ศ.ดร. หวอแค้งวิง อดีตรองหัวหน้าสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์เวียดนาม (noichinh.vn) |
ในกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศ เวียดนามมีทัศนะที่เสมอต้นเสมอปลายเกี่ยวกับกระบวนการด้านชาติพันธุ์ งานด้านชาติพันธุ์และนโยบายด้านชาติพันธุ์ นั่นคือ กระบวนการด้านชาติพันธุ์และความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในภารกิจการปฏิวัติ โดยต้องปฏิบัตินโยบายด้านชาติพันธุ์ที่เท่าเทียมกัน สามัคคีและช่วยเหลือกันในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและเวียดนามไม่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
การกำหนดในระบบกฎหมาย
ในระบบเอกสารทางกฎหมายของเวียดนาม พรรคและรัฐให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อเนื้อหาเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและค้ำประกันการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเวียดนามเมื่อปี 1946 ได้ระบุว่า พลเมืองเวียดนามทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน สามารถเข้าร่วมระบบการเมืองและมีส่วนร่วมต่อภารกิจการสร้างสรรค์ประเทศตามความสามารถและคุณสมบัติของตน ส่วนสำหรับประชาชนชนกลุ่มน้อยได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาทุกด้านเพื่อให้ตามทันแนวโน้มการพัฒนาของประเทศ ส่วนมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญปี 2013 ระบุว่า “ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประเทศที่มีเอกภาพและมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอาศัยร่วมกันอย่างสันติ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆมีความเท่าเทียมกัน สามัคคีกัน ให้ความเคารพซึ่งกันและกันและช่วยเหลือกันในการพัฒนาร่วมกัน ห้ามการเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมีสิทธิ์ใช้ภาษาพูด ภาษาเขียน อนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรม ส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณี เกียรติประวัติและวัฒนธรรมของชนเผ่าตน ส่วนรัฐชี้นำการปฏิบัตินโยบายพัฒนาในทุกด้านและอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในการส่งเสริมพลังภายในและพัฒนาพร้อมๆกับการพัฒนาประเทศ”
นอกจากนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติยังถูกระบุในเอกสารกฎหมาย นโยบายและเป้าหมายระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมและได้รับการปฏิบัติในทุกด้านอย่างพร้อมเพรียงและครบถ้วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นถึงการค้ำประกันสิทธิมนุษยชน ศ.ดร. หวอแค้งวิง อดีตรองหัวหน้าสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์เวียดนาม ได้ยืนยันว่า
“หลักการและเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนถูกระบุอย่างชัดเจน สมบูรณ์และเป็นระบบในเอกสารของพรรค โดยเฉพาะแนวคิดและคุณค่าเกี่ยวกับนิติรัฐและสิทธิมนุษยชนก็ถูกระบุอย่างชัดเจนในระบบกฎหมายของเวียดนนาม ซึ่งกำลังได้รับการแปรให้เป็นรูปธรรมเพื่อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยหน่วยงานภาครัฐ ระบบการเมือง องค์กรทางสังคมและประชาชนทุกคนกำลังร่วมกันปฏิบัติเพื่อได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว”
ส่วนในระดับโลก เมื่อปี 1981 เวียดนามได้เข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
ผลสำเร็จของเวียดนาม
จากแนวทางและนโยบายด้านชาติพันธุ์ที่เสมอต้นเสมอปลาย เวียดนามได้ประสบผลสำเร็จในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในเขตชนกลุ่มน้อย โดยในหลายปีมานี้ สัดส่วนชนกลุ่มน้อยที่เข้าร่วมระบบการเมืองนับวันเพิ่มขึ้น เช่น ใน 4 วาระติดต่อกัน สัดส่วนผู้แทนสภาแห่งชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ที่ร้อยละ 15.6 ถึง 17.27 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนชนกลุ่มน้อยในทั่วประเทศที่ร้อยละ 14.35 ปัจจุบัน ชนกลุ่มน้อย 51 จากทั้งหมด 53 เผ่า ต่างมีตัวแทนในสภาแห่งชาติยกเว้นชนเผ่าเออดูที่มีประชากรต่ำกว่า 1 พันคนและชนเผ่าหงายที่มีประชากรต่ำกว่า 2 พันคน ซึ่งเวียดนามตั้งเป้าหมายว่า จะส่งเสริมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีผู้แทนในสภาแห่งชาติ
ในระบบการปกครองทุกระดับ ท้องถิ่นต่างๆมีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ข้าราชการและพนักงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยในระดับสูง เช่น ที่จังหวัดกาวบั่งมีร้อยละ 87.9 จังหวัดบั๊กก่านร้อยละ 77.8 จังหวัดหล่างเซินมีร้อยละ 75.2 จังหวัดห่ายางมีร้อยละ 56 และจังหวัดเซินลามีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ข้าราชการร้อยละ 53
เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเขตชนกลุ่มน้อย รัฐเวียดนามให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดสรรงบประมาณสำหรับปฏิบัติโครงการลงทุนในเขตนี้ เช่น ในระยะปี 2003 – 2008 จัดสรรเงินกว่า 1หมื่น 6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะปี 2016 - 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 4หมื่น 2 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในระยะปี 2021 – 2025 นับเป็นครั้งแรกที่เวียดนามมีโครงการเป้าหมายแห่งชาติสำหรับเขตเขาและเขตชนกลุ่มน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจพิเศษและเป็นนโยบายสำคัญของพรรคและรัฐเพื่อยกระดับบทบาทและค้ำประกันสิทธิในการพัฒนาของประชาชนชนกลุ่มน้อย
พรรคและรัฐเวียดนามให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการค้ำประกันสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ความสนใจดูแลเอาใจใส่และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนชนกลุ่มน้อยในการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรม การพัฒนาในทุกด้านและได้รับประโยชน์จากสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากทัศนะที่เสมอต้นเสมอปลาย มีนโยบายที่พร้อมเพรียงและมีการปฏิบัติมาตรการต่างๆอย่างครบถ้วน เราก็สามารถเห็นได้ว่าการค้ำประกันสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจังและได้มีส่วนร่วมที่สำคัญต่อกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวียดนาม.