แม้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลกและมีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 23,000 เหรียญสหรัฐภายในปี 2045 แต่ด้วยอัตราของเด็กที่ประสบปัญหาภาวะขาดสารอาหารที่อยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเป้าหมายดังกล่าวนั้น ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด จึงได้ยืนยันว่า การแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันต้น ๆ ในปี 2023 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดอัตราเด็กที่ประสบภาวะขาดสารอาหารลงเหลือร้อยละ 14 ภายในปี 2024 ในรายการภาคภาษาไทยของเราวันนี้ ขอเชิญท่านฟังบทความเรื่อง “อินโดนีเซียกับภารกิจแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก” จากการรายงานของ ฝ่ามห่า ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเวียดนาม
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ได้รายงานว่า พบปัญหาภาวะขาดสารอาหารขั้นรุนแรงในเด็กๆ อินโดนีเซียกว่า 2 ล้านคนและเตี้ยแคระแกร็นกว่า 7 ล้านคน ซึ่งอยู่อันดับ 5 ของโลก (ภาพจาก Jakarta Post) |
จากผลการวิจัยล่าสุดของสำนักงานวิจัยโภชนาการอินโดนีเซียหรือ SSGI สังกัดกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุว่า ในปี 2021 มีเด็กๆ 1 ใน 4 ที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ประสบปัญหาภาวะขาดสารอาหารและเตี้ยแคระแกร็น คิดเป็นร้อยละ 24.4 โดยก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ได้รายงานว่า พบปัญหาภาวะขาดสารอาหารขั้นรุนแรงในเด็กๆ อินโดนีเซียกว่า 2 ล้านคนและเตี้ยแคระแกร็นกว่า 7 ล้านคน ซึ่งอยู่อันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้ โภชนาการถือเป็นปัจจัยสําคัญที่ส่งผลต่อปัญหาดังกล่าว รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การขาดความรู้ ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ หรือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น นาง Fahmi Aryati คุณแม่ของลูกสาววัย 2 ขวบที่ประสบปัญหาภาวะขาดสารอาหารและเตี้ยแคระแกร็น เผยว่า
“ดิฉันเป็นแม่บ้าน แม้น้ำหนักและส่วนสูงของลูกสาวไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ก็ตรวจพบว่ามีปัญหาขาดสารอาหาร ดิฉันยังไม่พบอาการผิดปรกติใดๆ ของลูกสาว และคิดว่าตัวเองให้ลูกทานอาหารและได้รับสารอาหารเพียงพอแล้ว ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมลูกสาวถึงประสบปัญหาขาดสารอาหาร”
ส่วนในการกล่าวปราศรัยหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2019 นายโจโก วิโดโด ได้ย้ำอีกครั้งถึงวิสัยทัศน์ที่จะนำอินโดนีเซียไปให้ถึงเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2045 มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ด้วยประชากรมากกว่า 300 ล้านคน พร้อมรายได้ต่อหัวประชากรที่ประมาณ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐ
กล่องเสริมโภชนาการให้แก่สตรีมีครรภ์ที่แขวง Sukadami ชวาตะวันตก (ภาพจาก CNA) |
สำหรับเด็กๆ ที่ประสบปัญหาขาดสารอาหารนั้น จะต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ส่งผลต่อศักยภาพในด้านการเรียนจนถึงขั้นต้องลาออกจากโรงเรียน ซึ่งจะทำให้โอกาสในการมีงานทำและมีรายได้ลดน้อยลงตามไปด้วย และอาจประสบปัญหาความยากจนตลอดชีวิต นอกจากนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการไม่เพียงแต่เป็นปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ปัญหาแคระแกร็น รวมถึงปัญหาทางโภชนาการอื่นๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนในกฤษฎีกาฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการเร่งแก้ปัญหาภาวะเด็กเตี้ยแคระแกร็นที่ได้ประกาศเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ได้ตั้งเป้าที่จะลดอัตรานี้ลงเหลือร้อยละ 10.4 ภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเป็นอย่างมาก จากตัวเลขที่เคยบรรลุไว้ประมาณร้อยละ 2 ต่อปีในช่วงปี 2013-2021 และนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอันดับต้นๆ ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐปี 2023 เพื่อพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพในอนาคต ฉะนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียจึงดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษา การส่งเสริมด้านโภชนาการ พร้อมความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการให้แก่ทารกในช่วง 1,000 วันแรกนับตั้งแต่แรกคลอด รวมถึงสุขภาพคุณแม่หลังคลอด โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครกว่า 1.5 ล้านคนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมด้านการให้คำปรึกษาสำหรับมารดาหลังคลอดและติดตามพัฒนาการของทารกแรกเกิด พร้อมการรักษาโรคทั่วไปและการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ ในสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ นาง Lilis Srimuliaty หัวหน้าพยาบาลที่แขวง Sukadami ชวาตะวันตก เผยว่า
“กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนเป็นคุณแม่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยพวกเราจะไปเยี่ยมทุกครัวเรือนที่มีเด็กเล็กเพื่อชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง พร้อมตรวจหาเด็กที่ประสบปัญาการแคระแกร็นหรือมีความเสี่ยงจากภาวะทุพโภชนาการเพื่อให้การสนับสนุนด้านอาหารและยาที่จำเป็นอย่างทันการณ์”
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมระบบประกันสังคมเพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวฐานะยากจนในด้านโภชนาการสำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ นอกจากนั้น โครงการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการส่งเสริมโภชนาการสำหรับการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อให้เด็กสามารถมีการเติบโตและพัฒนาการที่ดี กำลังมีส่วนช่วยปรับปรุงสถานการณ์ภาวะขาดสารอาหารและเตี้ยแคระแกร็นในอินโดนีเซียอย่างมีนัยสำคัญ.