เรือจำลองจากขวดพลาสติกหลายร้อยขวดที่ท่าเรือโกบั๊ก |
จากการเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ทางนครเกิ่นเทอได้ประสานงานกับองค์กรต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาขยะ โดยได้ร่วมมือกับองค์การ GreenHub ของสหพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนามในการปฏิบัติโครงการ “เพื่อแม่น้ำโขงที่ปลอดขยะ” ซึ่งหลังการปฏิบัติมาเป็นเวลา 1 ปี โครงการนี้ได้ช่วยแก้ไขปัญหาขยะและทำให้เขตท่องเที่ยวต่างๆมีความสะอาดและสวยงามมากขึ้น
เมื่อเดินทางไปหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนเกาะเซินกลางแม่น้ำเหาในเขตบิ่งถวี นครเกิ่นเทอ สิ่งแรกที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจคือเรือจำลองจากขวดพลาสติกหลายร้อยขวดที่ท่าเรือโกบั๊ก ซึ่งการเปิดตัวเรือพิเศษลำนี้เมื่อ 1 ปีก่อนเป็นการส่งสารเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนร่วมแรงร่วมใจทำความสะอาดและอนุรักษ์ภูมิทัศน์ของเกาะเซินให้สวยงาม ซึ่งประชาชนบนเกาะได้ให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกาะเซินเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในการศึกษาค้นคว้าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนริมแม่น้ำโขง นาง เลแทงถาว จากจังหวัดกว๋างนามและนาย เจิ่นวันเตี๋ยน จากเมืองท่าไฮฟองได้ให้ข้อสังเกตว่า
“นี่เป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ใหม่ที่น่าสนใจมาก ซึ่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบเกี่ยวกับการจัดเก็บขยะพลาสติก”
“สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผมคือเขตท่องเที่ยวต่างๆมีความสะอาดและสวยงาม หวังว่า ชาวบ้านจะต่อยอดผลงานต่างๆเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เกาะเซินได้พัฒนาอย่างเข้มแข็ง ซึ่งผลงานนี้มาจากการที่ทางการท้องถิ่นได้ร่วมมือกับองค์การ GreenHub ของสหพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนามและศูนย์วิจัยทรัพยากรและการพัฒนาชนบท หรือ RECERD ในการปฏิบัติโครงการ “เพื่อแม่น้ำโขงที่ปลอดขยะ – การปฏิบัติรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตลาดน้ำต่างๆของนครเกิ่นเทอเป็นการนำร่อง” ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท Dow Chemical Vietnam จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตลาดน้ำและเกาะลอยน้ำบริเวณแม่น้ำโขง ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมปีที่แล้ว โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น สนับสนุนการสร้างรูปแบบการคัดแยกขยะที่ถูกวิธี การจัดการขยะตามรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การอบรมเพื่อยกระดับความรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น อีกทั้งมอบถังขยะ 2ช่องจำนวน 140 ถังและชุดคัดแยกขยะให้แก่ครอบครัวที่อาศัยบริเวณตลาดน้ำก๊ายรังและเกาะเซิน นอกจากนี้ องค์การ GreenHub ยังได้ช่วยเหลือประชาชนในการติดตั้งถุงตาข่ายดักจับขยะและมอบเรือขนส่งขยะจากเกาะเซินไปยังจุดทิ้งขยะ โดยตั้งแต่เดือนกันยายนปี2022 จนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2023 มีการขนและจัดการขยะของตลาดน้ำก๊ายรังกว่า 308 ตันและเกาะเซินเกือบ 30 ตัน
นาง เลถิแบ๊ไบ๊ อาศัยที่เกาะเซินได้เผยว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะเซินช่วยยกระดับจิตสำนึกของชาวบ้านเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการปฏิบัติโครงการต่างๆทำให้ชาวบ้านหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ ซึ่งการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ การเก็บขยะในแม่น้ำและการทำเรือจากขวดพลาสติกเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเกาะเซิน
“ชาวบ้านชวนกันทำความสะอาดและจัดเก็บขยะในชุมชนวันละ 3 ครั้ง ส่วนทีมจิตอาสาเก็บขยะพลาสติกบริเวณที่พักของนักท่องเที่ยวและเขตท่องเที่ยวต่างๆวันละครั้ง”
การเก็บขยะในแม่น้ำ |
ในการประชุมสรุปและแลกเปลี่ยนผลการปฏิบัติโครงการ “เพื่อแม่น้ำโขงที่ปลอดขยะ-การปฏิบัติรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตลาดน้ำต่างๆของนครเกิ่นเทอเป็นการนำร่อง” ณ นครเกิ่นเทอเมื่อเร็วๆนี้ นาง เจิ่นถิฮวา ผู้อำนวยการองค์การ GreenHub ได้ให้ข้อสังเกตว่า ภายหลังการปฏิบัติมาเป็นเวลา 1 ปี โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางการปกครองท้องถิ่นและประชาชนนครเกิ่นเทอ อีกทั้งสร้างพื้นฐานให้แก่การเชื่อมโยงและระดมแหล่งพลังต่างๆในการผลักดันวิธีการผลิต การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชนสายน้ำ
“พวกเราได้เลือกปฏิบัติโครงการที่ตลาดน้ำก๊ายรังและเกาะเซิน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ประสบปัญหามลพิษขยะอย่างรุนแรง ซึ่งการปฏิบัติโครงการและรูปแบบต่างๆเป็นการนำร่องจะช่วยให้ท้องถิ่นต่อยอดผลการปฏิบัติโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากโครงการ “เพื่อแม่น้ำโขงที่ปลอดขยะ-การปฏิบัติรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตลาดน้ำต่างๆของนครเกิ่นเทอเป็นการนำร่อง” ที่นครเกิ่นเทอ ยังมีโครงการร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์และสหรัฐในการเก็บขยะในแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยยกระดับจิตสำนึกของประชาชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนเขตท่องเที่ยวต่างๆก็ได้รับการพัฒนาอย่างสวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.