ศิลปินรุ่นใหม่ อีอวนเคอนู |
ในบ้านยาว ศิลปินรุ่นใหม่ อีอวนเคอนู หมู่บ้านอากอ เยอฮง เมืองบวนมาถวด จังหวัดดั๊กลัก กำลังนั่งข้างเตาไฟและขับเสภาบทกวีมหากาพย์เมอดรงดาม บทกวีมหากาพย์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับนาย เมอดรงดาม ซึ่งเป็นวีรชนดีเด่นในมหากาพย์ของชาวเอเด ผ่านการขับเสภาของศิลปิน อีอวนเคอนู บรรยากาศการต่อสู้ของวีรชนในประวัติศาสตร์และภาพรวมวิถีชีวิตของชาวบ้านเหมือนได้สะท้อนกลับมาในจินตนาการของคนฟังอย่างมีชีวิตชีวา นาย อีอวนเคอนู ได้ใช้เวลากว่า 20 ปีในการทุ่มเทให้กับการขับเสภามหากาพย์ เขาเผยว่า ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้จะไม่รู้เกี่ยวกับมหากาพย์แต่เขาได้ฟังเรื่องราวต่างๆจากผู้ใหญ่และยังคงอยู่ในความทรงจำของเขา
"ตอนผมเป็นเด็ก ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ผมก็ได้ยินเสียงฆ้องและการขับเสภาบทกวีมหากาพย์คาน เมื่อผมเติบโตขึ้น ผมสามารถเข้าใจความหมายของคำแต่ละคำ ซึ่งบทกวีมหากาพย์คานมีเนื้อหาที่ลึกซึ้ง ผมไม่รู้ว่า ทำไมบรรพบุรุษถึงสามารถแต่งบทกวีมหากาพย์ที่ยาวอย่างนั้นได้ แต่ยิ่งฟังก็ยิ่งชอบ”
จากการได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศวัฒนธรรมของมหากาพย์ก็เป็นวิธีช่วยให้ศิลปินอีอวนเคอนูและศิลปินอื่นๆในหมู่บ้านต่างๆของเขตเตยเงวียนได้เข้าถึงและสืบทอดรูปแบบวัฒนธรรมพื้นเมืองนี้ ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างความแตกต่างระหว่างกวีมหากาพย์เตยเงวียนกับตำนานเทพนิยายต่างๆในโลกเพราะมหากาพย์เตยเงวียนได้รับการเล่าขานต่อกันและการบันทึกในความทรงจำของชาวบ้านและแสดงในกิจกรรมต่างๆของชุมชน
กวีมหากาพย์ได้รับการขับเสภาในงานที่สำคัญของชนเผ่า เช่น พิธีกรรม งานศพและงานแต่งงาน |
ในแต่ละชนเผ่า กวีมหากาพย์มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ชาวเผ่าเอเดเรียกว่า “คาน” ส่วนชาวเผ่าเจอรายเรียกว่า “เฮอรี” ชนเผ่าเมอนงเรียกว่า “อ๊อดเนอดรง” เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี กวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญๆของชนเผ่าต่างๆและการต่อสู้ของวีรชนในการปกป้องหมู่บ้านหรือต่อต้านฝ่ายที่เป็นอริ ส่วนตัวละครที่เป็นวีรชนได้รับการสร้างสรรค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นตัวแทนของชนเผ่าต่างๆเพื่อสื่อถึงความปรารถนาของชาวบ้านและการต่อสู้เพื่อเป้าหมายแห่งความเป็นมนุษย์ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ บวนเกอรง เตวี๊ยดญุง จากมหาวิทยาลัยเตยเงวียน ได้เผยว่า
“กวีมหากาพย์แต่ละผลงานมีเนื้อหาเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ เช่น สงคราม การรวมชนเผ่าต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เรื่องคู่ครอง ครอบครัว การทำงานและความเลื่อมใส ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของชนเผ่าต่างๆในเขตเงวียน”
กวีมหากาพย์ได้รับการขับเสภาในงานที่สำคัญของชนเผ่า เช่น พิธีกรรม งานศพและงานแต่งงาน ชาวบ้านมักจะนั่งรอบๆ เตาไฟเพื่อฟัง มีเรื่องหลายเรื่องต้องเล่ายาวถึงหลายคืนหรือ1 สัปดาห์ นี่เป็นวิธีเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ ศิลปินยอดเยี่ยม อีวางเฮอวิง หมู่บ้านเจีย ตำบลอีอาตูล อำเภอกือเมอการ์ เผยว่า
“ผมดีใจมากๆเมื่อรัฐมีแนวทางเกี่ยวกับการเปิดชั้นเรียนสอนการขับเสภามหากาพย์และการตีฆ้องและหวังว่า คนรุ่นใหม่จะอนุรักษ์กวีมหากาพย์เพื่อช่วยให้หลายคนรู้จักเกี่ยวกับกวีมหากาพย์ของชนเผ่าตน”
ตามรายงานของสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมเวียดนาม โครงการสะสม จดบันทึกและเรียบเรียง และพิมพ์จำหน่ายกวีมหากาพย์เตยเงวียนที่ได้รับการปฏิบัติในช่วงปี 2001 –2008 สามารถรวบรวมกวีมหากาพย์ 800 ผลงงานและบันทึกเสียงเกือบ 5,700 เทป แต่ละเทปบันทึกเสียงมีความยาว 90 นาที แต่ยังมีอีกหลายร้อยชุดที่ยังไม่ได้รับการจดบันทึกเอาไว้ เมื่อปี 2014 กวีมหากาพย์เตยเงวียนได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมระดับชาติ ปัจจุบัน ท้องถิ่นต่างๆในเขตเตยเงวียนได้มีมาตรการต่างๆเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมคุณค่ามรดกวัฒนธรรมนี้ ซึ่งความพยายามนี้ของท้องถิ่นต่างๆได้มีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าของวรรณกรรมพื้นเมืองนี้ในชีวิตสมัยใหม่.