นวนิยายคู่กรรมหรือเหงียดเยวียนในภาษาเวียดนาม

Kim Ngan - VOV5
Chia sẻ
(VOVworld) – นับเป็นครั้งแรกที่หนังสือวรรณกรรมเบสเซลเลอร์ในตลอดเกือบครึ่งศตวรรษของไทยได้รับการแปลเป็นภาษาเวียดนาม นวนิยายเรื่องคู่กรรมหรือในภาษาเวียดนามที่ตั้งชื่อว่าเหงียดเยวียนได้วางขายตามร้านหนังสือต่างๆในเวียดนามนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปี 2015 นวนิยายคู่กรรมเป็นผลงานของคุณหญิงวิมล เจียมเจริญที่ใช้นามปากกาว่าทมยันตี ซึ่งเคยถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและจีน ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
(VOVworld) – นับเป็นครั้งแรกที่หนังสือวรรณกรรมเบสเซลเลอร์ในตลอดเกือบครึ่งศตวรรษของไทยได้รับการแปลเป็นภาษาเวียดนาม นวนิยายเรื่องคู่กรรมหรือในภาษาเวียดนามที่ตั้งชื่อว่าเหงียดเยวียนได้วางขายตามร้านหนังสือต่างๆในเวียดนามนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปี 2015 นวนิยายคู่กรรมเป็นผลงานของคุณหญิงวิมล เจียมเจริญที่ใช้นามปากกาว่าทมยันตี ซึ่งเคยถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและจีน ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
นวนิยายคู่กรรมหรือเหงียดเยวียนในภาษาเวียดนาม - ảnh 1
นวนิยายคู่กรรมหรือเหงียดเยีวนในภาษาเวียดนาม
“เทคนิคการแปลเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าหลุดเข้าไปอยู่ในนวนิยาย ซึ่งทำให้ผมรู้สึกทั้งประทับใจและเศร้าจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนแปลนวนิยายเรื่องนี้ ผู้แปลจะร้องไห้หรือไม่” ส่วนคุณเหื่อง ผู้อ่านชาวฮานอยก็มีความคิดเห็นเหมือนกันเกี่ยวกับเทคนิคการแปลเรื่องนี้ของคุณเจิ่นเกิ๋มตู๊ว่า  “ดิฉันชอบเทคนิคการแปลนวนิยายเรื่องนี้ของนักแปลเจิ่นเกิ๋มตู๊มาก ซึ่งมีทั้งความเรียบง่ายและชัดเจน สะท้อนบุคลิกและนิสัยของตัวละครหลักในนวนิยาย จากความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ดิฉันคิดว่า การแปลแบบนี้ได้สะท้อนวิธีการพูด ความรู้สึกและความคิดของคนไทย ถ้าหากคุณอ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้ว คุณก็จะเห็นว่า มีความคล้ายคลึงกับนิสัยของคนเวียดนาม ดังนั้นเรารู้สึกว่ามันอยู่ใกล้ชิดและเข้าสู่ใจผู้อ่านได้ง่าย”
ในบูธที่กว้างประมาณ 5 ตารางเมตรของงานแสดงสินค้าไทย เกิ๋มตู๊ นักแปลนวนิยายคู่กรรมหรือในภาษาเวียดนามเรียกว่าเหงียดเยวียนกำลังแจกลายเซ็นให้แก่ผู้อ่าน บนโต๊ะที่จัดเป็นรูปตัว U มีหนังสือเล่มต่างๆ ทั้งของเวียดนามและไทยวางสลับกันไป ซึ่งนอกจากนวนิยายคู่กรรมแล้วก็ยังมี
นวนิยายและหนังสืออื่นๆของไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาเวียดนาม เช่น เวลาในขวดแก้ว ข้างหลังภาพและยลญวนเวียดนามในสายตานักการทูตของท่านทูต พิษณุ จันทร์วิทัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีหนังสือของเวียดนามที่ถูกแปลเป็นภาษาไทย เช่น “Truyen ngan Nam Cao” หรือเรื่องสั้นของนามกาว “De men phieu luu ky” หรืออนุทินของจิ้งหรีด “Noi buon chien tranh” หรือปวดร้าวแห่งสงคราม  “Vua nham mat vua mo cua so” หรือ ปิดตาเปิดหน้าต่างและ “Cho toi mot ve di tuoi tho” หรือขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก
เมื่อกล่าวถึงเหตุผลที่เลือกแปลนวนิยายคู่กรรม เจิ่นเกิ๋มตู๊เล่าว่า “ความเป็นมาของการแปลหนังสือคู่กรรมเป็นภาษาเวียดนามนี้ก็คือตอนปี 2010 ที่ดิฉันได้เดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอาจารย์ได้มอบหมายให้ดิฉันวิจารณ์หนังสือ ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านหนังสือคู่กรรมและก็รู้สึกประทับใจมากๆ แล้วตัดสินใจว่าอยากจะแปลนวนิยายเล่มนี้เป็นภาษาเวียดนาม แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา ณ ตอนนั้น การแลกเปลี่ยนในด้านวรรณคดี วรรณกรรมระหว่างไทยกับเวียดนามยังน้อยมาก เพราะฉะนั้นต้องรอถึงปี 2013 เมื่อมี Agency ของไทยได้ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ Nha Nam ของเวียดนามตัดสินใจที่จะแปลหนังสือคู่กรรมของคุณทมยันตีมาเป็นภาษาเวียดนาม ดิฉันก็เลยได้มีโอกาสแปลหนังสือเล่มนี้ เราหวังว่า ผลงานเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเวียดนามได้รู้จักวัฒนธรรมและสังคมไทยและก็วรรณกรรมไทยมากขึ้น”
คู่กรรมหรือเหงียดเยวียนในภาษาเวียดนามถือว่าเป็นนวนิยายของทมยันตีที่ได้รับความนิยมในตลอดเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา คู่กรรมแต่งขึ้นในปี 1965 ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารศรีสยามและรวมเล่มครั้งแรกในปี 1969 แล้วตีพิมพ์อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ คู่กรรมก็ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้งแล้ว โดยสร้างเป็นละครโทรทัศน์เมื่อปี 1970 1972 1978 1990 และ 2004  และสร้างเป็นภาพยนตร์ 4 ครั้งในปี 1973 1988 1995 และ ปี 2013 ซึ่งเวอร์ชั่นปี 1988 และ 1995 ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองและเคยดัดแปลงเป็นละครเวที โดยค่ายดรีมบอกซ์เมื่อกลางปี 2004 แสดงที่โรงละครกรุงเทพฯ และกลางปี 2007 แสดงที่ โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส สำหรับเนื้อเรื่องของนวนิยายคู่กรรม นักแปลเจิ่นเกิ๋มตู๊เผยว่า “ความโดดเด่นของคู่กรรมที่ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากนวนิยายไทยทั่วไปก็คือความเป็นสากลของคู่กรรมค่ะ ซึ่งเล่าเรื่องราวความรักระหว่างหญิงสาวชาวท้องถิ่นกับผู้ชาย ซึ่งเป็นทหารของประเทศอื่นที่เข้ามารุกรานในประเทศของเธอ ดิฉันคิดว่า ความเป็นสากลตรงนี้ของเรื่องรักระหว่างสงครามก็เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านของทุกยุกทุกสมัยสามารถประทับใจ สะเทือนใจกับคู่กรรมได้ อีกแง่มุมหนึ่งคู่กรรมยังเป็นหนังสือต่อต้านสงครามเพราะว่าได้ชี้ให้เห็นถึงความทารุณโหดร้ายของสงครามที่สามารถทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของมนุษย์”
นวนิยายคู่กรรมหรือเหงียดเยวียนในภาษาเวียดนาม - ảnh 2
เจิ่น เกิ๋ม ตู๊ กับนวนิยายคู่กรรม - เหงียดเยวียน
ในการแปลนวนิยายที่หนาเกือบ 600 หน้านี้ภายในเวลาเพียง 8 เดือนทำให้เจิ่นเกิ๋มตู๊พบปัญหาอุปสรรคต่างๆ “สำหรับปัญหาอุปสรรคในการแปลหนังสือคู่กรรมก็จะเหมือนกับนักแปลทั่วไป คือเวลาที่เราถ่ายทอดวัฒนธรรม เนื้อหา ความคิด ความเชื่อของคน ของชนชาตินี้มาเป็นอีกภาษาหนึ่งให้คนอีกชนชาติหนึ่งอ่านก็จะมีเนื้อหาประเด็นหลายอย่างที่ไม่คุ้นเคยกับผู้อ่านก็แก้ปัญหาด้วยการทำเชิงอรรถเพื่อจะได้ช่วยอธิบายวัฒนธรรมของไทยและของญี่ปุ่นให้ผู้อ่านเวียดนามเข้าใจมากขึ้น แต่สำหรับเล่มคู่กรรมนี้เมื่อแปลจากภาษาไทยมาเป็นภาษาเวียดนามก็จะมีปัญหาอุปสรรคเฉพาะตัว ก็คือในเรื่องนี้ ตัวละครเอกเป็นคนไทยและคนญี่ปุ่น เขาจะมีการสื่อสาร พูดคุยกันแล้วก็จะเกิดสถานการณ์ที่ตลกขบขันด้วยความเข้าใจผิดด้านภาษา เราจะต้องแปลมาเป็นภาษาเวียดนามยังไงให้ยังเก็บมุขของภาษาไว้ได้” นวนิยายคู่กรรมที่แปลเป็นภาษาเวียดนามยังช่วยให้ผู้อ่านเวียดนามมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมไทยดังความคิดเห็นของคุณเหื่อง “คู่กรรมเหมือนกระจกสะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้ส่วนหนึ่ง หวังว่า จะมีหนังสือต่างชาติหลายเล่มได้แปลเป็นภาษาเวียดนามอีกโดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่เรากำลังก่อสร้างประชาคมวัฒนธรรมอาเซียน”
ถ้าหากสนใจผู้อ่านก็สามารถหาซื้อนวนิยายเรื่องนี้ได้ตามร้านหนังสือต่างๆหรือสั่งซื้อออนไลน์บนเว็บไซต์ของร้านหนังสือหญานามตามที่อยู่ nhanam.vn ในราคา 140,000 ด่งหรือ 225 บาทเท่านั้น.

คำติชม