เทศกาล Thanh minh วันงานแห่งความกตัญญูรู้คุณของชนเผ่าเย้า

Chẻo Thu - Vĩnh Phong
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในเดือนสามจันทรคติทุกปีเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนเผ่าเย้าในหลายท้องถิ่นได้จัดงานเทศกาลแทงมิงห์ (Tết thanh minh) ซึ่งมีลักษณะเหมือนงาน เช็งเม้ง และเป็นหนึ่งในวันตรุษเต๊ตที่สำคัญของผู้คนพร้อมกับวันขึ้นปีใหม่และวันเพ็ญเดือนเจ็ดทางจันทรคติ แม้ว่าเทศกาล แทงมิงห์ ของชุมชนเผ่าเย้าแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง แต่ล้วนถือเป็นโอกาสให้ลูกหลานแสดงความขอบคุณและความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษและพ่อแม่ที่ล่วงลับผ่านการซ่อมแซมทำความสะอาดหลุมฝังศพและเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อขอให้ปกป้องประทานพรให้ลูกหลานมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขและการผลิตได้ผลอุดมสมบูรณ์
เทศกาล Thanh minh วันงานแห่งความกตัญญูรู้คุณของชนเผ่าเย้า - ảnh 1ถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชนกลุ่มน้อยเผ่าเย้าในเทศกาลแทงมิงห์
 
 

สำหรับชุมชนเย้าก่วนเจ็ด(Dao Quần Chẹt )ที่อาศัยในจังหวัดเตวียนกวาง หว่าบิ่งห์ หวิงฟุก เพื่อเตรียมให้แก่การจัดงาน แทงมิงห์ ลูกหลานจะมาชุมนุมที่บ้านกลางของต้นตระกูลโดยหัวหน้าวงศ์ตระกูลจะเป็นคนเลือกวันที่เป็นฤกษ์ดีสำหรับจัดงานและต้องเชิญหมอผีสองคนจากตระกูลอื่นมาดำเนินพิธีเซ่นไหว้ ส่วนแต่ละครอบครัวในตระกูลจะต้องเตรียมสิ่งของเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่มีเหล้า ไก่ ขนมแบ๊งใหญ่ เป็นต้น โดยเฉพาะที่ขาดมิได้คือกระดาษเงินกระดาษทอง นอกจากนั้น จะต้องเตรียมกระดาษพิเศษที่เรียกว่า “mầu tải tzấy” ขนาด 3 นิ้วมือยาว50-60ซม.ที่มีรูปของม้าตามจำนวนหลุมฝังศพของตระกูล แต่จะใช้ในพิธีเซ่นไหว้ที่จัดในบ้านกลางของตระกูล นาย Trịnh Tiến Xuân ชาวบ้าน เซินงา อำเภอเอียนเหลิบ จังหวัดฟู้เถาะเผยว่า ตามประเพณีของเผ่าเย้าก่วนเจ็ด เทศกาลแทงมิงห์คืองานเซ่นไหว้สำหรับผู้ล่วงลับ ดังนั้น การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ที่เป็นกุ้งและปลายิ่งมากยิ่งดี       

"การเซ่นไหว้ในเทศกาลแทงมิงห์เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหลานในวงศ์ตระกูลได้แสดงความกตัญญูต่อผู้เสียชีวิต ดังนั้น จะต้องมีกุ้งและปลาจำนวนมากในการเซ่นไหว้เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของชีวิตจริงที่ถวายแก่ผู้ล่วงลับ โดยจะใช้กุ้งและปลาในแม่น้ำลำธารที่สะอาด นำไปปรุงแบบง่ายๆ เช่น ทอด ต้ม ย่าง แล้วจัดอย่างสวยงาม หลังพิธีเซ่นไหว้บูชาแล้วจะนำมาเป็นกับข้าวให้ลูกหลานๆได้รับประทานร่วมกัน"

สำหรับชุมชนเย้าเคา (Dao Khâu) ที่อำเภอสิ่นโห่ จังหวัดลายโจว์ ครอบครัวต่างๆ ก็ได้เตรียมงาน แทงมิงห์ตั้งแต่ต้นเดือนสามจันทรคติ  โดยจะซ่อมแซมปัดกวาดทำความสะอาดหลุมฝังศพของผู้ที่เสียชีวิต ผู้ชายรับหน้าที่เตรียมกระดาษ 5 สีเพื่อเซ่นไหว้โดยตัดและทำเป็นธงเพื่อนำไปปักที่หลุมฝังศพ ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เตรียมเหล้า นึ่งข้าวเหนียวตำขนมแบ๊งใหญ่   

เมื่อมีกำหนดการวันไปทำความสะอาดและเซ่นไหว้ที่หลุมฝังศพ ซึ่งปกติจะจัดในตั้งแต่ต้นเดือนสามจนถึงวันที่ 22 เดือนสามจันทรคติ ทุกคนจะนำจอบ พลั่ว และเคียวมาตัดหญ้าและทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ จากนั้นจะนำเครื่องเซ่นไหว้วางถวายบนหลุมฝังศพ ตามประเพณีของเผ่าเย้าเคา ลูกสาวก็สามารถบูชาพ่อแม่ของตัวเองได้ แต่บูชาแค่รุ่นเดียวเท่านั้น ในขณะที่ลูกชายจะบูชาบรรพบุรุษทุกรุ่น ดังนั้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม แต่ถึงเดือน 3 จันทรคติของทุกปี ทุกคนก็จะพยายามกลับบ้านเกิดเพื่อร่วมงานแทงมิงห์ด้วยกัน นาย Chẻo Liều Pao ตำบล Pang Xo Lin อำเภอสิ่นโห่ จังหวัด ลายโจว์ กล่าวว่า 

"เมื่อถึงเดือนสามจันทรคติ ชุมชนเย้าเคามีความคึกคักมากเพราะคนที่ทำงานไกลบ้านก็กลับมาร่วมงานและสังสรรค์กันอย่างสนุกอบอุ่น แต่ละครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าและรำลึกถึงบรรพบุรุษด้วยความเคารพรัก ซึ่งงานแทงมิงห์ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามที่ชุมชนเผ่าเย้าได้รักษาและสืบสานให้แก่ชนรุ่นหลัง "

เทศกาล Thanh minh วันงานแห่งความกตัญญูรู้คุณของชนเผ่าเย้า - ảnh 2ชนกลุ่มน้อยเผ่าเย้าใช้กระดาษ "ย้อ" เป็นกระดาษเงินกระดาษทอง 

ในขณะเดียวกันตามเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนเผ่าเย้าเตี่ยนผ้าขาว เนื่องจากเป็นชุมชนที่อพยพไปตั้งหลักแหล่งอาศัยในท้องถิ่นอื่นๆที่ห่างไกลที่สุด ดังนั้น เมื่อบิดาเสียชีวิตพวกเขาไม่สามารถกลับบ้านร่วมงานศพทันกำหนดการจึงต้องมีแถบผ้าขาวผูกบนศีรษะเพื่อสื่อความหมายเป็นการไว้ทุกข์ให้บิดาและจะไม่มีการไปเยี่ยมสุสานในวันแทงมิงห์เหมือนชุมชนเผ่าเย้าอื่นๆ ดร.Bàn Tuấn Năng เจ้าหน้าที่สถาบันรัฐศาสตร์แห่งชาติโฮจิมินห์ เผยว่า 

"เนื่องจากเรื่องราวการไว้ทุกข์ให้บิดาของพวกเขาจนชั่วชีวิต และเรื่องที่ไม่สามารถกลับมาร่วมงานศพตามกำหนดการได้ ชาวเย้าเตี่ยนผ้าขาวจึงไม่ไปเยี่ยมและทำความสะอาดหลุมฝังศพ แต่จะจัดพิธีแทงมิงห์ที่บ้าน ในงานก็มีข้าวเหนียวสีแดงและสีดำ มีแบ๊งใหญ่ที่เป็นสิ่งของฝากความเชื่อของผู้คนในโลกให้ไปสู่โลกแห่งดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับปฏิทินการผลิต เพราะเป็นช่วงที่ท้องฟ้าแจ่มใส ฝนฟ้าเอื้ออำนวยสำหรับการเพาะปลูกฤดูใหม่"
ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่างานแทงมิงห์เป็นวันงานมีความหมายสำคัญในชีวิตของชุมชนเผ่าเย้า ดังนั้นไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ใด แต่ต่างได้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้เพื่อสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการเตือนใจลูกหลานให้ระลึกถึงรากเหง้าและสร้างความผูกพันแน่นแฟ้นให้แก่คนในครอบครัว ในตระกูลและคนทั้งหมู่บ้าน./.

คำติชม