ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยากที่จะคาดเดาได้

Quang Dung
Chia sẻ
(VOVWORLD) - การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ 2 คน คือ นาง กมลา แฮร์ริส และนายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากก่อนถึงการลงคะแนนอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยทั้งนาง กมลา แฮร์ริส และนายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเดินหน้ารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในรัฐยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อชัยชนะ โดยเฉพาะรัฐเพนซิลเวเนีย รัฐวิสคอนซินและรัฐเนวาดาจนทำให้ ยากที่จะคาดเดาว่าใครจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยากที่จะคาดเดาได้ - ảnh 1การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน (Getty)

 

 โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งสร้างความถกเถียงกัน

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากปัญหาต่างๆที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง สำหรับนาย โดนัลด์ ทรัมป์ คำกล่าวที่ถูกถือว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติของวิทยากรบางคนต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันเชื้อสายเปอร์โตริโกและลาตินอเมริกาในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ณ นครนิวยอร์ก กำลังสร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อพรรครีพับลิกัน เนื่องจากเหตุการณ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการลงคะแนนในปัจจุบันที่กำลังสนับสนุนพรรครีพับลิกัน และช่วยให้พรรคเดโมแครตฟื้นแรงผลักดันที่เคยมีเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว เมื่อนาง กมลา แฮร์ริส เริ่มลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐแทนนาย โจ ไบเดน ในขณะเดียวกัน พรรคเดโมแครตเองก็ต้องรับมือกับวิกฤตด้านการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับ “คำพูดที่ออกมาด้วยความไม่ตั้งใจ” ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อนาย ไบเดน ใช้ถ้อยคำที่ถือเป็นการดูหมิ่นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่สนับสนุนนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ข้อถกเถียงเหล่านี้ทำให้บรรยากาศในวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมีความตึงเครียด โดยเฉพาะเมื่อนาย โดนัลด์ ทรัมป์ และนาง กมลา แฮร์ริส เพิ่มการโต้ตอบกัน

แต่อย่างไรก็ตาม นาย ดาร์เรล เวสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยรัฐบาลสังกัดสถาบันบรูคกิ้งส์ในกรุงวอชิงตันได้แสดงความเห็นว่า การเผชิญหน้าระหว่างนาย โดนัลด์ ทรัมป์ กับนาง กมลา แฮร์ริส ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาสามารถสะท้อนความได้เปรียบของแต่ละฝ่ายได้ค่อนข้างชัดเจน

“หนึ่งในหัวข้อหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งพรรครีพับลิกันมีความได้เปรียบคือนโยบายผู้อพยพ ชาวอเมริกันมีความกังวลเกี่ยวกับกระแสผู้ที่ไม่มีเอกสารที่พยายามข้ามพรมแดนเข้ามาในสหรัฐมีจำนวนมากนั้นส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม แย่งงานคนท้องถิ่นและพึ่งพาระบบสวัสดิการสังคมของสหรัฐ ซึ่งพวกเขาไม่ชอบสิ่งนี้ และนี่คือข้อดีสำหรับนาย ทรัมป์ ส่วนสำหรับฝ่ายพรรคเดโมแครต ปัญหาการทำแท้งและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เป็นหัวข้อที่พรรคเดโมแครตมีความได้เปรียบ เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนนางกมลา แฮร์ริส ในประเด็นนี้”

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจซึ่งเป็นเนื้อหาที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอเมริกันให้ความสนใจมากที่สุดปรากฎว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชามติได้แสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันให้คะแนนนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ในระดับสูงต่อความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ ในขณะที่คำมั่นทางเศรษฐกิจของนาง กมลา แฮร์ริส ได้รับการถือว่า ไม่มีความโดดเด่น แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจของผู้ลงสมัครทั้งสองคนมีความคล้ายคลึงกันมาก ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจ Mark Weinstock จากมหาวิทยาลัย Pace ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐได้แสดงความเห็นว่า

“เมื่อมองในหลาย ๆ ด้าน นโยบายเศรษฐกิจของผู้ลงสมัครทั้งสองคนคล้ายกันมาก งบประมาณด้านการทหารและกลาโหมในทั้งสองแผนการมีส่วนคล้ายกัน ผู้ลงสมัครทั้งสองคนก็เป็นผู้นิยมลัทธิคุ้มครองและสนับสนุนการเพิ่มภาษี  และมีความต่างกันแค่นิดหน่อย”

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยากที่จะคาดเดาได้ - ảnh 2นาง กมลา แฮร์ริส และนายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเน้นความพยายามในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิ (Reuters)

เสียงสนับสนุนสูสีกัน

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชามติล่าสุดในสหรัฐได้แสดงให้เห็นว่า นาง กมลา แฮร์ริส และนายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังแข่งกันอย่างดุเดือดในทั่วประเทศและในรัฐยุทธศาสตร์ โดยเสียงสนับสนุนผู้ลงสมัครทั้งสองคนอยู่ห่างกันร้อยละ 1-2 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตหนึ่งที่สอดคล้องกันในการสำรวจความคิดเห็นประชามติและการวิเคราะห์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็คือ ระดับความไม่มั่นใจที่เพิ่มขึ้นในความคิดเห็นของชาวอเมริกันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยผลการสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าว AP และศูนย์วิจัยประชามติแห่งชาติหรือ NORC สังกัดมหาวิทยาลัยชิคาโกที่ประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมปรากฎว่า ในจำนวนชาวอเมริกันกว่า 1,200 คนที่แสดงความคิดเห็น มีเพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่เผยว่า พวกเขารู้สึกตื่นเต้นกับการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐระหว่างนาง กมลา แฮร์ริส กับนาย โดนัลด์ ทรัมป์

แม้แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตก็มีความกังวลมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งสมาชิกพรรคเดโมแครตประมาณร้อยละ 80 ที่ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นได้แสดงความกังวลซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ในขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันประมาณร้อยละ 65 ก็มีความเห็นเช่นนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยความกังวลเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องถึงผลการเลือกตั้ง ตลอดจนความแตกแยกทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง.

Komentar