นักรบตาลิบัน ณ ทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม (AP/Zabi Karimi) |
ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นาย โมฮัมหมัด นาอีม โฆษกการเมืองของกลุ่มตาลิบันได้ให้คำมั่นว่า จะกำหนดรูปแบบการปกครองและระบอบการเมืองในอัฟกานิสถานโดยเร็ว ซึ่งคำประกาศนี้ เป็นการยืนยันของกลุ่มตาลิบันในการขึ้นมาปกครองประเทศอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ
กลุ่มตาลิบันกลับคืนสู่อำนาจ
แถลงการณ์ของโฆษกการเมืองของกลุ่มตาลิบันมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่กลุ่มนี้เข้าสู่กรุงคาบูลและเข้าควบคุมสำนักงานของรัฐบาลทั้งหมดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดี ก่อนยึดกรุงคาบูล กลุ่มตาลิบันได้เข้าควบคุม 33 จังหวัดจาก 34 จังหวัดของอัฟกานิสถาน โดยแทบไม่เผชิญการต่อต้านใดๆจากกองทัพอัฟกานิสถาน
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน อัชราฟ กานี ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการถึงการล่มสลายของรัฐบาล โดยยืนยันว่า ได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด อีกทั้งกล่าวหาว่า กลุ่มตาลิบันได้ใช้กำลังเพื่อต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศ ตามแหล่งข่าวต่างๆ นาย กานี ได้ขึ้นเครื่องบินออกจากอัฟกานิสถานก่อนที่กลุ่มตาลิบันบุกเข้าสู่กรุงคาบูล แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่าปลายทางคือที่ไหน
สหรัฐและประเทศตะวันตกหลายประเทศต่างยืนยันว่า กลุ่มตาลิบันได้เข้าควบคุมกรุงคาบูลและอัฟกานิสถานอย่างสมบูรณ์ และยืนยันว่า จะไม่ส่งกองกำลังกลับไปยังอัฟกานิสถาน
ทั้งนี้ ภายหลัง 3 เดือนหลังจากที่สหรัฐและพันธมิตรเริ่มถอนกำลังรบส่วนใหญ่ออกจากอัฟกานิสถานตามคำมั่นที่ให้ไว้ กลุ่มตาลิบันก็ได้เริ่มทำการชิงคืนพื้นที่ควบคุม โดยที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดว่าทางการอัฟกานิสถานจะล่มสลายรวดเร็วขนาดนี้ พร้อมคำถามต่าง ๆ ที่กำลังรอคำตอบอีกมากมาย
กลุ่มตาลิบันโบกธง ณ ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม (Reuters) |
สถานการณ์ใหม่ที่ยากจะคาดเดา
ในแถลงการณ์หลังจากกลุ่มตาลิบันเข้ายึดกรุงคาบูล นาย โมฮัมหมัด นาอีม โฆษกการเมืองของกลุ่มตาลิบันได้ย้ำว่า กลุ่มตาลิบันได้บรรลุเป้าหมายที่ยึดมั่นในตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมาคือ "เสรีภาพให้แก่ประเทศและเอกราชให้แก่ประชาชน" อีกทั้งให้คำมั่นว่า จะค้ำประกันความปลอดภัยให้แก่คณะทูตนุทูตทุกคณะและเรียกร้องให้ผู้นำของอัฟกานิสถานและประเทศที่เกี่ยวข้องทำการเจรจาเพื่อแก้ไขความสัมพันธ์ทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะ กลุ่มตาลิบันให้คำมั่นว่า โครงสร้างรัฐบาลชุดใหม่จะมีบุคคลนอกกลุ่มนี้เข้าร่วมด้วย ให้ความเคารพสิทธิของสตรีและชนกลุ่มน้อย ตลอดจนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในกรอบของกฎหมายอิสลาม Sharia
ตามคำประกาศนี้ ทำให้ดูเหมือนว่า กลุ่มตาลิบันในปัจจุบันมีความแตกต่างกับกลุ่มตาลีบันสมัยที่ปกครองประเทศอัฟกานิสถานเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ตามการประเมินของหน่วยข่าวกรองและบรรดานักวิเคราะห์สหรัฐและยุโรป ยังไม่มีอะไรที่ค้ำประกันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศและประชาชนอัฟกานิสถานภายใต้การนำของกลุ่มตาลิบัน ความวิตกกังวลนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัย โดยก่อนอื่น กลุ่มตาลิบันคือกลุ่มติดอาวุธ ไม่ใช่องค์กรการเมืองพลเรือนที่จะมาบริหารประเทศ นอกจากนั้น อัฟกานิสถานกำลังอยู่ในภาวะถังแตก และสภาพสังคม การเมือง ความมั่นคงไร้เสถียรภาพเนื่องจากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อมาเป็นหลายปี
นอกจากนั้น ถึงกลุ่มตาลิบันได้กล่าวว่าจะให้ความเคารพสิทธิของสตรีและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ก็ทิ้งท้ายไว้ว่า เรื่องเหล่านี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย Sharia ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายที่เข้มงวดที่กลุ่มตาลิบันเคยใช้เพื่อปราบปรามประชาชนในช่วงที่ปกครองอัฟกานิสถานในอดีต ความกังวลอีกประการหนึ่งคือกลุ่มตาลิบันมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับองค์กรก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มไอเอส และการที่กลุ่มตาลิบันสามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างเข้มแข็งถึงปัจจุบัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนที่เข้มแข็งขององค์กรก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาค รวมถึงกองกำลังอื่นๆ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มตาลิบันจะยังคงธำรงความสัมพันธ์นี้ต่อไป
ถึงกระนั้น ก็มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าภายใต้แรงกดดันของประชาคมระหว่างประเทศและสถานการณ์ที่เป็นจริง กลุ่มตาลิบันอาจจะทำการปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศในเชิงบวกในระยะต่อไป แต่ประชาชนอัฟกานิสถานจะใช้ชีวิตและสร้างประเทศอย่างไรภายใต้การนำของตาลิบัน คำตอบกำลังรออยู่ในอนาคตอันใกล้นี้.