ถ้าหากผู้หญิงรับผิดชอบเรื่องงานเย็บปักถักร้อยและทอผ้า การสานกะพานั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชายในครอบครัว |
ไม่มีใครรู้ว่า หลู่เก๋อ มีมาตั้งแต่เมื่อไรแต่สำหรับชาวบ้าน หลู่เก๋อมีความผูกพันกับชีวิตประจำวันของชาวม้งมาหลายชั่วอายุคนและได้รับการสืบทอดอนุรักษ์ไว้จากรุ่นสู่รุ่น โดยผู้หญิงรับผิดชอบเรื่องงานเย็บปักถักร้อยและทอผ้า ส่วนเรื่องการสานกะพานั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชายในครอบครัว นายหวื่อซัวลี ผู้ใหญ่บ้าน ฟาควง ตำบล กอมา อำเภอ ถวนโจว์ จังหวัดเซินลา กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวม้งมักอาศัยอยู่ในเขตเขาสูงดังนั้นจึงคิดค้นประดิษฐ์ของใช้ต่างๆอย่างกะพาเพื่อขนข้าวของต่างๆข้ามเขาข้ามป่าเพื่อนำกลับบ้าน ซึ่งเขายังจำได้ดีถึงวิธีการสานกะพาอย่างไรให้สวยและใช้ได้ทนนาน“ผมเริ่มรู้จักการทำกะพาตอนอายุ 20 ปี เพื่อให้ได้กะพาสวยๆและคงทนต้องใส่ใจในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด โดยเฉพาะการเลือกต้นไผ่แก่เป็นวัสดุหลัก ซึ่งจะช่วยให้กะพานั้นทนทาน โดยที่สำคัญคือต้องเหลาไม้ไผ่ให้เป็นซีกแบนๆประมาณ 1 ซม. ความหนาแล้วแต่ความต้องการและต้องใช้ทั้งสองส่วนคือเนื้อชั้นในและส่วนเปลือกนอกไม้ไผ่”
ในการสาน หลู่เก๋อ ให้สานส่วนล่างรูปสี่เหลี่ยมก่อน และขนาดของหลู่เก๋อจะขึ้นอยู่กับคนใช้ หลู่เก๋อมีทรงกระบอก ปากกว้าง 20 - 50 ซม.โดยใช้ไม้ไผ่ที่เหลาเป็นเส้นแบนๆความหนาแล้วแต่ความต้องการเพื่อขดเป็นวงสำหรับทำโครง ให้สานเป็นเกลียวบางๆ นำไม้ไผ่หนาประมาณ 1 ซม. กว้าง 2.5 ซม. มาดัดเป็นวงกลมทับส่วนปากแล้วพับเส้นไผ่ผ่านรูจากปากไปด้านล่างสานปิดรูส่วนโครงให้มิดชิดและพับต่อเข้าส่วนก้นกะพาเพื่อสานเป็นสองชั้นช่วยให้กะพานั้นหนาแน่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้หลู่เก๋อมีความทนทานและสวยงามชาวบ้านมักจะใช้หวายหรือเส้นไผ่อ่อนที่ตากแห้งสานที่ด้านล่างและที่ปากกะพาและผูกสายสะพาย 2 เส้น โดยสมัยก่อนมักใช้เส้นใยของต้นเต่าร้างถักเป็นสายสะพายเพื่อมีความคงทน เรียบนิ่มไม่ปวดไหล่
เวลาไปทำไร่ทำนา ก็สะพายไว้ข้างหลังเพื่อใสข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องมือสำหรับการทำงาน |
สิ่งที่น่าสนใจในการสานกะพาหลู่เก๋อคือผู้ชายม้งมักจะทำงานนี้ในหน้าฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี เพราะในฤดูฝนอากาศจะมีความชื้นสูง เวลาเหลาเส้นไม้ไผ่จะไม่แห้งเร็ว มีความเหนียวดี โค้งงอและพับเก็บง่ายไม่แตกร้าว และนี่ก็เป็นเวลาที่ผู้ชายในหมู่บ้านมีเวลาว่างมากขึ้น อีกทั้งยังสื่อความหมายที่ว่านี่เหมือนเป็นการเตรียมตัวสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวด้วยความหวังที่จะได้ผลผลิติที่อุดมสมบูรณ์ ชีวิตเจริญรุ่งเรือง และมีความสุข
ทุกครอบครัวชาวม้งต่างใช้หลู่เก๋อในชีวิตประจำวัน โดยจะมีหลู่เก๋อสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก เวลาไปทำไร่ทำนา ก็สะพายไว้ข้างหลังเพื่อใส่ข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องมือสำหรับการทำงาน เมื่อถึงเวลากลับบ้านหลู่เก๋อจะเป็นที่ใส่พืชผลที่เก็บจากไร่จากป่า ในบ้านหลู่เก๋อใช้เก็บอาหารหรือใส่ของใช้ทั่วไป เมื่อถึงวันเปิดตลาดนัดผู้หญิงเผ่าม้งจะใส่หลู่เก๋อไปตลาดโดยบรรทุกสินค้าเกษตรไปขายแล้วซื้อสิ่งของที่จำเป็นเช่นเกลือ เนื้อ หรือผ้า และด้ายปัก กลับบ้าน คุณ วา ถิ วา จากหมู่บ้าน ฟาควง เผยว่า“ตั้งแต่ยังเด็ก พ่อแม่ก็ให้ฉันสะพายกะพาเล็กๆไปทำงานตามท่าน ซึ่งมันมีประโยชน์มากช่วยงานได้หลายอย่างโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างเราก็ถือเป็นของใช้ที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน”
แม้ทุกวันนี้ ชีวิตสังคมมีการพัฒนาทันสมัยมากขึ้น แต่กะพาหลู่เก๋อยังคงได้รับการรักษาเหมือนเป็นสมบัติของทุกครอบครัว เป็นของใช้ที่ผูกพันกับคนทุกเพศทุกวัยและยังช่วยเสริมสร้างเติมแต่งสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะของชาวเขาในท้องถิ่นต่างๆของเวียดนาม.