แขกและญาติพี่น้องมาร่วมงานเลี้ยงเพื่ออวยพรแก่คู่บ่าวสาว (giaoduc.net.vn) |
ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าเย้าแดงที่ตำบลต๋าฝิ่น อ.ซาปา จ.ลาวกายนั้นก็ได้รับการปฏิบัติในหลายขั้นตอน โดยนับตั้งแต่ที่หนุ่มสาวสองบ้านได้พบกัน รักกันไปจนถึงวันตัดสินใจแต่งงานกันครอบครัวของทั้งสองฝ่ายได้พบปะสังสรรค์กันหลายครั้งและในการพบปะแต่ละครั้งนั้นก็จะมีการบรรเลงฆ้องและกลองเพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติต่อกัน
จนถึงวันจัดงานแต่งงานอย่างเป็นทางการ สิ่งที่ขาดมิได้ก็คือคณะบรรเลงดนตรีพื้นเมือง โดยเมื่อรับเจ้าสาวถึงหน้าบ้านเจ้าบ่าว ขบวนส่งจะต้องรอให้ถึงฤกษ์ดีเพื่อเข้าบ้าน ระหว่างการรอนั้น คณะดนตรีพื้นเมืองของทั้งสองฝ่ายชายหญิงจะร่วมแสดงในทำนองที่เป็นการสวัสดีทักทายกัน อันเป็นการรับทราบและขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นเกียรติของครอบครัวฝ่ายชายต่อคณะฝ่ายหญิง ต่อจากนั้นคณะดนตรีของฝ่ายชายจะเป่าแคน ตีฆ้อง ตีกลองพร้อมเดินรอบๆคณะฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการผูกสายสัมพันธ์ให้ฝ่ายหญิงได้มาร่วมแสดงความยินดีและอวยพรแก่คู่บ่าวสาว
เมื่อเดินวนไปรอบหนึ่งก็จะเดินย้อนกลับที่เสมือนเป็นการถอดสายผูกความสัมพันธ์ยกเว้นส่วนที่ผูกกับเจ้าสาวด้วยความหมายว่าเจ้าสาวได้มาเป็นลูกหลานในบ้านแล้วจึงต้องมีความผูกมัดกับครอบครัวของสามีตลอดไป เสร็จพิธีนี้ เจ้าสาวจะถูกส่งตัวไปที่ห้องรับรองเพื่อเตรียมทำพิธีเส้นไหว้รายงานตัวต่อบรรพบุรุษของครอบครัวเจ้าบ่าว นายลี้ฝู่จิน ชาวบ้านต๋าจ่าย ต.ต๋าฝิน อ.ซาปาเผยว่า"เจ้าสาวจะอยู่ที่บ้านเจ้าบ่าว1คืน ส่วนคณะผู้แทนของครอบครัวเจ้าสาวจะอยู่ทานอาหารหนึ่งมื้อแล้วกลับ โดยฝ่ายชายจะต้องมอบสิ่งของให้ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการขอบคุณ."
ขบวนส่งเจ้าสาวถึงบ้านเจ้าบ่าว (giaoduc.net.vn) |
เมื่อแขกมาร่วมอวยพรแก่คู่บ่าวสาว เจ้าของบ้านจะเชิญทานอาหารและดื่มเหล้าอวยพร ส่วนคณะแสดงดนตรีจะเดินไปทุกโต๊ะเพื่อบรรเลงเพลงแสดงความขอบคุณแขกทุกคน เมื่อถึงเวลาที่เป็นกฤษ์ดี คณะบรรเลงดนตรีจะนำขบวนเดินล้อมวงหน้าหิ้งบูชาเพื่อเป็นการส่งมอบเจ้าสาวให้แก่ผู้ทำพิธีและหมอผีที่ได้รับมอบหมาย โดยหัวหน้าขบวนของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะแลกเปลี่ยนร่มระหว่างกันอันเป็นสัญญาณของความตกลงเพื่อให้เจ้าสาวเป็นลูกหลานของบ้านใหม่ ต่อจากนั้น คณะกลองฆ้องของฝ่ายชายจะทำพิธีผูกสายสัมพันธ์อีกรอบแล้วพาเจ้าสาวไปยืนที่ประตูหลักของบ้านเพื่อทำพิธีขับไล่สิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปให้หมดถึงจะเข้าบ้านทำพิธีเซ่นไหว้รายงานต่อบรรพบุรุษให้รับทราบและต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว โดยจะมีการบรรเลงเพลงอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวรักกันไปชั่วนิรันดร์และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองครอบครัวที่ยั่งยืนตลอดไป
เมื่อก่อนนี้ ประเพณีงานแต่งงานของเผ่าเย้าแดงมักจะจัดขึ้นเป็นเวลา3วัน3คืนแต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับชีวิตวัฒนธรรมในยุคใหม่ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ประเพณีดั้งเดิมเอาไว้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อคณะดนตรีที่เป็นตัวแทนของทั้งสองฝ่ายซึ่งทำหน้าที่ใช้เสียงดนตรีประกอบเพื่อสื่อความหมายของคำอวยพรที่เป็นสิริมงคล เพื่อให้ความเป็นเอกลักษณ์ด้านชีวิตจิตใจของชุมชนเผ่าเย้าแดงได้รับการอนุรักษ์และสืบสานต่อไปให้แก่ชนรุ่นหลัง./.