(VOVworld) – เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นใน54ชนเผ่าของเวียดนาม ดังนั้นในประเพณีที่สำคัญๆเช่นงานมงคลต่างๆรวมทั้งงานแต่งงานก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นต่างๆในวัฒนธรรมชนเผ่าหนุ่งอย่างเด่นชัดรวมทั้งยังมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่อีกด้วย
เจ้าสาว(คนกลาง)ในวันแต่งงาน(photo internet)
|
เมื่อก่อนนี้ หนุ่มสาวชนเผ่าหนุ่งจะแต่งงานกันโดยการคัดเลือกของพ่อแม่แต่ปัจจุบัน มีประเพณีที่ถือว่าล้าหลังหลายอย่างในการแต่งงานหาคู่ถูกยกเลิกเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสังคมใหม่ โดยหนุ่มสาวเผ่าหนุ่งเริ่มพบปะหาคู่ครองตั้งแต่อายุ16ปีผ่านการไปร่วมงานเทศกาลพื้นเมืองต่างๆและสามารถแสดงความชอบพอกันผ่านการร้องเพลงโต้ตอบในงาน ในชีวิตสังคม การแต่งงานถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้จะอนุญาตให้หนุ่มสาวได้พบปะและเลือกคู่เองแต่ก็ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายถึงจะแต่งงานกันได้ นายเลืองวันเทียด นักวิจัยวัฒนธรรมชนเผ่าหนุ่งจากพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนามเผยว่า“เมื่อหนุ่มสาวคู่หนึ่งรักกันและตกลงที่จะแต่งงานกันก็จะต้องให้สิ่งของต่างๆซึ่งอาจจะเป็นผ้าพันคอ หมวก หรือกำไล แก่กันเพื่อแทนของหมั้น โดยทั้งสองฝ่ายจะนำของหมั้นนี้ไปแจ้งให้ครอบครัวของแต่ละฝ่ายรับทราบ ซึ่งครอบครัวของฝ่ายชายจะศึกษาดูว่าครอบครัวของฝ่ายหญิงมีฐานะเป็นอย่างไร ลูกสาวบ้านนั้นเป็นคนขยันหรือไม่และต้องมีสุขภาพแข็งแรง เพราะการแต่งงานมีลูกเป็นเรื่องสำคัญและหากครอบครัวนั้นมีลูกหลายคนก็ยิ่งดี”
ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายจะพบปะกันเพื่อหารือเรื่องการเตรียมงานแต่งงาน โดยฝ่ายชายต้องตอบสนองทุกเงื่อนไขที่ฝ่ายหญิงได้เสนอและขั้นตอนสำคัญในการแต่งงานนั้นก็มีงานสู่ขอ งานหมั้น งานแต่งและงานพบปะหลังวันแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อฝ่ายหญิง งานหมั้นจะมีขึ้นหลังงานสู่ขออย่างน้อย1เดือนและในวันหมั้นทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องสินสอดและวันเวลาที่จะจัดงานแต่งงานรับเจ้าสาว
ข้าวเหนียวคือสิ่งของที่ขาดมิได้ในขบวนรับเจ้าสาว(Photo internet)
|
สำหรับงานแต่งงานจะมีขึ้นเป็นเวลา3วันตามประเพณี โดยฝ่ายชายจะต้องเลือกพ่อสื่อเป็นผู้รับเจ้าสาว ส่วนฝ่ายหญิงก็ต้องเลือกแม่สื่อเพื่อเป็นผู้ส่งเจ้าสาวเช่นกัน โดยผู้ที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อของทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นคนที่มีครอบครัวสมบูรณ์และผาสุก โดยเฉพาะต้องมีทั้งลูกชายและลูกสาว นาย หลกกงหุ่ง ชาวหนุ่งในจังหวัดหลางเซิน ซึ่งเคยได้รับเชิญเป็นพ่อสื่อเผยว่า“ตามประเพณีของชนเผ่าเรา ในพิธีรับเจ้าสาวจะต้องมีหมูหันและเมื่อรับเจ้าสาวเข้าบ้านจะต้องมีถาดข้าวเหนียวพร้อมไก่ลวกหนึ่งตัว ซึ่งผู้ที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อของสองฝ่ายต้องพบปะพูดคุยเตรียมงานก่อนหนึ่งวัน”
ในพิธีส่งและรับเจ้าสาว พ่อสื่อจะนำขบวนฝ่ายชาย ตามด้วยญาติที่เป็นน้าของเจ้าบ่าว ต่อจากนั้นคือเจ้าบ่าวและเพื่อนๆ มีผู้ชาย2คนหาบหมูหัน1ตัว ผู้ชาย1คนหาบถาดข้าวเหนียว และหญิงสาว1คนหาบไก่ตอน8ตัว ไก่ลวก1ตัวพร้อมผ้าไหม1ผืน เมื่อคณะถึงหน้าบ้านเจ้าสาวก็มีเด็กๆขึงเชือกกั้นกลางถนนเพื่อเรียกค่าผ่านทางถึงจะเปิดให้เข้าและเมื่อเข้าถึงประตูจะต้องร้องเพลงเพื่อเป็นการแจ้งให้ทราบว่าขบวนเจ้าบ่าวมาถึงแล้ว ถึงตอนนั้นฝ่ายหญิงจะส่งคนมาตรวจดูว่าสินสอดทองหมั้นครบตามที่ตกลงกันไว้หรือยัง เมื่อครบแล้วจะเชิญเข้าบ้าน เมื่อฝ่ายหญิงรับสิ่งของเสร็จจะทำพิธีเซ่นไหว้รายงานต่อบรรพชน โดยผู้ที่ทำพิธีเซ่นไหว้ของฝ่ายหญิงจะเขียนชื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวบนผ้ายันต์แล้วใช้ผ้าสีชมพูผูกไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นเนื้อคู่แล้วขอพรให้ทั้งสองคน
สำหรับชนเผ่าหนุ่งเมื่อบ้านไหนมีลูกสาวแต่งงานพ่อแม่ของเธอจะต้องซื้อเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆสำหรับครอบครัวให้ครบเช่น ตู้ เตียง เสื้อผ้า หม้อ ถ้วยชาม เป็นต้น เมื่อเจ้าสาวถึงหน้าบ้านเจ้าบ่าวจะมีการทำพิธีล้างบาปด้วยการหยดน้ำใส่เท้า หลังจากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้าบ้านก่อนเพื่อแสดงบทบาทเป็นเจ้าของครอบครัวและพาเจ้าสาวไปกราบไหว้หน้าหิ้งบูชาเพื่อรายงานต่อบรรพบุรุษ นอกจากนั้นจะมีการเลือกแม่สื่อที่เป็นคนมีครอบครัวที่สมบูรณ์มาปูเสื่อที่นอนในห้องของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเพื่อให้พรว่าใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขและมีลูกทั้งหญิงและชาย .