(VOVworld) - เมื่อ 6 ปีก่อน ศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย ได้รับการก่อตั้งขึ้น ณ มหาวิทยาลัยฮานอยด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระหว่างประเทศสังกัดกระทรวงการต่างประเทศไทย หรือ สพร.กับกระทรวงศึกษาและฝึกอบรมเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่างๆในเวียดนามเผยแพร่ภาษาและ วัฒนธรรมไทย จนถึงขณะนี้ ศูนย์ฯได้เปิดการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นวิชาโทให้แก่นักศึกษาเกือบ 300 คนของมหาวิทยาลัยฮานอย โดยจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนภาษาไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมี นักศึกษาหลายคนสามารถหางานทำได้โดยใช้ภาษาไทย
รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยาของนายกรัฐมนตรีไทยเยือนห้องเรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยฮานอย
|
คุณเหงวียนบ๊าวแค้ง อายุ 23ปี นักศึกษาที่เพิ่งจบจากคณะภาษาจีนมหาวิทยาลัยฮานอยได้เรียนภาษาไทยเป็นวิชาโท ณ ศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยมาเกือบ 1 ปี สามารถหางานทำได้โดยใช้ภาษาไทยในบริษัทให้บริการฝึกอบรมออนไลน์ในกรุงฮานอย คุณแค้งเล่าให้ฟังว่า “ภาษาไทยเป็นภาษาใหม่ในกรุงฮานอยในขณะที่จำนวนคนที่รู้ภาษาจีนในปัจจุบันมีมากเกินไป การเรียนภาษาไทยในศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยเป็นเวลา 8 เดือนและเรียนอีก 1 เดือนในประเทศไทยด้วยทุนการศึกษาของสพร.ได้ช่วยให้ผมสามารถเรียนรู้คำศัพท์ภาษาไทยได้มากพอสมควร ปัจจุบัน บริษัทของผมกำลังพัฒนาตลาดในไทย พวกผมจะดูแลผู้เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ชาวไทยและผมจะมีโอกาสไปทำงานในไทย"
คุณเหงวียนบ๊าวแค้งเป็นหนึ่งในนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮานอยหลายสิบคนที่ลงทะเบียนเรียนภาษาไทยและได้รับทุนการศึกษาของสพร.ไปเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นเวลา 1 เดือน โดยสพร.ได้ให้ทุนการศึกษาดังกล่าวแก่นักศึกษาเวียดนามที่ได้ผลคะแนนสูงสุด 10 คนต่อปี จนถึงขณะนี้ มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮานอย 60 คนได้รับทุนการศึกษาดังกล่าว นาง เจิ่นเกิ๊มตู๊ อาจารย์สอนภาษาไทยของศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย มหาวิทยาลัยฮานอยได้กล่าวว่า “เราเน้นให้นักศึกษาสามารถสื่อสารได้โดยใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันและในการประกอบอาชีพในระดับเบื้องต้นได้ ก็คือนักศึกษาเมื่อจบวิชาโทเป็นภาษาไทย เมื่อเจอคนไทยก็สามารถสื่อสารพูดคุยได้อย่างเป็นธรรมชาติ คุยได้ทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน แล้วก็สามารถนำความรู้ที่เขาเรียนมาเพื่อที่จะไปทำงานโดยใช้ภาษาไทยในระดับเบื้องต้น จนถึงตอนนี้ ถ้าพูดเป็นสถิติเป็นตัวเลข แน่นอนก็ประมาณ 5 – 10 % นักศึกษาที่สามารถหางานโดยใช้ภาษาไทยได้ ลักษณะงานที่เขามักจะทำคือ เป็นล่าม เป็นเลขา พนักงานในบริษัทของคนไทย เป็นมัคคุเทศก์ หรือบางคนก็ไปสอนภาษาเวียดนามในประเทศไทยนะคะ”
นักศึกษาของศูนย์รุ่น TH14 และเพื่อนคนไทยในชุดไทย
|
ส่วนอาจารย์ ฝุ่งถิเฮืองยาง ที่เคยเรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยฮานอยเมื่อ 4 ปีก่อนและเพิ่งกลับมาสอนภาษาไทย ณ ศูนย์ได้เผยว่า “ดิฉันเป็นหนึ่งในนักศึกษารุ่นแรก 10 คนที่ได้รับทุนการศึกษาของสพร. ในช่วงนั้น มหาวิทยาลัยฮานอยได้ประกาศทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในไทย ดิฉันได้ตั้งใจเรียนและถือทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นโอกาสใหม่สำหรับตนเอง ปัจจุบัน ดิฉันเป็นครูประจำชั้น 3TH14 รวมนักศึกษา 25 คน โดยนักศึกษาร้อยละ 60 ตั้งเป้าไว้ว่า จะตั้งใจเรียนภาษาไทยเพื่อที่จะได้รับทุนการศึกษาของสพร.”
ในปีการศึกษา 2014 – 2015 มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนภาษาไทย 65 คน เพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงที่ศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 2009 โดยแบ่งเป็น 3 ชั้น รวมถึงชั้น 3TH14 ของอาจารย์ ฝุ่งถิเฮืองยาง ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจากความพยายามของครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆจากสพร.และสถานทูตไทยประจำเวียดนาม คุณดลลดา ทองบุญ เลขานุการเอกสถานทูตไทยประจำเวียดนามได้เผยว่า “ภายหลังการก่อตั้งศูนย์ฯ ทางสพร.ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยฮานอยเปิดหลักสูตรภาษาไทยเป็นวิชาโท ทางสพร.ก็ได้สนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย หนังสือภาษาไทย วีดีโอ ทีวี สื่อการเรียนการสอน แผ่นป้ายต่างๆเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาไทยและเมื่อปี 2011 ทางสถานทูตก็ได้จัดสรรค์งบประมาณสนับสนุนศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยที่มหาวิทยาลัยฮานอย โดยการติดตั้งจานรับสัญญาณทีวีไทยเพื่อให้นักศึกษาที่ศูนย์ได้มีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้ภาษาไทยโดยตรง เช่นเดียวกับที่คนไทยได้รับจากสื่อไทย”
อาจารย์ ฝุ่งถิเฮืองยางกับนักศึกษา 10 คนที่ได้รับทุนการศึกษาของสพร.
|
ปัจจุบัน ทางสพร.กำลังให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท 2 ทุนและทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก 1 ทุนแก่อาจารย์ของศูนย์ นอกจากนี้ ในงานเทศกาลสำคัญต่างๆของไทย เช่น เทศกาลสงกรานต์และงานลอยกระทง สถานทูตไทยประจำเวียดนามได้สนับสนุนชุดไทยและเข้าร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยฮานอยจัดขึ้น
ตามการประเมินของคุณดลลดา ทองบุญ เลขานุการเอกสถานทูตไทยประจำเวียดนาม จนถึงขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับเวียดนามได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและจะได้รับการปฏิบัติต่อไปในอนาคต.