คุณตริ๋งหุ่งเกื่อง (Photo laodong.com.vn) |
ในตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา คุณตริ๋งหุ่งเกื่อง จากนครบั๊กนิงห์ได้ไปทุกที่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนามเพื่อหาซื้อหนังสือที่มีค่าและปัจจุบันเขามีหนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 8 พันเล่ม ซึ่งบางเล่มมีคุณค่าเป็นอย่างมาก เช่น พจนานุกรมเจืองหวิงกี๊ที่พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 1884 พจนานุกรมภาษาละติน – อันนามที่พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 1877 นิตยสารนามฟอง หนังสือพิมพ์สตรีเตินวัน หนังสือพิมพ์ยาดิ๋ง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาก๊วกหงือฉบับแรกของเวียดนามและหนังสือเรื่องนางเกี่ยวทั้งที่เป็นภาษานมและภาษาก๊วกหงือนับร้อยเล่ม คุณเกื่องบอกว่า ได้เข้าร่วมกลุ่ม Sachxua.net และเข้าร่วมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น “ 150 ปีวันหนังสือพิมพ์ก๊วกหงือช่วงปี 1865-1954” งานแสดงหนังสือพิมพ์ภาษาก๊วกหงือเวียดนามในช่วงปี 1865 – 1965 เป็นต้น เพื่อแนะนำหนังสือที่มีค่าของตนต่อผู้ชมที่รักหนังสือ “ตอนเป็นเด็กผมชอบอ่านหนังสือและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงค่อยๆซึมซับ ชอบซื้อและสะสมหนังสือ เพื่อนๆมักจะบอกว่า ผมไม่เหมือนคนธรรมดาแต่ผมก็อยากเก็บสะสมหนังสือเพื่อจะเก็บรักษาความทรงจำของชาติที่กำลังหายไปเนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจ”
ส่วนคุณต๋าทูฟอง จากกรุงฮานอยได้สะสมหนังสือและหนังสือพิมพ์เก่าเพราะความหลงใหลในการอ่านหนังสือและความปรารถนาในการเก็บรักษาหนังสือที่มีค่าให้ได้ โดยฟอรั่มหนังสือเก่าและงานนิทรรศการหนังสือและหนังสือพิมพ์เป็นโอกาสให้เขาแนะนำหนังสือที่มีค่าของตนต่อเพื่อนๆ เช่น “ กฎหมายครัวเรือนตัวย่อ” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายประชาชนฉบับแรกที่เขียนเป็นภาษาก๊วกหงือ พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 1884 ปฏิทินที่พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 1872 ซึ่งมีเอกสารทางราชการ และรายชื่อขุนนางในสมัยราชวงศ์เหงียน จากการมีหนังสือและหนังสือพิมพ์เกือบ 9 พันเล่ม บ้านของคุณฟองเหมือนห้องสมุดที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษาและนักวิจัยที่อยากค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ คุณฟองกล่าวว่า ผู้อ่าน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เมื่อได้อ่านหนังสือที่มีค่านี้มักจะมีความหลงใหลในการอ่านหนังสือมากขึ้น
คุณต๋าทูฟอง |
การสะสมหนังสือและหนังสือพิมพ์เก่าก็ต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากแสวงหาหนังสือที่มีค่าหายากและวิธีการเก็บรักษาแล้วก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับนักเขียน ผลงาน สำนักพิมพ์ เวลาตีพิมพ์และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องถึงหนังสือเล่มนั้นถึงจะเข้าใจคุณค่าของหนังสือที่ตนกำลังสะสม นายต๋าทูฟองเผยว่า“ถ้าเป็นนักสะสมต้องมีไฟแห่งความหลงไหล เวลาและระยะทางไม่ใช่อุปสรรค หากได้ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือที่มีค่าหายาก เราก็พยายามไปซื้อให้ได้ แม้จะเป็นกลางคืนก็เดินทางไปเลยเพื่อไม่ให้ช้ากว่านักสะสมคนอื่น”
นักวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมหวูเท้ลองได้ประเมินว่า การสะสมหนังสือเป็นงานอดิเรกที่ “ย้อนอดีตแห่งความทรงจำ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ “การสะสมหนังสือและหนังสือพิมพ์เป็นงานอดิเรกดด้านวัฒนธรรมระดับสูง ผมเห็นคนรุ่นใหม่หลายคนมีความหลงไหลและสามารถสะสมหนังสือและหนังสือพิมพ์ที่มีค่าที่ผมมีความปรารถนามาตลอดว่าจะได้เห็น หนังสือที่ถูกตีพิมพ์ทุกเล่มต่างมีคุณค่าและเราต้องให้ความสำคัญและเก็บรักษาไว้ หนังสือพิมพ์เก่ามีข้อมูลของยุคก่อนที่มีอายุนับสิบนับร้อยปี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโบราณวัตถุแห่งวัฒนธรรมและเป็นพยานหลักฐานที่มีชีวิตชีวาแห่งยุคสมัยที่สะท้อนทั้งภาษาและแนวความคิดของมนุษย์ในสมัยนั้น”
การสะสมหนังสือเก่าและการเข้าร่วมเวทีหนังสือเก่าถือเป็นโอกาสให้นักสะสมเสนอหนังสือและหนังสือพิมพ์ที่หายากแนะนำต่อชุมชน โดยเฉพาะในยุคดิจิตอล คนรุ่นใหม่จะแนะนำหนังสือที่มีค่าเหล่านี้ของตนผ่านอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อมีส่วนร่วมปลูกจิตสำนึกในการรักหนังสือและเผยแพร่วัฒนธรรมการอ่านหนังสือต่อคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมพื้นเมืองของประชาชาติเวียดนามอีกด้วย.