( VOVworld ) -
อุโมงบัญชาการสู้รบของกองเสนาธิการตั้งอยู่ในเขตมรดกวัฒนธรรมของโลก หว่างแถ่ง-ทังลอง ในกรุงฮานอย ที่นี่ถูกใช้เป็นที่บัญชาการในสงครามต่อต้านสหรัฐอเมริกาของประชาชนเวียดนามเพื่อกอบกู้เอกราชมาให้แก่ประเทศชาติโดยเฉพาะการโต้ตอบเพื่อป้องกันการทิ้งระเบิดใส่ในนครหลวงฮานอยของเครื่องบินสหรัฐใน ๑๒ วันคืนปลายเดือนธันวาคม ๑๙๗๒ ซึ่งความลับเกี่ยวกับอุโมงแห่งนี้ได้รับการเปิดเผยจากพลตรีเหงวียนวันนิงห์และเพื่อนร่วมรบที่เคยทำงานในอุโมงดังกล่าว
|
ทางเข้าอุโมงบัญชาการสู้รบ |
ที่ท่านกำลังได้ยินคือ คำบรรยายของพลตรีเหงวียนวันนิงห์เกี่ยวกับสถานที่ที่ท่านเคยทำงานกว่า ๑๐ ปีในฐานะรองหัวหน้ากองบัญชาการเพื่อการสู้รบช่วงคริสตศักราช ๑๙๗๐ ของศตวรรษที่ ๒๐ ตลอด ๑๒ วันคืนที่ต้องต่อสู้กับการโจมตีของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา อุโมงเล็กๆแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์บัญชาการ รับข่าวกรองเกี่ยวกับเส้นทางบินของเครื่องบินบี ๕๒ เป็นสถานที่ติดตามการสู้รบในสมรภูมิภาคเหนือและอินโดจีน และจากที่นี่บรรดาผู้บัญชาการกองเสนาธิการได้ส่งคำสั่งสู้ศึกโจมตีทางอากาศ พลตรีเหงวียนวันนิงห์เล่าเรื่องเหตุการวันแรกที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มการทิ้งระเบิดทำลายล้างนครหลวงฮานอยว่า “ วันที่ ๑๘ ธันวาคมคือวันเปิดยุทธนาการ ได้มีข่าวส่งมาจากฝ่ายข่าวกรองของทหาร จากนั้น ท่านฝุ่งเท้ต่าย รองเสนาธิการใหญ่ได้แจ้งให้ทราบว่า ท่านเลดึกเถาะที่เข้าร่วมการเจรจา ณ กรุงปารีสได้กลับมาแล้ว สหรัฐอเมริกาได้ยุติการเจรจาแล้ว เวลา ๑๘.๒๐ น. สัญญาณเครื่องบินบี ๕๒ ได้ปรากฎบนแผนที่เส้นทางบิน จากข้อมูลดังกล่าวและความพร้อมสู้รบของกองบัญชาการสาขาต่างๆ พวกเราได้ประชุมหารือและเห็นว่า สหรัฐจะทิ้งระเบิดกรุงฮานอย เวลา ๑๙.๐๐ น. ผมได้รายงานต่อท่านวันเตี๊ยนหยุงเสนาธิการใหญ่กองทัพและขออนุญาตแจ้งสัญญาณเตือนภัยตามสายให้เร็วขึ้น เราได้ตัดสินใจแจ้งสัญญาณเตือนภัยก่อนการทิ้งระเบิด ๒๕ นาที ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก เพราะปกติแล้ว การโจมตีอย่างกระทันหันส่วนใหญ่ประเทศที่ตั้งรับไม่ทันได้ตั้งตัวและไม่คาดคิดมาก่อน แต่สำหรับเวียดนามนั้นเราได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว
|
ห้องประชุมประเมินสถานการ |
พลตรีเหงวียนวันนิงห์เล่าต่อไปว่า ณ อุโมงแห่งนี้ ท่านได้กดปุ่มประกาศเสียงตามสายส่งสัญญาณเตือนเครื่องบินบี ๕๒ เข้ามาฮานอยก่อนแห่งอื่นๆ “ นี่คือปุ่มเครื่องประกาศเสียงเตือนภัยตามสายที่ติดบนดาดฟ้าอาคารรัฐสภาหรือหอประชุมบาดิ่ง ซึ่งเรากำหนดว่า สัญญาณเตือนภัยที่บาดิ่งดังขึ้นก่อน แล้วเครื่องประกาศเสียงเตือนภัยตามสายอีก ๑๕ แห่งของนครหลวงจะดังขึ้น ผมเป็นคนแรกที่กดปุ่มนี้เพื่อแจ้งว่า เครื่องบินบี ๕๒ ได้เข้ากรุงฮานอยแล้ว พร้อมสั่งให้กองกำลังติดอาวุธอยู่ในความพร้อมเพื่อยิงโต้ตอบเครื่องบินบี ๕๒ อีกทั้งเป็นสัญญาณเตือนชาวฮานอยให้ลงหลุมหลบภัย ”
ใน ๑๒ วันคืนในสมรภูมิเดียนเบียนฟูกลางเวหา ณ อูโมงบัญชาการนี้ ได้จัดให้คนเข้าเวรตลอด ๒๔ ชั่วโมง หน่วยทำแผนที่เส้นทางบินที่คุณ ฝ่ามถิ่แทงเป็นสมาชิกคนหนึ่งก็ต้องเข้าเวรตลอด ๒๔ ชั่วโมงเช่นกันเพื่อติดตามและเขียนแผนที่เส้นทางบินของเครื่องบินกองทัพสหรัฐอย่างแม่นยำ “ พวกเราอยู่ในห้องนี้และต้องใส่หูฟังตลอดการเข้าเวรกะละ ๒ ชั่วโมง เมื่อได้รับสัญญาณจากเรด้าร์ของหน่วยทหารป้องกันทางอากาศเราจะระบุเส้นทางบินแต่ละจุดบนแผนที่ หากเครื่องบินของศัตรูอยู่ห่างจากฮานอยประมาณ ๕๐ กม. นายทหารบัญชาการจะดูในแผนที่นี้แล้วจะออกคำสั่งส่งสัญญาณเตือนภัยตามสถานการณ์ ”
|
ระบบปรับอากาศด้วยไอน้ำ |
คุณหวูถิ่ห่าซึ่งทำหน้าที่เขียนเส้นทางบินลงในแผนที่เล่าถึงงานของตน ณ อุโมงลับแห่งนี้ก่อนหน้านี้ ๔๐ ปีว่า พวกเราต้องติดตานเส้นทางบินของศัตรูอย่างใกล้ชิดเพื่อรายงานต่อเบื้องบนว่า เครื่องบินจะทิ้งระเบิดตรงไหน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ พวกเราเป็นคนแจ้งให้ผู้บัญชาการทราบเกี่ยวกับเส้นทางบินเพื่อออกคำสั่งเตือนภัยตามสายไปทั่วนครหลวง หากไม่สามารถระบุเส้นทางบินได้อย่างถูกต้องแม่นยำก็จะมีอันตรายเป็นอย่างมาก
อุโมงบัญชาการสู้รบได้รับการก่อสร้างช่วงปลายปี ๑๙๖๔ ถึงต้นปี ๑๙๖๕ ในพื้นที่๖๔ ตารางเมตร มี ๓ ห้อง และได้รับการออกแบบพิเศษ เมื่อก่อสร้างเสร็จเพื่อปิดบังเครื่องบินสหรัฐได้มีการระเบิดชั้นสองของอาคารกรมสู้รบให้เป็นซากปรักหักพัง อุโมงแห่งนี้ถือว่ามีความทันสมัยในยุคนั้น มีระบบปรับอากาศด้วยไอน้ำ ระบบถ่ายเทอากาศ กรองควันพิษและป้องกันสัญญาณรบกวน พันเอกเหงวียนกว้านห่ง วิศวกรออกแบบอุโมงเผยว่า “ อุโมงได้รับการก่อสร้างด้วยแผ่นคอนกรีต โดยเพดานได้รับการก่อสร้างเป็น ๓ ชั้น ซึ่งชั้นบนสุดและล่างสุดก่อสร้างด้วยคอนกรีต ส่วนชั้นกลางเป็นทราย หากถูกระเบิด คนและอุปกรณ์ยังปลอดภัย ประตูหนา ๒ ชั้นเพื่อกันแรงระเบิดจากปรมาณู ที่นี่สามารถป้องกันกระสุนและระเบิดได้ทุกชนิดรวมทั้งระเบิดปรมาณูและอาวุธเคมี ”
|
ชุดทหารสวมใส่ในอุโมง |
๔๐ ปีได้ผ่านไป ในอุโมงบัญชาการสู้รบแห่งนี้ยังคงมีสิ่งของวัตถุพยานที่ผูกพันกับชีวิตของพลตรีเหงวียนวันนิงห์และเพื่อนร่วมรบไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงานของกองบัญชาการสู้รบ แผนที่เส้นทางบินขนาดใหญ่เพื่อติดตามเส้นทางบินของเครื่องบินศัตรู วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ตั้งโต๊ะหลายสิบเครื่อง ชุดดื่มและชงชา กระติกน้ำร้อนและถาดรอง ซึ่งอุโมงและสิ่งของวัตถุเหล่านี้ได้เข้าสู่ประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรระยะหนึ่งของประเทศคือชัยชนะเดียนเบียนฟูกลางเวหา ฤดูหนาวปี ๑๙๗๒ ./.
|
ชุดรับประทานอาหาร |