การแสดงฟ้องจวงหรือระฆังเล็กของเผ่าเย้าเตี่ยน |
ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆของชุมชนเผ่าเย้าเตี่ยนในอำเภอเวินโห่ จังหวัดเซินลาการฟ้อนจวงนั้นเป็นกิจกรรมหลักที่ขาดมิได้ในการจัดงานต่างๆเช่น งานเทศกาลเต้นรำ เทศกาลเหลิบติก เทศกาลแทงมิงห์ งานศพ งานบุญข้าวใหม่ เป็นต้น ซึ่งชาวเย้าเตี่ยนถือว่านี่เป็นหนึ่งในพิธีกรรมเพื่อขอบคุณบรรพชนและขอบคุณบ่านเวืองหรือก็คือเทพผู้ให้กำเนิดชนเผ่าเย้าที่ได้คอยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้คลาดแคล้วจากภัยร้ายทั้งปวง โดยการรำจวงสะท้อนความปรารถณาในการปกป้องชีวิตครอบครัว ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพชนให้คอยคุ้มครองทุกคนให้มีสุขภาพแข็งแรงและทำมาค้าขึ้น
คุณบ่านถิวิงห์ ชาวบ้านสวยลิน เผยว่า เขารู้จักการฟ้อนระฆังมาตั้งแต่เด็กและได้รับการถ่ายทอดฝึกการฟ้อนจากคุณย่า คุณยายและพ่อแม่ เพราะเป็นคนเผ่าเย้าเตี่ยนจึงต้องรู้จักฟ้อนจวง ในการฟ้อนจวงจะมีทั้งการฟ้อนแบบหญิงเดี่ยว ชายเดี่ยวหรือคณะผสมทั้งชายและหญิง โดยผู้รำจะถือระฆังเล็กๆในมือขวา มือและเท้าขยับขึ้นลงตามจังหวะเพลงแล้วเดินวนตามวงกลมตอนจบเพลงจะกลับมายืนเรียงแถวหน้ากระดาน "การฟ้อนระฆังเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของเผ่าเย้าเตี่ยนที่สืบต่อกันมาแต่เนิ่นนาน ซึ่งดิฉันดีใจที่มีการสานต่อจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่เพื่อให้วัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่ต่อไป"
นาย บ่านวันเซง ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคนแรกๆของทีมฟ้อนระฆังของชาวเย้าเตี่ยนในหมู่บ้าน สวยลิน ตำบลเวินโห่ นับตั้งแต่เพิ่งก่อตั้งในปี 2017 และขณะนี้ได้เป็นผู้สอนการฟ้อนระฆังของหมู่บ้านกล่าวว่า ในหมู่บ้านมีทีมศิลปะหลายคณะที่แบ่งตามอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงทีมฟ้อนของผู้สูงอายุ ซึ่งทีมของเขามีสมาชิก 10-12 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมดอายุ 55-60 ปี แม้สมาชิกแต่ละคนต่างต้องไปทำนาทำไร่ทุกวัน แต่ก็พยายามจัดเวลาไปฝึกซ้อมกันที่บ้านวัฒนธรรมของหมู่บ้านเพื่อทบทวนจังหวะการเต้นเพื่อรับงานไปแสดงในกิจกรรมศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ โดยการตั้งทีมฟ้อนจวงนี้ก็เพื่อมีส่วนร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเย้าเตี่ยนให้คงอยู่ต่อไป"การที่ผมได้รับความไว้ใจจากชุมชนให้ทำหน้าที่ดูแลทีมฟ้อนรำของผู้สูงอายุในหมู่บ้านถือเป็นการให้เกียรติและเป็นความภาคภูมิใจ ผมตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด วางแผนซ้อมและจัดเวลาสำหรับงานนี้ให้เหมาะสม แล้วยังโน้มน้าวให้ลูกหลานในครอบครัวให้ความสนใจรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเอาไว้ โดยเฉพาะการฟ้อนจวงนี้ให้คงอยู่ต่อไป"
|
ปัจจุบันนี้ การฟ้อนจวงของเผ่าเย้าเตี่ยนในอำเภอเวินโห่ไม่เพียงแต่ได้แสดงในงานชุมชนภายในหมู่บ้านตำบลเท่านั้น หากยังมีโอกาสร่วมแสดงในงานเทศกาลวัฒนธรรมชนเผ่าในทั้งในระดับอำเภอและจังหวัดด้วย นาย บ่านวันตว่าน หัวหน้าทีมฟ้อนระฆังของหมู่บ้านสวยลินเผยว่า จากการสนับสนุนของทางการท้องถิ่นชุมชนเผ่าเย้าเตี่ยนกำลังพยายามทุ่มเทอนุรักษ์เอกักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตนให้สมบูรณ์และคงอยู่ตราบนานเท่านาน"ผมสืบทอดการฟ้อนระฆังจากบรรพบุรุษและได้เป็นหัวหน้าทีมฟ้อนรำรุ่นใหม่ของชุมชน ซึ่งเราทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ในการอนุรักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าและตั้งใจศึกษาเรียนรู้และฝึกซ้อมอย่างขยัน ยิ่งเรียนยิ่งเข้าใจความหมายของการฟ้อนจวงนี้และช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถซึมซับเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมืองได้อย่างลึกซึ้งเพื่อพัฒนาเผยแพร่ต่อไป"
เมื่อถึงเวลาจัดงานเทศกาลต่างๆ หมู่บ้านทุกแห่งของเผ่าเย้าเตี่ยนก็คึกคักด้วยเสียงดนตรีและเสียงเพลงพื้นเมืองของการฟ้อนจวง ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงคนทั้งชุมชน และเป็นการเตือนใจให้ชาวเย้าเตี่ยน แต่ละคนระลึกถึงรากเหง้าของตนอย่างไม่มีวันเลือนลาง./.