ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่า กาวลาน ในจังหวัดบั๊กยาง

Viet Phu/Thu Hang-VOV
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในช่วงชีวิตของมนุษย์นั้น การแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นนิมิตหมายครั้งใหญ่สำหรับชีวิต สำหรับชนเผ่ากาวลานในจังหวัดบั๊กยาง งานแต่งงานถือเป็นผลแห่งความรักระหว่างหนุ่มสาวที่ต้องผ่านการทดสอบต่างๆ แม้การจัดงานจะมีความเรียบง่ายแต่ขั้นตอนต่างๆได้สะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ
ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่า กาวลาน ในจังหวัดบั๊กยาง - ảnh 1ฝ่ายชายเตรียมสิ่งของเพื่อไปรับเจ้าสาว(vnexpress) 

สำหรับขั้นตอนต่างๆในการจัดงานแต่งงานของชนเผ่ากาวลานที่อ.เมืองเอียนเท้จังหวัดบั๊กยางนั้นสิ่งแรกที่ชาวบ้านคิดถึงคือหาผู้ที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อ ซึ่งเป็นผู้ดูแลขั้นตอนทุกอย่างในการจัดงานแต่งงานและถือเป็นบุคคลสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่คู่บ่าวสาวต้องให้ความเคารพนับถือตลอดชีวิต ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกมาเป็นพ่อสื่อต้องเป็นคนที่มีครอบครัวที่สมบูรณ์ นาย เจิ่นวันเงาะ ชาวบ้านเถืองด่ง ต.ซวนเลือง อ.เมืองเอียนเท้เผยว่า“ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายเลือกพ่อสื่อ ซึ่งปกติมักจะเลือกคู่สามีภรรยาที่มีครอบครัวผาสุกและมีอายุตั้งแต่30-40ปี มีลูกหลายคนครบทั้งหญิงและชาย มีความรู้ทางวัฒนธรรมและมีความสามารถในการสื่อสาร

เมื่อเลือกพ่อสื่อได้แล้วก็ต้องเลือกผู้นำทางซึ่งทำหน้าที่ร่วมกับพ่อสื่อไปรับเจ้าสาวและอาจจะรับหน้าที่เป็นสื่อกลางตามความต้องการของฝ่ายหญิง

ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่า กาวลาน ในจังหวัดบั๊กยาง - ảnh 2ขบวนรับเจ้าสาว(vnexpress) 

จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในงานแต่งงานของชาวกาวลานคือพิธี ขวางทาง โดยฝ่ายหญิงจะใช้ต้นไผ่หรือผ้ากั้นไว้กลางทางช่วงก่อนที่จะถึงบ้านเจ้าสาวเพื่อขวางขบวนรับเจ้าสาวของฝ่ายชาย ซึ่ง ณ จุดนี้จะมีการจัดกิจกรรมที่สนุกสนานต่างๆโดยเฉพาะการร้องเพลงโต้ตอบระหว่างฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ถ้าหากตอบถูกแล้วชนะก็จะสามารถเข้าบ้านรับเจ้าสาวได้ ในประเพณีการขวางทางนั้น ผู้ที่เป็นคนนำทางร่วมกับพ่อสื่อนั้นจะมีบทบาทสำคัญที่สุด ซึ่งมักจะเป็นญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวฝ่ายชาย มีความรู้ที่กว้างขวางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นที่ปรึกษาตอบคำถาม ถ้าฝ่ายชายตอบผิดต้องดื่มเหล้าเพื่อรอให้ถึงฤกษ์ นายนิงห์กวางเหงวียบ ชาวกาวลานเผยว่า“ฝ่ายหญิงจะตั้งขบวนขวางกลางทาง เราต้องทำตามเงื่อนไงต่างๆให้ได้ ซึ่งในอดีตรุ่นปู่ย่าตายายของเรามักจะเล่นเกมส์แบบถามตอบเพื่อดูว่าฝ่ายชายมีความรู้มากน้อยแค่ไหนและถือเป็นการรักษาประเพณีวัฒนธรรม แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องรอให้ถึงเวลาที่กำหนดฝ่ายหญิงก็จะเปิดทางให้เข้าบ้าน”

ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่า กาวลาน ในจังหวัดบั๊กยาง - ảnh 3พิธี ขวางทาง(vnexpress) 

หลังจากเลือกผู้นำทางและพ่อสื่อแล้ว ก่อนแต่งงานฝ่ายชายก็ต้องปฏิบัติขั้นตอนต่างๆเช่นงานสู่ขอและงานหมั้น โดยพ่อสื่อจะเป็นตัวแทนของฝ่ายชายในการหารือและกำหนดวันจัดงาน นายนิงห์กวางเหงวียบ ชาวกาวลานเผยต่อไปว่า พิธีแรกที่ต้องทำคือพิธี “ดัดเจิ่ว” “พิธีดัดเจิ่วก็คืองานสู่ขอ ซึ่งสิ่งของที่ต้องเตรียมจะมีไก่ตอน2ตัว ข้าวสาร2ถุง เหล้า2ขวดและหมากพลูจำนวนหนึ่ง ถ้าฝ่ายหญิงต้องการเชิญญาติทั้งสองฝ่ายมาร่วมปรึกษาหารือก็ต้องเตรียมเลี้ยงอาหารด้วย ส่วนพ่อสื่อคือตัวแทนแจ้งข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับวันเวลาที่จะจัดงานแต่งงานและการเรียกสินสอดทองหมั้นของฝ่ายหญิง”

สำหรับการเตรียมงานเลี้ยงแต่งงานของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะเป็นผู้รับผิดชอบเตรียมหมู ไก่และเหล้า  เมื่อถึงวันรับเจ้าสาวฝ่ายชายจะส่งขบวนมารับแล้วพักค้างคืนที่บ้านฝ่ายหญิงเพื่อสังสรรค์กัน โดยจะมีการร้องเพลงและอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาว  ในวันต่อมาเมื่อขบวนรับเจ้าสาวได้กลับถึงบ้านเจ้าบ่าว หมอผีจะทำพิธีไล่สิ่งชั่วร้ายที่ตามมาไม่ให้เข้าบ้านแล้วทำพิธีเชื่อมสายสัมพันธ์ให้แก่สามีภรรยาคู่ใหม่เพื่อขอพรให้ทั้งสองมีชีวิตที่ผาสุกตลอดไป เมื่อเสร็จงาน เจ้าสาวจะอยู่ที่บ้านเจ้าบ่าวสองสามวันแล้วทั้งสองคนจะกลับมาอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิงจนกว่าจะมีลูกถึงจะกลับไปบ้านฝ่ายชาย

ปัจจุบันนี้ แม้จะมีการลดขั้นตอนต่างๆที่ล้าสมัยแต่ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆก็ยังคงได้รับการรักษาและปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เพื่อสานต่อให้คนรุ่นหลัง.

คำติชม