กะพาเป็นเครื่องสานชนิดหนึ่งที่ขาดมิได้ในชีวิตประจำวัน |
คุณ H’Bhieo Êban (amí H Nêch)ที่หมู่บ้าน Alê B แขวง Ea Tam นครบวนมาถวด มักจะตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมพืชผักผลไม้ที่เก็บจากไร่สวนของครอบครัวนำไปขายที่ตลาด แม้ที่บ้านมีทั้งรถจักรยานยนต์และจักรยานแต่เธอชอบใส่สิ่งของในกะพาแล้วสะพายหลัง ส่วนที่เหลือใส่ที่ตะกร้าสานผูกไว้ด้านหลังรถจักรยาน เธอบอกว่ากะพาผูกพันธุ์กับชีวิตของเธอตั้งแต่เด็ก เป็นเครื่องสานที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
"ตั้งแต่อดีต กะพาเป็นของใช้ทั่วไปและสามารถใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ขนฟืน ขนน้ำ แต่เดี๋ยวนี้ใช้สำหรับขนสินค้า พืชผักไปขายที่ตลาด เนื่องจากลักษณะการใช้งานเหมือนเป้สะพายหลังทำให้ไม่ต้องใช้มือหิ้ว ซึ่งสามารถทำอย่างอื่นได้"
ก็เหมือนกับคุณ H’Bhieo ผู้หญิงเผ่าเอเดหลายคนในนครบวนมาถวดยังใช้กะพาเป็นเครื่องมือช่วยขนสินค้า ส่วนตามตลาดต่างๆในจังหวัดดั๊กลักแผงขายของจะเป็นกะพาที่วางต่อกันเป็นแถวโดยกะพาแต่ละใบจะวางขายสินค้าหลากหลายชนิดตั้งแต่พืชผักผลไม้ที่คนขายปลูกเองหรือเป็นผลผลิตเกษตรตามฤดูกาล
นาย Y Ký Niê (aê Vô) ที่หมู่บ้าน Trưng ตำบล Krông Jing อำเภอ Mdrắk จังหวัดดั๊กลักเผยว่า สำหรับเผ่าเอเดนั้น หน้าที่สานกะพาเป็นของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะเป็นผู้ใช้งาน โดยสตรีเอเดได้เริ่มใช้กะพาตั้งแต่เด็กเมื่อคุณปู่คุณตาหรือคุณพ่อได้สานกะพาใบเล็กขนาดพอเหมาะเพื่อสะพายหลังไปเอาน้ำหรือใส่ข้าวของต่างๆสำหรับการไปทำไร่ทำนา
|
เมื่อเทียบกับกะพาของชนเผ่าอื่นๆในเขตเตยเงวียน กะพาของเผ่าเอเดมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเพราะส่วนขากะพาจะทำจากไม้เนื้อเบาและสูงกว่ากะพาทั่วไป ซึ่งช่วยให้กะพาสามารถตั้งบนพื้นได้มั่นคง กะพามีหลายขนาดและเป็นผลงานจากภูมิปัญญาของชาวบ้านอันล้ำเลิศ นาย Y Tó Bkrông (aê H’Vên) ที่หมู่บ้าน Tơng Jú เผยว่า ไผ่ที่ใช้สานกะพานั้นต้องเป็นไผ่แก่ มีเนื้อหนาแข็งแรง ทนทานและเหนียว หลังจากที่ไปเอาต้นไผ่มาจากป่า ผู้ชายในบ้านจะทำเป็นเส้นตอกแล้วสานเป็นลายตามะกอก กะพาใบใหม่จะไม่เอามาใช้งานทันทีหากต้องนำไปรมควันบนเตาไฟหลายวัน ซึ่งไอร้อนและควันจากเตาจะทำให้กะพาออกสีน้ำตาลเป็นเงางามและทนนาน นาย Y Tó เผยว่า
"ผมเรียนรู้วิธีการทำกะพาตั้งแต่ยังเด็กแล้วสั่งสมประสบการณ์ต่างๆจากผู้อาวุโส เห็นเขาทำเราก็นั่งดูแล้วหัดทำตาม นานไปก็กลายเป็นงานที่ถนัด กะพามีสามส่วนคือส่วนขา สายสะพายและตัวกะพา ส่วนขามักจะทำด้วยไม้จากต้นหางนกยูงหรือต้นงิ้วโดยจะอิงตามขนาดของกะพาเพื่อเลือกที่จะเอากิ่งใหญ่หรือเล็กมาทำ"
จากบทบาทการเป็นเครื่องใช้ทั่วไปที่ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับชีวิตของเผ่าเอเดตั้งแต่อดีต มาจนถึงทุกวันนี้กะพาก็ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นเคยสำหรับสตรีเอเดโดยภาพของสตรีสะพายกะพาบนหลังไปจ่ายตลาด ไปทำไร่ทำนาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนเผ่าเอเดและชนเผ่าอื่นๆของเวียดนาม./.