( VOVworld )-
ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามย่านเก่าแก่ของฮานอยจะมีการจัดแสดงเพลงพื้นเมืองของเวียดนามให้ชาวฮานอยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับชม การแสดงนี้อยู่ในกรอบ“ โครงการเพลงพื้นเมืองฮาแถ่ง-๓๖ สาย ” ซึ่งจัดโดยศูนย์พัฒนาศิลปะดนตรีเวียดนาม แม้ เวทีแสดงกลางแจ้งจะไม่ได้รับการตบแต่งอย่างหรูหราและการแสดงก็ไม่ใช่รายการขนาดใหญ่แต่ก็มีผู้มารอชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
การร้องเพลงทำนองโจ่ววันที่มีชื่อว่า วันโจ่วโต๋
|
เวลาทุ่มครึ่งวันเสาร์ต้นฤดูร้อน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวจากแสงแดดมาทั้งวัน แต่ ณ เวทีกลางแจ้งในพื้นที่ ๒๐ ตารางเมตรที่สี่แยกถนนเลืองหงอกเกวี้ยนและถนนหมาเมยในย่านเก่าแก่ฮานอยกำลังเต็มไปด้วยคนที่มารอชมการแสดงเพลงพื้นเมือง โดยส่วนใหญ่เป็นผู้แก่ผู้เฒ่าผมสีดอกเลา นักศึกษาและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ป้ายโฆษณาที่มีอักษรสีแดงความว่า “ โครงการเพลงพื้นเมืองฮาแถ่ง-๓๖ สาย ” บนผืนผ้าสีเหลือง กลองหลายขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง พิณน้ำเต้าและพิณซึงวางอยู่ที่สองข้างของเวที ส่วนระบบแสงนั้นไม่ใช่ระบบแสงสีที่อลังการแต่อาศัยแค่แสงไฟส่องถนนหรือจากบ้านโบราณต่างๆ ด้านหลังเวทีคือหลังคาศาลเจ้าโบราณที่มีรูปหน้าจั่ว ทั้งนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงบรรยากาศของฮานอยสมัยโบราณก่อนโน้นหลายร้อยปี
นางสาวซวนกวิ่งนักร้องเพลงทำนองโจ่ววันกำลังแต่งหน้าแต่งตา ปีนี้เธอมีอายุ ๒๕ แต่ได้ทุ่มเทให้แก่ศิลปะการร้องเพลงทำนองโจ่ววันมา ๗ ปี ทาลิปสติกสีแดง สวมชุดเสื้อยาวสีน้ำตาลและเกล้าผม เธอพร้อมขึ้นเวทีแสดง คืนนี้ซวนกวิ่งกับศิลปิน ๓ คนจะแสดงเพลงทำนองโจ่ววันที่มีชื่อว่า วันโจ่วโต๋เป็นการโหมโรง“ ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากทุกครั้งแสดง แต่รู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมนิดหน่อยในการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมือง การแสดงที่ได้รับการเชียร์ด้วยเสียงปรบมือจากผู้ชมทำให้ดิฉันรักอาชีพนี้และมีความผูกพันกับการแสดงเพลงพื้นเมืองมากขึ้น ”
รายการแสดงที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมคือ การเข้าทรง “ โจ่วเด่หญิเถื่องหง่าน ”
|
รายการแสดงที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมคือ การเข้าทรง “ โจ่วเด่หญิเถื่องหง่าน ” ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ทรงอิทธิพล ผู้เป็นร่างทรงสวมชุดสีเขียวของใบไม้ มือถือพัดกระดาษและเต้นรำตามจังหวะของเพลงโจ่ววัน ส่วนผู้ชมก็ชมไม่พริบตาโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ ดิฉัน รู้สึกสนุกมากที่ได้ชมการแสดงเพลงพื้นเมืองเวียดนาม โดยเฉพาะรายการทรงเจ้านี้ ดิฉัน ไม่เคยได้ชมรายการประเภทนี้ รู้สึกประทับใจมาก และจะหาโอกาสมาชมอีก ”
“ ดิฉันไม่ได้มีโอกาสศึกษาวัฒนธรรมของประเทศคุณ แต่จากการชมการแสดงในคืนนี้ทำให้ ดิฉันชอบเพลงพื้นเมืองของประเทศคุณค่ะ ”
“ โครงการเพลงพื้นเมืองฮาแถ่ง-๓๖ สาย ”ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากประชาชน
|
“ โครงการเพลงพื้นเมืองฮาแถ่ง-๓๖ สาย ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๐๐๕ โดยแสดงในทุกคืนวันเสาร์เท่านั้น ต่อมาได้เพิ่มการแสดงเป็น ๓ รอบในสามวันสุดสัปดาห์ ณ สี่แยกเลืองหงอกเกวี้ยน-หมาเมย และศาลเจ้าแบกหมาที่ถนนห่างบ่วม ภายในเวลา ๒ ชั่วโมง บรรดาศิลปินได้แสดงเพลงพื้นเมืองต่างๆของเวียดนามสู่ผู้ชม อันเป็นการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เพลงพื้นเมืองที่กำลังถูกหลงลืม นักดนตรีทาวยาง-ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศิลปะดนตรีพื้นเมืองเวียดนามเปิดเผยว่า “ พวกเราเผยแพร่เพลงพื้นเมืองเวียดนามเช่น เพลงทำนองฮาตวัน กาจู่ เพลงเสิ่มหรือขอทาน เพลงทำนองโจ๊งกวน เพลงทำนองกวานเหาะบั๊กนินห์และเพลงพื้นเมืองสามภาค นอกจากนี้ยังเผยแพร่พิธีเข้าทรงซึ่งเป็นประเพณีความเลื่อมใสศรัทธาพิเศษของชาติและการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเขตที่ราบภาคเหนือ วงดนตรีบ๊าตเอิมหรือ ๘ เครื่องดนตรีและการแสดงเดี่ยวของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ”
ที่ท่านกำลังรับฟังอยู่นี้คือเพลง
สุขหรือทุกข์เพราะสามี ซึ่งเป็นเพลงเสิ่มหรือขอทาน เพลงกล่าวถึงชะตาชีวิตของสตรีในสมัยศักดินาที่หากโชคดีจะได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี ส่วนในทางกลับกันถ้าได้แต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ดีก็จะถือว่าเป็นโชคร้ายและชีวิตเหมือนตกอยู่ในนรก คำร้องที่เรียบง่ายแต่กินใจ
ในหนึ่งคืนจะแสดงเป็นเวลา ๒ ชั่วโมงรวม ๑๐ รายการ ส่วนรายการแสดงในคืนนี้ผู้ชมรู้สึกชื่นชอบมาก นายหว่างเซิน นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะฮานอยเปิดเผยว่า “
ผมไม่ค่อยได้ฟังเพลงพื้นเมือง แต่วันนี้ผมได้มาแถวถนนคนเดินและได้ชมการแสดง เพลงพื้นเมืองโดยเฉพาะคำร้องสะท้อนชีวิตประจำวันและกินใจ คราวหน้าผมจะชวนเพื่อนๆมาชมการแสดง”
./.