เผ่าลาหูในงานเทศกาลพื้นเมือง(dantocviet.vn) |
ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ชุมชนเผ่าลาหูมักจะสร้างบ้านแบบชั่วคราวที่ตั้งกระจัดกระจายในป่า ใกล้ไร่นาหรือในเขตเขาสูง หลังคามุงด้วยใบไม้สดสีเขียว เมื่อใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลือก็จะสร้างบ้านใหม่จึงมีชื่อที่เรียกกันจนติดปากว่า "ซ้าล้าหว่าง" หมายถึงต้องเป็นบ้านใหม่ตลอดเวลา ถึงปัจจุบันเนื่องจากได้รับความสนใจและการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดของพรรค รัฐและทางการท้องถิ่น ชาวบ้านในชุมชนเผ่าลาหูได้ปรับเปลี่ยนความเคยชินเพื่อมาอยู่อาศัยในบ้านถาวรที่ทำจากไม้และรวมกลุ่มกันเป็นหมู่บ้านที่มีหลายสิบหลังคาเรือน นาย ฝานฟูโล ผู้อาวุโสของหมู่บ้านเตินเบียน ตำบลปาอู๋ อ.เหมื่องแต่ จังหวัดลายโจว์เผยว่า เผ่าลาหูมีวิธีการนับปฏิทินเฉพาะ โดยมี๑๓นักษัตร การจัดตรุษเต๊ตประเพณีจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน๑๒ แต่สำหรับการจัดงานฉลองปีใหม่ก็จะแล้วแต่การเลือกวันที่มีฤกษ์งามยามดีและเข้ากับอายุของเจ้าของครอบครัว โดยจะงดจัดงานปีใหม่ในวันที่เป็นวันเสียชีวิตของพ่อแม่หรือวันแห่งนักษัตรที่เป็นลิง เสือ งูและสุนัข"ตามตำนานที่เล่าขานกันมา การจัดงานฉลองปีใหม่ประเพณีจะมีขึ้นเป็นเดือน โดยจะผลัดกันจัดตามแต่ละชุมชนเพื่อสร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้ไปมาเยี่ยมเยือนอวยพรและมอบของขวัญแก่กัน อันเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้แน่นแฟ้นและร่วมกันต้อนรับตรุษเต๊ตที่อบอุ่น"
เมื่อดอกไม้ป่าบานสะพรั่งทั่วไหล่เขา ชาวลาหูก็เริ่มเตรียมงานฉลองปีใหม่ประเพณี โดยสตรีจะไปเก็บฟืนในป่าเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงตรุษเต๊ต ส่วนผู้ชายในบ้านจะทำความสะอาดบ้านช่องและบริเวณโดยรอบ เสื้อผ้าชุดแต่งกายพื้นเมืองที่สีสันสดสวยก็ถูกนำมาซักและตากแห้ง ช่วยเติมแต่งสีสันให้แก่เขตป่าเขาในช่วงวสันต์ฤดูเวียนมา นาย ถ่างทูโล ชาวบ้านทัมปา ต.ปาอู๋ เผยว่า"ตรุษเต๊ตเวียนมาทุกคนก็มีความสุขไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต่างร่วมกันเตรียมรับปีใหม่ด้วยความชื่นมื่น โดยจะเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อให้ฝุ่นของปีเก่าออกไปให้หมด เสื้อผ้า มุ้งหมอนก็ถูกซักให้สะอาดก่อนเต๊ต๑สัปดาห์ ต่อจากนั้นก็จะฆ่าหมู ห่อขนมเพื่อเชิญญาติพี่น้องมาร่วมงานปีใหม่"
เตรียมทำขนมในเทศกาลปีใหม่ |
ในช่วงตรุษเต๊ต ครอบครัวเผ่าลาหูก็มีประเพณีห่อขนมข้าวต้มมัดแต่มีรูปทรงกระบอกไม่เหมือนข้าวต้มมัดใหญ่ของชนเผ่ากิงที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ซึ่งเมื่อต้มสุกแล้ว เจ้าของครอบครัวจะแจกให้เด็กๆถือไปเที่ยวเล่นในวันปีใหม่เพื่อสื่อความหมายว่าปีนี้ชีวิตจะมีความอิ่มหนำผาสุก ส่วนสำหรับประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษได้มีความแตกต่างกับชนชาติกิงห์โดยจะมีการตั้งแท่นบูชาอยู่ตรงหัวเตียงของเจ้าของบ้าน ส่วนเครื่องเซ่นไหว้ก็มีแค่ข้าวสวยหนึ่งถ้วยเท่านั้น ซึ่งเป็นข้าวสวยถ้วยแรกในหม้อข้าวใหม่และมีการขอพรจากบรรพบุรุษให้ปกป้องคุ้มครองให้ทุกคนในครอบครัวคลาดแคล้วจากภัยร้ายทั้งปวง มีสุขภาพแข็งแรงและปีใหม่อิ่มหนำผาสุก นายถ่าทูซา ชาวบ้านทัมปา ต.ปาอู๋ เผยว่า" วันตรุษเต๊ต ลูกหลานได้ใส่ชุดสวยงาม มีอาหารอิ่มท้องและได้เที่ยวเล่นกันอย่างสนุกสนาน เราต้องรำลึกถึงบรรพชนและจัดพิธีเซ่นไหว้ขอพรปีใหม่ "
ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมเซ่นไหว้ ในวันปีใหม่ชาวบ้านมักจะใส่ชุดที่สวยงามเพื่อไปเยี่ยมเยือนและพบปะสังสรรค์กัน โดยชุดแต่งกายของผู้ชายมีความเรียบง่ายมากเป็นชุดผ้าครามหรือดำที่ไม่มีลวดลาย แต่สำหรับผู้หญิงชุดเสื้อยาวที่มีส่วนแขนที่ประกอบจากผ้าหลายส่วนที่มีสีเขียว ขาว ดำ แดง
สำหรับกิจกรรมรื่นเริงต่างๆก็เป็นเรื่องที่ขาดมิได้เพราะเผ่าลาหูชอบดนตรีโดยถือเป็นอาหารทางใจที่ขาดมิได้ในชีวิตสังคม ดังนั้นชาวลาหูจึงสามารถคิดออกแบบเครื่องดนตรีหลายประเภทที่เป็นเอกลักษณ์เช่น ขลุ่ย พิณไม้ไผ่ เป็นต้น
ปัจจุบันชาวลาหูได้ปรับตัวเข้ากับชุมชนชนเผ่าอื่นๆของประเทศอย่างดี โดยชาวบ้านยังรู้จักใช้เทคโนโลยี๔.๐ในการผลิต พัฒนาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความยากจน ด้วยเกียรติประวัติเฉพาะของหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์พิเศษที่มีประชากรเพียงประมาณหมื่นคน ชาวลาหูยังคงร่วมกันอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมพื้นเมืองของชนเผ่าตนเอาไว้ให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป./.