หม้อนึ่งข้าวเหนียวและนิงด่งนั้นยังเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดที่พ่อแม่จะเตรียมไว้สำหรับมอบให้บุตรชายเมื่อเติบโตแต่งงานมีครอบครัว |
ตามประเพณี ชนเผ่าไทในเขตเขาภาคตะวันตกเฉียงเหนือมักจะอาศัยบนบ้านไม้ยกพื้น ทานข้าวเหนียวเป็นหลักพร้อมผัก หน่อไม้ ผักผลไม้ที่นึ่งด้วยหม้อนึ่งพร้อม นิงด่ง (ninh đồng) หรือหม้อนึ่งทองแดง มีรูปทรงกระบอก ปากหม้อมีลักษณะแบนกว้างเหมือนกะทะ ส่วนตัวหม้อรูปร่างคล้ายซึ้งนึ่งข้าวเหนียวไทย เป็นอันว่าทั้งหม้อนึ่งข้าวเหนียวและนิงด่งนั้นยังเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดที่พ่อแม่จะเตรียมไว้สำหรับมอบให้บุตรชายเมื่อเติบโตแต่งงานมีครอบครัวของตัวเอง นายต่องวันเฮีย ซึ่งเป็นชาวบ้านหม่อง ตำบลฮัวลา นครเซิลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านชนเผ่าไท ได้เผยว่า“สำหรับชาวเผ่าไท เมื่อสร้างบ้านใหม่จะต้องมีหม้อนึ่งกับนิงด่ง เมื่อลูกชายแต่งงานมีครอบครัวก็จะมอบให้เป็นสมบัติ โดยคู่สามีภรรยาใหม่จะใช้หม้อชุดนี้เพื่อหุงข้าวทำอาหารที่บ้านหลังใหม่ด้วยความปรารถนาว่า เตาในบ้านจะมีไฟตลอดเวลาเพื่อสร้างความอบอุ่นและความผาสุก นอกจากใช้นึ่งข้าวเหนียวแล้ว หม้อนึ่งยังใช้หุงหาอาหารหลายอย่างได้ด้วย”
|
เมื่อก่อนนี้ หม้อนึ่งข้าวเหนียวมักจะทำจากท่อนไม้ใหญ่ที่เป็นไม้ที่ยืดหยุ่น ไม่แตกร้าวหรือบิดเบี้ยวตามสภาพอากาศ แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านได้คิดวิธีสานไม้ไผ่อย่างสร้างสรรค์เพื่อทดแทนหม้อที่ทำจากท่อนไม้ ซึ่งทำง่าย ใช้สะดวกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแถมราคาถูกกว่าด้วย
นายต่องวันเฮียเผยว่าการสานหม้อนึ่งจากไม้ไผ่ต้องเลือกต้นไผ่แก่ ปล้องยาวซึ่งจะทำให้ได้ตอกที่ไม่มีข้อตรงกลาง ไม่โดนปลวกและไม่โดนตัดยอด เมื่อนำกลับบ้านจะทำการตัด จัก ผ่า เหลาให้เป็นเส้นตอกขนาดที่ต้องการ แล้วนำมาถักสานเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกใช้ตอกเส้นเล็กกว่าชั้นในและต้องถักอย่างประณีตบรรจงเพื่อความทนทานและได้รูปทรงสวยงาม ชั้นในสานด้วยตอกเส้นใหญ่ แข็งกว่าชั้นนอก แต่ต้องเกลี่ยให้เรียบเพื่อให้ตอนนึ่งข้าวเหนียวสุกจะไม่ติดหม้อ สำหรับชั้นกลางจะสอดด้วยชั้นผ้าเพื่อเก็บความร้อน ซึ่งสรุปว่าการจะถักหม้อนึ่งหนึ่งใบให้สมบูรณ์ก็จะใช้เวลา 2 ถึง 3 วัน สำหรับส่วนประกอบที่ใช้กับหม้อนึ่งข้าวเหนียวคือ "โมย" ที่ทำจากไผ่ ซึ่งเหมือนหวดนึ่งที่สานด้วยไม้ไผ่เนื้ออ่อนทรงกลมแล้ววางไว้ด้านในหม้อเพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวตกลงไปในน้ำ ส่วนไอน้ำยังสามารถระเหยขึ้นมาจากปากเพื่อให้ข้าวสุก คุณต่อง ถิเบียน เจ้าของร้านอาหารพื้นเมืองของชนเผ่าไทในหมู่บ้านหม่อง ตำบลฮัวลา นครเซินลา กล่าวว่า:“ร้านของฉันให้บริการอาหารพื้นบ้าน ดังนั้นในครัวต้องมีหม้อนึ่งและหม้อนิงใช้หุงหาอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาทานอาหารที่ร้านจะสั่งข้าวเหนียวนึ่ง ข้าวเหนียวย่าง เป็นอันดับแรก ส่วนข้าวสารเหนียวที่เลือกใช้ก็ต้องเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่หอมและเหนียวนิ่ม”
หม้อนึ่งที่สานจากไม้ไผ่ |
ปัจจุบัน หม้อนึ่งที่สานจากไม้ไผ่ถูกวางขายตามตลาดในเขตเขาหรือสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องจักสานในราคาประมาณ 2แสนด่งต่อใบ ส่วนราคาหม้อนึ่งจากไม้ท่อนมีราคาแพงกว่าสองเท่าคือประมาณ5แสนด่งแล้วแต่ขนาดหม้อและยังมีการนำหม้อนึ่งที่ทำจากวัสดุอย่างอื่นมาใช้เพื่อความสะดวก แต่ในชีวิตจิตใจของชาวเผ่าไท หม้อนึ่งข้าวเหนียวและนิงด่ง ยังคงถือเป็นสมบัติที่ขาดมิได้ของทุกครอบครัวและสร้างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนชาวเขา./.