ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง-การรวมพลังกลุ่มมหาสามัคคีชนในชาติ

Nguyên Phương
Chia sẻ
(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมปี 2012 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกได้ประกาศรับรองความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งที่จังหวัดฟู้เถาะ ประเทศเวียดนามให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ โดยการสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งเป็นพิธีที่แสดงออกถึงความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม
ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง-การรวมพลังกลุ่มมหาสามัคคีชนในชาติ - ảnh 1สถานที่จัดเทศกาลวิหารหุ่ง

ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งได้รับการรับรองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติจากยูเนสโก โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกได้เผยว่า นี่เป็นมรดกที่โดดเด่นระดับโลก ซึ่งการรับรองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์และความโดดเด่นของความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง

ศูนย์รวมด้านวัฒนธรรม รากเหง้าและพลังแห่งความสามัคคีชนในชาติที่เข้มแข็ง

ตามเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา หลังจากกษัตริย์หุ่งลำดับที่ 18 ทรงสละพระราชบัลลังก์ให้แก่ถูกฟ้าน กษัตริย์ถูกฟ้านได้มีพระราชโองการให้ตั้งเสาหินบนภูเขาเหงียะหลิงและทรงสาบานพระองค์ที่จะปกป้องประเทศที่บรรพกษัตริย์หุ่งได้สร้างขึ้นและจะสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งตลอดไป ต่อมาในช่วงเริ่มต้นคริสต์ศักราช สองวีรกษัตรีตระกูลตรึงได้นำไพร่พลต่อต้านกองทัพของราชวงศ์ฮั่น และทรงสาบานที่จะขับไล่ศัตรูผู้รุกรานเพื่อสานต่อเกียรติประวัติที่รุ่งโรจน์ของบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งตั้งแต่สมัยศักดินา ได้มีการสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง โดยเอกสารทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ “Đại Việt sử lược” และ “Đại Việt sử ký toàn thư” ได้ระบุถึงเรื่องราวความเป็นมาและรากเหง้าของประชาชาติเวียดนาม ส่วนในยุคหลังสมัยราชวงศ์เล  ราชวงศ์ Tây Sơn และราชวงศ์ Nguyễn ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ยกย่องวิหารกษัตริย์หุ่งที่จังหวัดฟู้เถาะ

หลังจากที่ประเทศได้รับเอกราชเมื่อปี 1945 พรรคฯและรัฐให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ปี 1946 ประธานโฮจิมินห์ได้ประกาศกฤษฎีกาเกี่ยวกับวันงานที่สำคัญของประเทศ รวมถึงงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือน 3 ตามจันทรคติโดยให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่งและเทศกาลวิหารหุ่งเมื่อปี 1946 ได้รับการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ นักประวัติศาสตร์ เยืองจุงก๊วก ได้เผยว่า

หลังจากประเทศได้รับเอกราช เมื่อปี 1946 ประธานโฮจิมินห์ได้เป็นประธานในงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่ง ส่วนท่าน หวิ่งทุกค้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในในสมัยนั้นได้เดินทางไปจุดธูปที่จังหวัดฟู้เถาะ โดยได้ถวายแผนที่ประเทศเวียดนามที่รวมกันเป็นเอกภาพและดาบ 1 เล่มเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพิทักษ์รักษาปิตุภูมิ

ปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และปฏิบัติมาหลายพันปี โดยแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในสายเลือดของลูกหลานมังกรกับนางฟ้าและเป็นเกียรติประวัติที่ดีงามของประชาชาติเวียดนาม ซึ่งการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ช่วยอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเพื่อเป็นศูนย์รวมด้านวัฒนธรรม รากเหง้าและพลังมหาสามัคคีชนในชาติที่เข้มแข็ง ศ.ดร.เหงวียนชี้เบ่น อดีตหัวหน้าสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติเวียดนาม ได้ให้ข้อสังเกตว่า

ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งสามารถตอบสนองเงื่อนไขของยูเนสโกเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ โดยได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าร่วมที่เข้มแข็งของชุมชนและกิจกรรมนี้สะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม

การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมแห่งรากเหง้า

หลังการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายศตวรรษ ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งได้รับการประชาสัมพันธ์ในหลายประเทศ ซึ่งเป็นการแนะนำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เกียรติประวัติที่ดีงามและโดดเด่นของประชาชาติเวียดนาม การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าของความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งไม่เพียงแต่เป็นการสานต่อเกียรติประวัติ “ดื่มน้ำต้องคิดถึงแหล่งที่มาของน้ำ” เท่านั้น หากยังเป็นการยืนยันถึงเอกราชและการพึ่งตนเองของประชาชาติเวียดนามและเป็นการรวมพลังที่เข้มแข็งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดภารกิจการสร้างสรรค์ประเทศเวียดนามให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกด้วย นาย โห่ด่ายหยุง รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดฟู้เถาะได้ย้ำว่า

ทางจังหวัดฯได้ร่วมกับนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์เวียดนามทำการวิจัยและเห็นพ้องเกี่ยวกับการสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งอย่างสมเกียรติ อีกทั้งประสานงานกับท้องถิ่นที่มีวิหารกษัตริย์หุ่งในการจัดงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่งอย่างพร้อมเพรียง

ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง-การรวมพลังกลุ่มมหาสามัคคีชนในชาติ - ảnh 2นักประวัติศาสตร์ เยืองจุงก๊วก

ทั้งนี้ งานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่งและเทศกาลวิหารหุ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง โดยในเดือน 3 ตามจันทรคติทุกปี ประชาชนจากทุกสารทิศจะไปรวมตัวกันไปที่ผืนดินแห่งรากเหง้าและมุ่งใจสู่ยอดเขาเหงียะหลิงที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจในสายเลือดของลูกหลานมังกรกับนางฟ้า นาย ดั่งวันนิง จากจังหวัดแทงฮว้า คุณ จิ่งหงอกมิงเฮี้ยว นักศึกษาเวียดนามในประเทศฮังการีและคุณเจิ่นทูเฮือง ซึ่งกำลังอาศัยในประเทศสาธารณรัฐเช็ก ได้เผยว่า

ผมรู้สึกซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณของบรรพกษัตริย์หุ่งในการสร้างชาติเพื่อให้พวกเราได้มีชีวิตที่อิ่มหนำผาสุกในปัจจุบัน”

“แม้จะอยู่ห่างไกลปิตุภูมิ แต่ดิฉันก็รำลึกถึงบรรพบุรุษเสมอ แม้จะอยู่ที่ไหนหรือเป็นชาติพันธุ์ใด แต่ประชาชนเวียดนามทุกคนต่างก็สามัคคีและช่วยเหลือจุนเจือกันเพื่อสร้างสรรค์ประเทศและสานต่อเกียรติประวัติที่ดีงามที่บรรพกษัตริย์หุ่งได้สร้างไว้”

“ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งและรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มาจุดธูปถวายบรรพกษัตริย์หุ่งที่นี่ ซึ่งดิฉันจะพยายามประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติที่ดีงามนี้ให้แก่ประชาชนเวียดนามและเพื่อนมิตรชาวต่างชาติมากขึ้น

ความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งเป็นการรวมพลังของกลุ่มมหาสามัคคีชนในชาติ จุดประกายความรักและส่งเสริมพลังภายในของประชาชนเวียดนาม ซึ่งการอนุรักษ์และส่งเสริมศักยภาพของวัฒนธรรมแห่งรากเหง้าเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความรักชาติ การพึ่งตนเองของประชาชาติและความคาดหวังเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง มีความสุขและสมกับเกียรติประวัติที่รุ่งโรจน์และวัฒนธรรมนับพันปีของประชาชาติเวียดนาม.

คำติชม