบร้องเพลงพื้นเมือง”

สำหรับชาวเซอดัง เพลงพื้นเมืองคือมรดกวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายมาก แต่ที่ถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุดคือเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง ซึ่งศิลปิน อาคาว จากอ.หงอกโห่ย จ.กอนตุม เผยว่า การร้องเพลงโต้ตอบนั้นนอกจากเป็นการแสดงในงานรื่นเริงต่างๆของหมู่บ้านแล้วยังเป็นวิธีการเพื่อให้หนุ่มสาวได้บอกความรู้สึกต่อกันอีกด้วย “ในแต่ละชุมชนต่างก็มีเพลงสรรเสริญบ้านเกิดเมืองนอนและความรัก โดยเฉพาะสำหรับหนุ่มสาวนั้นชอบเพลงที่บ่งบอกถึงความรักที่งดงามและโรแมนติกและมักจะเลือกเพลงเหล่านี้เพื่อร้องให้กันฟัง”

นอกจากนั้น ชาวเซอดังยังมีเพลงกล่อมลูกที่ซึ้งใจที่เนื้อร้องได้สะท้อนวิถีชีวิตการผลิตของชาวบ้าน สะท้อนเสียงของหัวใจ ความรู้สึกนึกคิดของคนร้องที่อยากสื่อให้คนรอบข้างได้รับรู้

เพลงและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าเซอดัง - ảnh 2 ศิลปิน อาคาว กับเครื่องดนตรีพื้นเมือง

สำหรับเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้ประกอบในงานต่างๆนอกจากฆ้องที่เป็นเครื่องดนตรีหลักแล้วก็มีเครื่องดนตรีอื่นๆที่ทำจากไม้ไผ่เช่น พิณ ตรึง ปี่ พิณโกลงปุต กลอง เครื่องเป่าเครื่องเคาะต่างๆ ซึ่งในกลุ่มเครื่องดนตรีพื้นเมืองนั้นที่ถือว่าโดดเด่นน่าสนใจที่สุดคือฆ้องที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณของชุมชน เพราะเพียงแค่ฟังเสียงบรรเลงฆ้องก็รู้ว่านี่คือพิธีหรือกิจกรรมวัฒนธรรมอะไร นาง ลิงงาเนียเกอดาม นักวิจัยวัฒนธรรมเตยเงวียนเผยว่า ชุดฆ้องของเผ่าเซอดังมีหลายขนาดและมีกลอง1ใบเพื่อเป็นตัวนำจังหวะและเมื่อเริ่มงานจะมีการตีกลองเป็นอันดับแรก“ชุดฆ้องพื้นเมืองของชาวเซอดังมี10-11ใบและการแสดงจะต้องมีการเคลื่อนขยับตามจังหวะพร้อมนางรำประกอบในงาน”

ในกลุ่มเครื่องดนตรีจากไม้ไผ่นั้นพิณโกลงปุตถือว่ามีความพิเศษมากเพราะทุกส่วนของพิณทำจากไม้ไผ่และการเล่นให้มีเสียงนั้นอาศัยการตีด้วยมือที่ด้านหน้าของกระบอกไม้ไผ่ที่เรียงติดกันเป็นแถว  แม้จะเป็นเครื่องดนตรีที่ดูเรียบง่ายแต่เสียงพิณโกลงปุตนั้นกลับดังกังวาลไพเราะเร้าใจ ศิลปินอาคาว จากจังหวัดกอนตุมเผยว่า “ในอดีต เมื่อจัดงานบุญข้าวใหม่ ชาวบ้านก็ไปตัดกระบอกไผ่มาตากแห้งประมาณ1ปี ต้องเลือกต้นไผ่แก่หน่อยถึงจะเก็บไว้ได้นาน ต่อจากนั้นจะตัดกระบอกไผ่ตามขนาดที่ต้องการ และเครื่องดนตรีนี้เป็นเครื่องดนตรีสำหรับผู้หญิง”

เมื่อเดินทางไปเยือนหมู่บ้านชนเผ่าเซอดังต่างๆยามวสันต์หรือตรงกับงานเทศกาลก็สามารถฟังเสียงดนตรีที่ดังกังวาลไปทั่วป่าเขา หนุ่มสาวเซอดังจูงมือร้องรำทำเพลงล้อมรอบกองไฟและไหเหล้าอุเพื่อสรรเสริมบ้านเกิด ความสวยงามของธรรมชาติและความรักที่บริสุทธิ์งดงามพร้อมสะท้อนความคาดหวังในชีวิตที่สันติสุข.      

Komentar